วิถีไทย: เอกภาพที่หลากหลาย

สวรรค์ ตั้งตรงสิทธิกุล

บรรยากาศใต้สะพานพระปกเกล้าฯ (ข้างสะพานพุทธ) จะเห็นวิถีความงามที่หลากหลายของชุมชนผ่านทางงานสถาปัตยกรรม ตั้งแต่ (จากซ้าย) ศาลเจ้าพ่อกวนอู มัสยิด และศาลเจ้าแม่ทับทิมตามลำดับ ปัจจุบันเกิดอาคารพาณิชย์ (ซึ่งมีขนาดใหญ่พอควร) ขึ้นด้านข้างมัสยิดและด้านหลังศาลเจ้าแม่ทับทิมที่ติดกัน ทำให้เหล่าศูนย์รวมจิตใจชุมชนบริเวณนี้ด้อยคุณค่าทางด้านทัศนียภาพลงไปอย่างน่าเสียดายยิ่ง

มนุษย์ที่สามารถดำรงอยู่ในโลกใบนี้ทุกเชื้อชาติ  ทุกภาษาล้วนมีที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ เพื่อให้สามารถฟันฝ่า และสร้างสรรค์สิ่งต่างๆให้กับตนเองและสังคม จึงทำให้เกิดความหลากหลายทางวัฒนธรรม  สะท้อนให้เห็นได้จากสภาพแวดล้อม ของท้องถิ่นออกมาทางการแต่งกาย  พิธีกรรม  ศิลปกรรมต่างๆ  ฯลฯ  รวมถึงรูปแบบสถาปัตยกรรม ความหลากหลายดังกล่าวนี้ บางครั้งได้ก่อให้เกิดความไม่เข้าใจกันของสังคม แต่ละเชื้อชาติ และวัฒนธรรม  ทำให้มีความรุนแรงตามมามากมาย  ดังจะเห็นได้จากความรุนแรงของมนุษย์ที่มีเชื้อชาติและสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจ ทางศาสนา หรือความเชื่อต่างกัน ก็กลับคิดไปว่าเป็นศัตรูกันโดยมิได้ดูถึงคุณธรรมของปัจเจกชนเป็นหลัก  โดยสามารถพบได้จากข่าวคราวที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับความรุนแรงทางเชื้อชาติ ศาสนา ในประเทศเพื่อนบ้านใกล้เคียงของเราเป็นระยะ ๆ ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว คำสั่งสอนของทุกศาสนาล้วนมุ่งสอนให้บุคคล  เป็นคนดี มีศิลธรรมในการอยู่ร่วมในสังคม

จากเหตุการณ์ดังกล่าวทำให้ผู้เขียนได้กลับมานึกถึงความแปลก(ในทางบวก) ดูเป็นสิ่งปกติในสังคมไทยที่สามารถดำรงอยู่ถึงความหลากหลายทาง วัฒนธรรมได้  ไม่ว่าจะเป็นเรื่องภาษา การแต่งกาย  พิธีกรรม  ความเชื่อ ตลอดจนวิจิตรศิลป์ด้านต่างๆ  ซึ่งอยู่ร่วมกันได้อย่างเป็นหนึ่งเดียว  โดยมีศูนย์รวมทาง จิตใจหลักคือ ในหลวงของเรา(สถาบันพระมหากษัตริย์)  ที่โยงใยความสัมพันธ์ ต่างๆ หลากหลายให้เป็นหนึ่งเดียว  ในที่นี้ผู้เขียนจะขอยกตัวอย่างถึงชุมชนหนึ่ง (ซึ่งยังพบเห็นได้อีกมากมาย)  บริเวณใจกลางพระนครด้านริมฝั่งตะวันตก และ ตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา ยังสามารถพบเห็นเอกภาพบนความหลากหลาย ต่างๆที่ได้กล่าวไว้แล้วข้างต้น อาทิ ทางด้านเชื้อชาติ ได้แก่ไทย จีน แขก ฝรั่ง  ฯลฯ ซึ่งก็ทำให้เกิดความต่าง ทางความเชื่อและพิธีกรรม โดยเฉพาะสถานที่ตั้ง อันเป็นสิ่งที่พึ่งทางใจสำคัญ (แสดงออกทางรูปแบบสถาปัตยกรรม) ที่อยู่ชิดติดกัน อาทิมัสยิด และศาลเจ้าแม่ทับทิม บนริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา (ฝั่งธนบุรี)  ด้านตรงข้ามวัดราชบูรณะ(วัดเลียบ)  หรือศาลสมเด็จพระพุทธยอดฟ้า ในบริเวณปากคลองตลาด (เชิงสะพานพุทธฯ)  ที่มีรูปแบบทางสถาปัตยกรรมแบบไทย ประเพณีหากแต่องค์ประกอบการตกแต่ง (Elements of Decoration) เป็นแบบจีน

บรรยากาศภายในศาลสมเด็จพระพุทธยอดฟ้า ที่เป็นภาพลักษณ์ (Image) แบบศาลจีน แต่องค์ประธานคือพระบรมรูปรัชกาลที่ ๑ แห่งกรุงรัตน-โกสินทร์ ซึ่งมีศูนย์กลางอยู่ ณ ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา ดังสถานที่ของตลาดปากคลองแห่งนี้ องค์ประกอบการตกแต่งโดยเฉพาะงานจิตรกรรมฝาผนัง ชี้ให้เห็นถึงความผูกพันของชุมชนที่มีต่อพระพุทธศาสนากับพระมหากษัตริย์ จิตรกรรมที่อยู่ด้านหลังพระบรมรูปรัชกาลที่ ๑ คือรูปมังกร (สัญลักษณ์พระมหากษัตริย์ในคติจีน) โดยมีแจกันดอกไม้เป็นเครื่องสักการะจากชุมชน


ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงสายใยของชุมชนที่เกาะเกี่ยวกัน  ทำให้ผู้เขียนภูมิใจในองค์ประกอบกายภาพของเมืองที่สะท้อนออกมาทางภาษาทางสถาปัตยกรรมอย่างมี ชีวิตชีวาในขณะเดียวกันก็มิได้ไปทำลายหรือข่มสภาพแวดล้อมใกล้เคียง  บริเวณพื้นที่ดังกล่าว ถ้าหากจะมองให้กว้างจนถึงระดับองค์ประกอบผังเมือง และมิติทางประวัติศาสตร์ จะพบว่าบริเวณริมฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยานี้ มีความหลากหลายต่างๆดังที่ได้กล่าวไว้ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น สมเด็จพระมหา จักรพรรดิ์  ให้สถาปนาบริเวณนี้ว่า เมืองธนบุรีศรีมหาสมุทร โดยมีศูนย์กลางอยู่ทาง ปากคลองบางกอกใหญ่ ในปัจจุบัน  มีเรือสินค้าต่างชาติ อาทิ ฝรั่ง แขก จีน ฯลฯ ผ่าน  ด่านนี้ทำหน้าที่เพื่อสกัดและตรวจสอบโดยทางการ(กรุงศรีอยุธยา) ทั้งในด้านเศรษฐกิจ (ด่านภาษี)  และความมั่นคงในอันที่จะยับยั้งมิให้เรือต่างๆ โดยเฉพาะของต่างชาติที่มีแสนยานุภาพกว่าขึ้นไปยังพระนครศรีอยุธยา ก่อนได้รับอนุญาต

บริเวณดังกล่าวยังสามารถพบเห็นผลึกทางวัฒนธรรมมากมายถึงปัจจุบัน อาทิ บริเวณที่เรียกว่า กุฏีจีน (บริเวณตรงข้ามตลาดปากคลองปัจจุบัน)  ที่มีศูนย์รวมทางจิตใจของแต่ละเชื้อชาติในชุมชนละแวกเดียวกัน อาทิ โบสถ์ซางตาครูซ (ชุมชนโปรตุเกสในสมัยกรุงศรีอยุธยา) มัสยิดต้นสนในสมัปลายกรุงศรีอยุธยาและวัดประยูรวงศาวาสในสมัยต้นรัตนโกสินทร์  ผ่านมาทางสะพานพุทธฯที่ตัดถนนในสมัย รัชกาลที่ ๗  เรื่อยไปทางชุมชนวัดอนงคาราม และวัดพิชัยญาติฯ โดยมีศาลเจ้าริมน้ำอาทิศาลเจ้าพ่อกวนอู  มิสยิดและศาลเจ้าแม่ทับทิม เรียงรายอยู่ดังได้กล่าวมาแล้วโดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริเวณชุมชนดังกล่าวได้มีศูนย์รวมทางจิตใจที่เปรียบเหมือน กับส่วนกลางของชุมชนทุกๆเชื้อชาติ ศาสนา  คือการมีสวนสมเด็จย่าบริเวณนี้ด้วยเปรียบได้กับเป็นศูนย์รวมทั้งทางด้านจิตใจและความรักที่มีต่อสมเด็จย่าแล้วยังสามารถเข้ามาใช้พื้นที่เพื่อการพักผ่อนพูดคุยแลกเปลี่ยนความเห็น เป็นการสร้างความผูกพัน ของแต่ละชุมชนให้มีสัมพันธภาพที่ดีต่อกันและกัน

จากความหลากหลายทางเชื้อชาติ ศาสนา ฯลฯ และอื่นๆ ดังได้กล่าวแล้ว มาสู่ความเป็นเอกภาพเดียวกันทางด้านจิตใจและวัฒนธรรมของทุกชุมชนทำให้เกิดความงามทางวัฒนธรรม ที่ควรศึกษาและอนุรักษ์ให้เห็นสิ่งดีงามของชุมชนในอดีตเพื่อไปเชื่อมสิ่งที่มีความขาดๆเกินๆในปัจจุบัน  ให้เกิดความสมดุลย์ขึ้นมาอีกครั้ง  และสิ่งนี้จะเป็นสิ่งที่ดีงามให้ชาวต่างชาติได้เห็นและเข้าใจ  วิถีไทยอันมีเอกภาพที่หลากหลายได้ชื่นชม สำหรับการท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมตั้งแต่ระดับชุมชนต่อไปอย่างยั่งยืนในอนาคต
 

บริเวณศาลสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าในปากคลองตลาด จะเห็นรูปแบบสถาปัตยกรรมแบบไทยประเพณี ผสมองค์ประกอบการตกแต่งที่แฝงคติความเชื่อแบบจีน อาทิ กรอบหน้าต่างแบบแปดเหลี่ยม ฯลฯ สะท้อนสายใยคามสัมพันธ์ของกลุ่มชนในบริเวณดังกล่าว