นาค และ ลาว ในภูริทัตชาดก…วัดหน่อพุทธางกูร

          ภูริทัตชาดก เป็นหนึ่ง ๑๐ ชาติสุดท้ายของพระโพธิสัตว์ก่อนที่จะตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า ภูริทัตชาดก เป็นชาติที่ ๖ เป็นเรื่องของพระโพธิสัตว์เมื่อครั้งเป็นพระยานาค ขึ้นมาบำเพ็ญศีลริมฝั่งแม่น้ำยมุนา แล้วถูกหมองูที่ละโมบคิดจับตัว ซึ่งภูริทัตก็ยอมไม่ต่อสู้ขัดขืนหรือทำร้ายเนื่องจากต้องการบำเพ็ญศีลบารมี
        ตามวัดต่างๆ เมื่อวาดทศชาติเรื่องภูริทัต จึงมักวาดเป็นภาพพญานาคบำเพ็ญศีลบนจอมปลวก แล้วมีหมองูท่องมนต์อาลัมพายน์เข้ามาจับตัว จับใส่กระโปรงนำตัวภูริทัตไปเร่แสดงตามที่ต่างๆ นับว่าเป็นฉากที่ได้รับความนิยม พบได้ในเกือบทุกวัดที่มีการเขียนภาพตอนนี้
เช่นเดียวกับที่วัดหน่อพุทธางกูร อ.เมือง จ.สุพรรณบุรี (ชื่อเดิมวัดมะขามหน่อ) เป็นวัดเก่าตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา แต่ภาพเขียนในอุโบสถหลังเก่าเขียนขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3 โดย นายคำ ช่างแต้มชาวลาวเวียงจันทน์ที่ถูกกวาดต้อนมาในสมัยสงครามเจ้าอนุวงศ์
          ภาพ ภูริทัตชาดก ของวัดหน่อพุทธางกูร ช่างก็ได้วาดฉากที่ได้รับความนิยมเช่นกัน แต่ที่น่าสนใจคือ นายคำ ช่างผู้วาดได้เติมรายละเอียดของภาพที่สะท้อนถึงสภาพสังคมในยุคนั้นไว้อย่างน่าสนใจ โดยเฉพาะวัฒนธรรมลาวที่ปรากฏในแถบเมืองสุพรรณบุรี
จากภาพ ด้านซ้ายเป็นเหล่านางนาคที่พากันขึ้นมาจากน้ำ มาเล่นดนตรีขับกล่อมร่ายรำถวายพระภูริทัต เมื่อเห็นหมองู เหล่านางนาคก็ตกใจวิ่งหนีกันไป


          ความน่าสนใจคือ เครื่องดนตรีที่นำมาเล่น ในนั้นมีแคนรวมอยู่ด้วย (ถึงแม้ท่าทางการถือแคนจะคล้ายถือปืนไปหน่อย แต่ดูแล้วก็คือแคนอยู่ดี) แคนเป็นตัวแทนที่ชัดเจนของความเป็นลาว นอกเหนือจากที่วัดนี้แล้ว ก็ยังมีอีกหลายวัดใน จ.สุพรรณ ที่เวลาช่างวาดฉากงานรื่นเริงก็มักวาดแคนเติมลงไปด้วย ทำให้จินตนาการไปได้ว่า ในอดีตเสียงแคนคงจะดังอยู่ทั่วไปในเมืองสุพรรณ
        เมื่อพิจารณาในส่วนเครื่องแต่งกายของเหล่านางนาคแล้ว จะเห็นว่า ช่างได้วาดให้มีความต่างกันอย่างเห็นได้ชัด กล่าวคือ ช่างวาดการแต่งกายของนางนาคที่ถือแคนให้เป็นแบบลาวเวียงอย่างชัดเจน เริ่มจากทรงผม ถ้าเทียบกับนาคอีกสามตนที่ถือซอด้วง ขลุ่ย และกระจับปี่ จะเห็นนาคที่ถือแคนเกล้าผมมวยไว้กลางศรีษะแบบชาวลาว ส่วนคนอื่นๆ จะเป็นแบบผมปีก คือด้านบนไว้สั้น หรือยาวนิดหน่อยพอแสกได้ กันไรจุกให้ขาว รอบโกนหัว (ในภาพก็จะเห็นเส้นขาวๆเป็นวงเกิดจากการกัน ผมปีกแบบนี้ไว้นิยมไว้กันตั้งแต่สมัยอยุธยามาถึงรัตนโกสินทร์) โดยนางนาคทั้งสี่ จะใช้เครื่องประดับศรีษะเป็นรูปนาค เพื่อให้คนดูรู้ว่านี่คือนาค มิใช่มนุษย์
        หรือแม้แต่รายละเอียดของผ้านุ่ง ก็ยังเห็นถึงการสอดแทรกวัฒนธรรมลาวอย่างเด่นชัด ช่างได้วาดผ้านุ่งของนางนาคถือแคนเป็นซิ่นแบบลาว คือเป็นลายทางตรงมีหัวซิ่นและตีนซิ่น ซึ่งต่างจากนางนาคคนอื่นๆที่เป็นเหมือนผ้าลาย ดูเหมือนว่า นายคำซึ่งเป็นชาวเวียงจันทน์ จะให้ความสำคัญกับรายละเอียดต่างๆของเหล่านางนาคไม่น้อย เพราะนาคถือได้ว่า เป็นสิ่งสำคัญในวัฒนธรรมลาวควบคู่กับการสร้างบ้านแปงเมืองลาวเลยทีเดียว

       ส่วนทางขวามือของภาพใหญ่ แสดงถึงตอนที่ภูริทัตถูกจับ ถูกร่ายมนต์ใส่ ถูกจับกรอกยาจนสิ้นฤทธิ์ ช่างได้วาดสีหน้าของภูริทัตได้อย่างเข้าถึงความเจ็บปวดตรงข้ามกับหมองูที่แลดูเป็นผู้ร้ายอย่างสมบูรณ์แบบ นับว่าเป็นงานที่ละเอียดบรรจง และมีความน่าสนใจอยู่ในทุกฝีแปรงเลยทีเดียว   

      ที่นำมาเล่าสู่กันฟังนี้เป็นเพียงแค่ฉากเดียว จิตรกรรมฝาผนังที่วัดหน่อยพุทธางกูรนี้ยังมีความน่าสนใจอีกหลายประการ เพราะภาพที่วาดไว้นั้น เป็นหลักฐานอย่างดีที่แสดงถึงวิถีชีวิตของผู้คนในละแวกนั้นเมื่อเกือบสองร้อยปีที่ผ่านมา เป็นชุมชนที่ผสมผสานกันไป ระหว่าง คนไทย คนจีน และ คนลาว
หมายเหตุ : ข้อมูลของวัดและจิตรกรรมฝาผนัง ติดตามอ่านเพิ่มเติมได้ที่ http://www.suphan.biz/wadhnobudtang…