ฅน บางกอก
๒๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๕
มีโอกาสไปชมนิทรรศการถาวรที่มีการปรับปรุงใหม่ จัดแสดงในพิพิธภัณฑสถานแห่ชาติพระนคร(พ.ช.พระนคร) ในนี้มีศิลปวัตถุที่ชอบหลายชิ้นเลยวาดเก็บไว้ก่อน รวมถึงห้องทวารวดีที่เป็นพื้นที่จัดแสดงศิลปกรรมประเภทต่างๆในสมัยทวารวดี ในนี้มีการเลือกวัตถุที่นำมาจัดแสดงพร้อมกับพยายามขมวดเรื่องราวต่างๆไปพร้อมกับออกแบบนิทรรศการให้เชื่อมโยงกันมากขึ้น ทำให้การเดินไป วาดไป ได้หลายเพลิน 😁😉 วาดเสร็จพอเอากลับมาดูอีกที อืม มีเรื่องราวในภาพน่าสนใจจริง แต่พอมาอ่านข้อมูล(caption) ระบุว่า
“ภาพศิลาจำหลักพระพุทธรูป พุทธศตวรรษที่ ๑๓-๑๕ พบที่วัดพระศรีสรรเพชญ์ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา”
ความสนใจของเรื่องราวในภาพเลยถูกแซงตัดหน้าไปเลย 😁😆😂 ดูจากทรงแล้ว งานประติมากรรมที่เป็นแผ่นหินชิ้นนี้ อาจจะเป็นส่วนหนึ่งที่น่าจะสร้างขึ้นมาเพื่อใช้เป็นองค์ประกอบของสถาปัตยกรรม ที่สำคัญคือเป็นงานศิลปะที่มีคุณค่าทั้ง “งานช่างและภาพเล่าเรื่องเพื่อสื่อความหมาย” โดยเน้นเรื่องราวให้เป็นฉากสำคัญจริง พอมาดูจาก “รูปแบบศิลปกรรม” และ “ลักษณะของเรื่องราวในภาพ” ก็ล้วนชี้ให้เห็นว่าอยู่ในสมัยทวารวดี ราวช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๓ ลงมาจริง ความน่าสนใจของแผ่นหินชิ้นนี้ จึงมีความน่าสนใจเบื้องต้น ๒ ข้อก่อนละกัน 😃😁 คือ
๑. งานศิลปกรรมชิ้นนี้น่าจะเคยถูกนำไปติดตั้งเพื่อบอกเล่าเรื่องราวในพุทธสถานที่มีความสำคัญต่างช่วงเวลากัน สถานที่แรกแน่นอนว่าต้องอยู่ที่เมืองเก่านครปฐม และอาจจะเป็นแหล่งเดียวกับที่พบพระพุทธรูปศิลาขาวขนาดใหญ่ทั้ง ๔ องค์ ซึ่งค่อนข้างชัวรแล้วว่าเคยประทับอยู่ที่ “จระนำซุ้ม” ซึ่งเป็นซุ้มประธานทั้ง ๔ ทิศของเจดีย์ในวัดพระเมรุ นครปฐม
หลักฐานที่มาสนับสนุนเพิ่มเติมต่อมาคือ “๓” ใน ๔ องค์ของชิ้นส่วนพระศิลาขาว(ก่อนที่จะมาถึงบางอ้อว่าทั้ง ๔ องค์มาจากวัดพระเมรุ นครปฐม) ก็ถูกเคลื่อนย้ายมาที่ “วัดพระยากง” ซึ่งเป็นวัดที่ตั้งอยู่ทางทิศใต้นอกเกาะเมืองของอยุธยา ความน่าสนใจก็ตรงที่ชิ้นส่วนศิลปวัตถุเหล่านี้รวมถึงพระพุทธรูปที่มีสภาพเป็นชิ้นส่วนเหล่านี้ มาจากความเสื่อมสลายจากการเป็นเมืองร้างของเมืองนครปฐมเพียงเหตุผลเดียว ? หรือเกิดจากการตัดแยกชิ้นเพื่อความสะดวกในการขนย้ายมารวมไว้บนพื้นที่แห่งใหม่ด้วย ?
เบื้องต้นมีการสันนิษฐานกันว่า น่าจะมีการขนย้ายชิ้นส่วนที่เป็นศิลปะทวารวดีมาจากเมืองนครปฐมโบราณมาที่กรุงศรีอยุธยาตั้งแต่ราวช่วงพุทธศตวรรษที่ ๒๐ เหตุผลนึงที่มีความเป็นไปได้เพราะมีการพบพระพุทธรูปศิลาเขียว ศิลปะทวารวดี ที่วัดมหาธาตุ อยุธยา (พระพุทธรูปองค์นี้ตอนนี้ประทับนั่งอยู่ในวิหารน้อย วัดหน้าพระเมรุ อยุธยาแล้ว) พระพุทธรูปศิลาเขียวองค์นี้จึงเป็นตัวอย่างของการนำพระพุทธรูปสำคัญจากเมืองนครปฐมโบราณที่ได้กลายสภาพเป็นเมืองร้าง ซึ่งเวลานั้นอยู่ในขัณฑสีมาของอยุธยาไปแล้ว
การย้ายศิลปวัตถุที่มีความสำคัญเหล่านี้ น่าจะมีเหตุผลสำคัญนึงคือ “เพื่อให้ศิลปกรรมเหล่านี้กลับมามีคุณค่า และมีความศักดิ์สิทธิ์อีกครั้ง” บนแผ่นดินใหม่ที่รุ่งเรื่องในเวลานั้นคือ กรุงศรีอยุธยา
๒. ภาพวาดที่เอามาเล่าชิ้นนี้ มีการระบุว่าพบที่วัดพระศรีสรรเพชญ์ ก็น่าจะทำให้เห็นภาพเชื่อมโยงกันของเวลาอีกราว ๑๐๐ ปีถัดมาคือเมื่อมีการสร้างวัดพระศรีสรรเพชญ์ ช่วงพุทธศตวรรษที่ ๒๑ ก็น่าจะมีการนำศิลปะวัตถุแบบทวารวดีที่คงมีเหลืออยู่จากการขนย้ายมาครั้งก่อนนี้เพื่อมาติดตั้ง จัดวางให้มีความศักดิ์สิทธิ์อีกครั้ง หรืออาจเคลื่อนย้ายออกมาจากวัดมหาธาตุ ? หรืออาจไปขนมาใหม่ที่นครปฐม ? 😂😆🤣
การนำแผ่นหินที่ผ่านกาลเวลา และมีภาพเล่าเรื่องเป็นฉากสำคัญเกี่ยวเนื่องในพุทธศาสนา เพื่อมาติดตั้งให้เป็นองค์ประกอบของสถาปัตยกรรม ทำให้มองเห็นถึง “ความเข้าใจคุณค่าความงามของงานช่างและเรื่องราวจากภาพที่ชนชั้นนำในสมัยต้นอยุธยาตระหนักถึงความสำคัญเหล่านี้” ส่วนที่ว่าน่าจะอยู่ตรงไหนของพื้นที่วัด จะอยู่ส่วนไหนของสถาปัตยกรรมคงยากมาก และหากมีการสันนิษฐานก็คงจะต้องเปิดช่องความเป็นไปได้ให้มากกว่าคำตอบเดียว ทัวรจะได้ไม่มาลง 😂😁
ส่วนเรื่องราว สาระในภาพ ก็มีความน่าสนใจไม่น้อยไปกว่า การเดินทางของแผ่นหินทวารวดีชิ้นนี้ที่ได้เกริ่นไปจนเห็นภาพแระ ซึ่งก็รวมถึงการเดินทางของศิลปะทวารวดี ณ กรุงศรีฯชิ้นอื่นๆที่มีความสำคัญเป็นภาพรวมแล้ว ไว้เดี๋ยวจะมาเล่าต่อ เพราะยังไม่จบ 😆😎😉
ภาพ:
กระดาษ A5
ปากกา Lamy Safari
ระยะเวลาวาด ๘ นาที