บันทึกกรุงเก่า ๒๕๖๖: ว่าด้วยรถไฟ “ลอยฟ้า” กับลมหายใจ “อโยธยา” (ทางแยก-ร่วมต้องช่วยกันคิด)

………

ฅน บางกอก

9/6/2566

………..“อโยธยา” กับประเด็นรถไฟความเร็วสูง (ลอยฟ้า) ยังเป็น “หนังยาว” ที่ผู้คนในสังคมควรและพึงเข้ามามีส่วนรับรู้ที่มา-ที่ไป รวมถึงแผนของการรถไฟฯที่ให้รถไฟความเร็วสูง “ลอยฟ้า” ผ่านเข้ามาในพื้นที่ศูนย์กลางเมืองเก่าที่เป็นเส้นทางแนวเดียวกับทางรถไฟในปัจจุบัน

……….ข้อถกเถียงในประชาพิจารณ์รถไฟฟ้าความเร็วสูงในส่วนที่จะผ่านมาที่สถานีรถไฟพระนครศรีอยุธยาจึงมีผลกระทบทั้ง “ข้อดี-ข้อเสีย” ต่อพื้นที่เมืองเก่าของ อโยธยา  แล้วข้อไหนจะมากกว่ากัน?  หรือจะผสมผสานรวมข้อดีให้เยอะๆ และให้มีข้อเสียเหลือน้อยๆได้หรือไม่?

……….หลังจากที่ได้ไปฟังประชาพิจารณ์  ต่อด้วยการฟังเสวนาที่เกี่ยวกับเรื่องนี้  และกลับมาศึกษาข้อมูลต่างๆทั้งหลักฐานโบราณคดี  คุณค่าประวัติศาสตร์ และศิลปะ-สถาปัตยกรรม ฯลฯ ควบคู่กับเงื่อนไขความเป็นไปได้ทาง วิศวกรรมศาสตร์ สถาปัตยกรรมศาสตร์ และภูมิทัศน์วัฒนธรรม ฯลฯ ไปสู่การพัฒนาเมืองเก่าให้มีความร่วมสมัยและคงความเป็นเมืองมรดกโลกทางวัฒนธรรมของ “พระนครศรีอยุธยา” เพื่อให้สอดคล้องกับแนวคิด “อนุรักษ์ควบคู่การพัฒนา” ในโลกปัจจุบันได้แบบสมดุล (ง่ายๆคือให้บริบททั้งในอดีตกับปัจจุบันมีความเคารพซึ่งกันและกัน)

……….ข้อเสนอแนะที่จะเล่านี้ เปนเพียงหลักการและแนวคิด โดยศึกษาตามเอกสารที่มีการถกเถียงกันทั้งทางด้านกลุ่มอนุรักษ์ และกลุ่มพัฒนา ด้วย “เชื่อว่า” ทุกฝ่ายล้วนปรารถนาดีกับ พระนครศรีอยุธยา ในฐานะราชธานีเดิมที่เป็นรากแก้ว (สายตรง) ของ กรุงธนบุรี และ กรุงรัตนโกสินทร์  จากแนวคิดนี้ เราน่าจะสามารถใช้กรุงรัตนโกสินทร์เป็นกรณีศึกษาว่ามีการอนุรักษ์และพัฒนาเมืองที่มีประวัติศาสตร์ควบคู่กับความทันสมัยด้วยวิธีใดได้บ้าง !?

……….เริ่มแรก ลองนำเอกสารที่มีการเผยแพร่จากโครงการรถไฟความเร็วสูง รวมถึงแนวคิดภูมิทัศน์วัฒนธรรม,  การอนุรักษ์และพัฒนากายภาพเมือง  การเป็นแหล่งเรียนรู้ตามอัธยาศัยเพื่อการท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม ฯลฯ เพื่อนำมาประมวลและวิเคราะห์ร่วมกับข้อมูลทางประวัติศาสตร์ของพื้นที่เมืองในบริเวณที่เป็นประเด็น คือเส้นทางรถไฟความเร็วสูงที่ลอยฟ้าเข้ามาในพื้นที่เมืองเก่า เช่น เอกสารบันทึก หลักฐานใต้ดิน (งานทางโบราณคดี) รวมถึงหลักฐานบนดิน (ศิลปะ-สถาปัตยกรรม) ฯลฯ  เพื่อมาสู่การสร้างมุมมองว่า หากจะพัฒนาเมืองเก่าในโลกปัจจุบันเพื่อให้อยุธยาในวันนี้สามารถเชื่อมโยงกับลมหายใจในอดีตที่เคยมีมาครั้งรุ่งเรืองด้วยวิธีใด !!

……….เริ่มจากการระดมความคิดจากกัลยาณมิตร ทั้งเพื่อนๆ รุ่นพี่ และรุ่นน้องสายวิชาการและวิชาชีพในกลุ่มเดียวกัน ทั้งนักประวัติศาสตร์ ศิลปะ สถาปัตยกรรม และวิศวกรรม  ผลของการหารือและถกเถียงร่วมกันอย่างสร้างสรรค์ ทำให้พอเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ผ่านการวิเคราะห์ร่วมกับแนวคิดทางวิศวกรรมโยธาที่สามารถสานฝันและสร้างได้จริงในปัจจุบัน  และน่าจะมีความคุ้มค่าทั้งงบประมาณและเวลาเมื่อเทียบกับการหาทางออกด้วยวิธีต่างๆ โดยมีผลกระทบทางด้าน EIA  และ HIA น้อย  แถมยังช่วยเสริมแนวคิดในการเป็นเมืองมรดกโลกอย่างสร้างสรรค์มากที่สุด คือมี Impact น้อย  มาดูรายละเอียดกัน  ….

……….ลำดับบแรก พยายามใช้ฐานคิดรถไฟความเร็วสูงลอยฟ้ามาจากกรุงเทพฯ  เมื่อมาถึงช่วงระยะทางก่อนเข้าสู่พื้นที่ “เมืองอโยธยา” คือ ก่อนถึงบริเวณวัดพนัญเชิงให้ปรับระดับเพื่อลงสู่ระบบรถไฟใต้ดิน เพื่อไปหยุดที่สถานีพระนครศรีอยุธยา (ที่อยู่ใต้ดิน)  มีทางขึ้นลงในลักษณะเดียวกับสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินในเขตเกาะรัตนโกสินทร์  ฉากทัศน์ที่ใกล้เคียงสุดน่าจะเปนสถานีรถไฟฟ้า สนามไชย

……….ง่ายสุด ฉากทัศน์ตามแนวคิดสถานีใต้ดินของสนามไชย  สามารถกำหนดใช้พื้นที่บนดินของบริเวณสถานีรถไฟพระนครศรีอยุธยาราว “๔๐ ตรม.”  ใช้เป็นทางขึ้น-ลงสู่สถานีใต้ดิน จำนวน ๒ จุด ขนาบอาคารสถานีรถไฟปัจจุบันที่มีคุณค่าทาง ศิลปะ-สถาปัตยกรรม  เพื่อเสริมให้สถานีปัจจุบันเป็นจุดเด่น (พระเอก) สมกับคุณค่าของอาคารที่มีทั้ง “ความงามและความเก๋า”

……….ก่อนการเปิดพื้นที่ทำทางขึ้นลงสถานีจากใต้ดินทั้งสองจุด ให้มีการขุดค้นทางโบราณคดีอย่างละเอียด โดยมีภาคประชาสังคมมีส่วนเข้ามารับรู้และช่วยเหลือหน่วยงานตรงที่รับผิดชอบ  อาจตั้งเป็นคณะกรรมการร่วมจากหน่วยงานและองค์กรต่างๆทั้งภาครัฐและเอกชน เช่น นักวิชาการ นักวิชาชีพทั้งทางด้านโบราณคดี ประวัติศาสตร์ ศิลปะ สถาปัตยกรรมและวิศวกรรม ฯลฯ เพื่อร่วมกันระดมความคิด และมีการเผยแพร่ข้อมูล รายงานความคืบหน้าต่อสาธารณชนอย่างโปร่งใสทุกระยะ ทุกขั้นตอน

……….ความห่วงใยเรื่องน้ำท่วม!  ระบบของรถไฟใต้ดิน เปรียบง่ายๆเหมือนท่อส่งน้ำใต้ดิน (หลักการเดียวกัน) หากจะมีน้ำท่วมบนดินก็ไม่มีผลกระทบต่อเส้นทางรถไฟใต้ดิน  พื้นที่เชื่อมต่อกับพื้นดินรวมถึงตัวสถานี (ที่อยู่บริเวณเดียวกับสถานีรถไฟปัจจุบัน)  สามารถใช้สถิติน้ำท่วมสูงสุดในรอบ ๑๐๐ ปีเป็นเกณฑ์ในการออกแบบเพื่อหาระดับพื้นของทางขึ้น-ลงสถานีได้ (ประเมิณ “โดยเคร่า” ราว ๒ เมตรจากระดับดินในปัจจุบัน)

……….ความห่วงใยเรื่องหลักฐานใต้ดิน!  จากตัวอย่างข้อมูลที่เคยมีการขุดสำรวจทางโบราณคดี  ระดับชั้นดินธรรมชาติอยู่ลึกลงไปไม่เกิน ๓ เมตร  ทางเลือกในการสร้างรถไฟใต้ดินเฉพาะช่วงที่ผ่านเข้ามาเมืองเก่าซึ่งมีความลึกประมาณ ๒๕ เมตร จึงแทบไม่มีผลกระทบต่อหลักฐานทางโบราณคดี ยกเว้นพื้นที่เชื่อมต่อกับพื้นดิน ๒ จุดรวม ๘๐ ตรม.

……….“พี่บวรเวท” เล่าในงานเสวนาฯที่ มธ.ท่าพระจันทร์ (๗. มิย.๖๖) ว่า “หากเปลี่ยนจากลอยฟ้ามาลงใต้ดินจ่ายเพิ่มอีก ๘๐๐ ล้าน  หรือหากเบี่ยงเส้นทางอ้อมไปสายเอเชีย (ลอยฟ้าเหมือนเดิม) เพิ่มอีก ๑๐๐๐ ล้าน”  ผนวกกับมุมมองของ อ.ประมวล (พูดในงานเดียวกัน) บอกว่าการเดินทาง (ระบบขนส่ง) ที่มีประสิทธิภาพ (พูดง่ายๆลงทุนแล้วคุ้มค่า ไม่เสียของในภายหลัง) ผู้ที่มาใช้บริการต้องได้รับความ “สะดวก,  ปลอดภัย,  ประหยัดงบการเดินทาง และจัดการเวลาได้”  เมื่อมาดูว่าถ้าต้องเสียเพิ่ม อันไหนคุ้มกว่าแบบยาวๆ  ก็จะเห็นว่าการเพิ่มงบแบบลงใต้ดินราคาถูกกว่าการวิ่งอ้อม แถมยังมีความสะดวก ประหยัดเวลา ฯลฯ มีความสอดคล้องกับแนวทางการปรับแผนให้รถไฟลอยฟ้าลงสู่ใต้ดินเฉพาะในเขตเมืองเก่า

……….แนวคิด “รถไฟลงใต้ดิน” ยังช่วยให้อยุธยาเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรม ที่แสดงถึงการเคารพและให้เกียรติสิ่งที่เคยรุ่งเรืองมาแต่อดีตได้ดีอีกด้วย  ซึ่งต่างจากความรู้สึก (Feeling) และมุมมอง (Visibility) ที่ต้องเห็นตอม่อและรางรถไฟลอยฟ้าซึ่งควรไปอยู่ในพื้นที่มีความเจริญในสมัยปัจจุบันมากกว่า  สอดคล้องกับแนวทางของการรถไฟที่ต้องการสร้างโครงการเพื่อ “ขนคน” ไปเชื่อมต่อกับผู้คนในประเทศต่างๆทั้งทางเหนือ อีสาน ใต้ ฯลฯ  เหล่านี้ยิ่งทำให้เห็นภาพความสำคัญของนครประวัติศาสตร์อยุธยาในอนาคตมากขึ้น และคุ้มค่าต่อการลงทุนหากเปลี่ยนเป็นมุดลงใต้ดินในเขตเมืองเก่าอโยธยา  เมื่อคนต่างบ้าน-ต่างเมืองเดินทางจากสถานีใต้ดินขึ้นมาคง “ว้าวๆ” ส่งเสริมบรรยากาศ กลิ่นอายทางวัฒนธรรมได้ดีเลยทีเดียว 😆😍

……….นอกจากนี้ การรถไฟยังสามารถไปปรับปรุง-ขยาย “สถานีบ้านม้า” ที่ใกล้กับถนนสายเอเชียให้รองรับระบบ “โลจิสติกส์” ที่เน้นเรื่องการกระจายสินค้า ฯลฯ รวมถึงการกระจายผู้คนที่ไม่ได้ต้องการเข้ามาในเมืองเก่า เพื่อสะดวกต่อการเดินทางไปจุดต่างๆของเมืองต่อไป  โดยมีระบบขนส่งทางถนน (สถานีย่อย ที่จอดรถ ฯลฯ) เพื่อรองรับการให้บริการ ซึ่งกลุ่มผู้ใช้บริการระบบรางจะเป็นคนละกลุ่มกัน

……….ตอนหน้าจะมาขยายความเพิ่มขึ้น 😎🤘

 

ภาพ ๑  แสดงฉากทัศน์มุมทางอากาศ รถไฟความเร็วสูงลอยฟ้าเข้ามาพร้อมที่ตั้งสถานีในเขตเมืองเก่า อโยธยา  ภาพจาก HIA

 

ภาพ ๒ แสดงบริเวณพื้นที่ปรับระดับจากรถไฟลอยฟ้าลงสู่ใต้ดิน (แถบสีเทาทางทิศเหนือและทิศใต้นอกเขตเมืองเก่า)  ปรับปรุงภาพจาก  บทบรรณาธิการวารสารเมืองโบราณ ปีที่ ๒๖ ฉบับที่ ๑, มกราคม-มีนาคม ๒๕๔๓

 

ภาพ ๓ แสดงตัวอย่างของพื้นที่ทางขึ้น-ลงของสถานีใต้ดิน สถานีสนามไชย

 

ภาพ ๔ แสดงชั้นดินที่มีการขุดค้นทางโบราณคดีบริเวณวัดพนัญเชิง  ภาพจาก เพจ โบราณคดีเชิงวิพากษ์