กว่าจะมาเป็นสนามกีฬาโตเกียวโอลิมปิค2020 (+1)

ฅน บางกอก

ช่วงของการแข่งขันกีฬาโอลิมปิค…..มีนักศึกษามาชวนคุยเรื่อง กว่าจะมาเป็นสนามกีฬาโตเกียวโอลิมปิค2020 (+1) ที่เห็นในปัจจุบัน ต้องผ่านอะไรมาบ้าง? มีผู้ออกแบบ(ทีมสถาปนิกต่างๆ) มาประกวดแข่งขันกันโดยเปิดกว้างให้ชาวต่างประเทศเข้าร่วมด้วยหรือไม่? ฯลฯ อาจเป็นเพราะแบบที่ใช้ในการก่อสร้างจริงมาจากสถาปนิกในประเทศ ฯลฯ เลยอาจเป็นข้อคำถามมากมายสำหรับนักศึกษาว่า….บลาๆๆ….. ใช้ของในประเทศ…..บลาๆๆ…… ฯลฯ สงสัย อนาคตคงตั้งใจที่จะไปวนเวียนกับงานประเภทประกวดแบบ 😄😍

ยอมรับว่า หลายคำถามเป็นอะไรที่ตอบไม่ได้จริงๆ เพราะ สั้นๆคือ ไม่ได้เป็นคณะกรรมการพิจารณาฯ 5555 แต่พอไปเชคเอกสารที่มีการเปิดเผยทางสาธารณะ (เพื่อแสดงความโปร่งใส ซึ่งเป็นข้อกำหนดตามกติกาสากล) ฯลฯ จึงทำให้พอเห็นภาพมากขึ้นว่า หากสนามกีฬาแห่งนี้ ได้สร้างตามแบบที่ชนะเลิศ โดยผ่านการตัดสินจากคณะกรรรมการผู้เชี่ยวชาญต่างๆที่มีทั้งฝ่ายการกีฬา ฝ่ายวัฒนธรรม ฯลฯ ซึ่งแน่นอนต้องมีฝ่ายสถาปัตยกรรมอันประกอบด้วยกรรมการที่เป็น“สถาปนิกระดับโลก” ซึ่งมีทั้งชาวต่างชาติ คือ Richard ROGERS, Norman FOSTER รวมถึงทีมสถาปนิกผู้ทรงคุณวุฒิชาวญี่ปุ่นซึ่งมี“เฮดใหญ่”คือ Tadao ANDO โดยแบบที่ชนะเลิศเป็นของ Zaha Hadid และทีมงาน

เชื่อได้ว่าสถาปนิกท่านต่างๆที่พูดมา นักศึกษาสถาปัตย์รู้จักกันดี โดยเฉพาะ Ando และ Zaha ซึ่งเคยเป็น Guest Speaker ในงานประชุมวิชาการที่กรุงเทพฯเกือบ ๓๐ ปีมาแล้ว และจากแบบสนามกีฬาโอลิมปิคฯ ที่ Zaha Hadid ออกแบบ สามารถสรุปประเด็นได้คือ

๑. เป็นแบบที่มีทั้งความ “ล้ำ”และ“ปัง” มาก ตามแบบฉบับของผู้ที่มี Passion พลังไม่ตกโดยครบถ้วน ฝันเล่นๆว่า หากสนามกีฬานี้ได้สร้างจริงคงจะเหมือนประติมากรรม(ขนาดใหญ่)ของเมืองที่มีทั้ง“สีสัน”และ“เสน่ห์” ที่มีความทันสมัยไปได้อีก ๕๐ – ๑๐๐ ปี ซึ่งเป็นหนึ่งความตั้งใจในแนวคิดการออกแบบด้วย

๒. แบบมีทั้งขนาดที่”ใหญ่”และ”อลังฯ” กว่าแบบของสนามที่สร้างจริง ซึ่งออกแบบโดย Kengo Kuma และทีมงาน (ส่วนแนวคิดการออกแบบของ Kengo Kuma ที่นำไปใช้สร้างจริง สามารถดูได้ที่บทความก่อนนี้เรื่อง “สนามกีฬาแห่งชาติ Tokyo Olympic 2020+1 : จาก“แนวคิด” สู่ “รูปแบบ”สนามกีฬาที่มีลมหายใจ”) ผลของขนาดและรูปแบบที่อลังฯทั้ง “ปัง” และ“ล้ำ” จึงมีผลต่อเนื่องในข้อต่อๆไป คือ

๓. งบค่าก่อสร้างค่อนข้างสูงมาก ซึ่งเป็นไปตามขนาด วัสดุ พื้นที่เชื่อมต่อต่างๆ อาทิ ลาน ทางเข้า-ออก ฯลฯ ที่คิดออกแบบได้อย่างครบถ้วน(นอกจากความงามของตัวอาคารแล้ว ยังออกแบบพื้นที่เชื่อมต่อพื้นที่ส่วนต่างๆโดยรอบได้อย่างเป็นรูปธรรม และครอบคลุมเป็นระบบมาก นับถือ นับถือ👏🤟) ประเด็นนี้ Prof. Ando ได้บอกว่า ตัวท่านเป็นหนึ่งในผู้ที่เลือกแบบของ Zaha Hadid แต่ติดใจเรื่องงบฯการก่อสร้างที่สูงมากๆ

๔. ระยะเวลาการก่อสร้างที่อาจมีผลต่อการสร้างไม่เสร็จทันกำหนดการแข่งขันในปี 2020 (ในช่วงเวลานั้นยังไม่มีใครรู้ว่าจะมีโควิดฯ ที่ทำให้ต้องเลื่อนการแข่งขันไปอีก ๑ ปี) ในประเด็นนี้แม้ Zaha จะสามารถหาผู้ร่วมงานออกแบบในญี่ปุ่นได้(ในส่วนการออกแบบรายละเอียดขั้นต่อไป) แต่ก็ไม่สามารถสรรหาทีมผู้รับเหมามาร่วมงาน

จากปัญหาในประเด็นต่างๆ ทำให้ต้องมีการจัดประกวดแบบอีกครั้ง โดยให้อยู่ในงบประมาณที่ทางรัฐบาลญี่ปุ่นกำหนดไว้ ผู้ที่ได้รับคัดเลือกคือ Kengo Kuma และทีมงาน ซึ่งถูกนำไปใช้สร้างจริงตามที่เราได้เห็นผ่านสายตาทางสื่อต่างๆทั้งพิธีเปิดและพิธีปิดกันมาเรียบร้อยแล้ว

การที่ได้พูดคุยและแลกเปลี่ยนมุมมองกับนักศึกษานอกรอบ มีประเด็น“คลาสสิค”ที่นักศึกษาพึงทำความเข้าใจคือ “ความฝัน” หรือ “ความคิดสร้างสรรค์มีความจำเป็นต้องจัดเต็มเสมอ” หากแต่ความฝันที่จะไปสู่ความจริงเพื่อการก่อสร้างได้นั้น ยังมีปัจจัยสำคัญต่างๆอีกมากมาย “การออกแบบที่ดีและเหมาะสม” จึงอาจไม่ใช่ความหมายเพียงเรื่องของคุณภาพด้านความคิดสร้างสรรค์เท่านั้น เพราะยังมีเงื่อนไขของ “เทคนิค”“งบประมาณ” “ระยะเวลาการสร้าง” ฯลฯ เป็นปัจจัยสำคัญคู่ขนานไปกับความคิดสร้างสรรค์ด้วยเช่นกัน

ท่านที่สนใจ หรือนักศึกษาที่ยังไม่จบ (เรื่องโอลิมปิค 😅🤣🤩) สามารถเข้าไปดูรายละเอียดต่างๆได้ตามข้อมูลที่อ้างอิงข้างล่างนี้นะครับ มีแบบสวยๆ พร้อมรายละเอียดให้ศึกษาเพิ่มเติมเยอะแยะเลย

รายการอ้างอิง

https://www.is-trip.com/knowledge/สนามกีฬาแห่งชาติ-tokyo-olympic-20201-จาก/

http://iwamura-atelier.com/…/2016.3-New-National…

https://www.archdaily.com/author/james-taylor-foster/page/11

https://www.arch2o.com/controversial-modifications-to…/

https://www.zaha-hadid.com/architec…/new-national-stadium/

ทัศนียภาพ รูปแบบสนามกีฬาที่สร้างจริง ออกแบบโดย Kengo Kuma
ภาพ: Google Earth Pro

ทัศนียภาพ(เปรียบเทียบมุมเดียวกัน) รูปแบบสนามกีฬาที่ชนะเลิศจากการประกวดแบบ ออกแบบโดย Zaha Hadid
ภาพ: www.archdaily.com

การใช้เส้นสายโค้งเว้า เพื่อสร้างรูปทรงมวลรวมในลักษณะเดียวกับประติมากรรมสมัยใหม่ เพื่อแสดงความล้ำสมัย แบบโดย Zaha Hadid

ภาพ: www.archdaily.com

การใช้เส้นสายทางสัญจรให้เป็นเนื้อเดียวกับรูปทรงอาคาร(เหมือนยานอวกาศ) เพื่อเชื่อมต่อไปพื้นที่ต่างๆโดยรอบสนามกีฬา แบบโดย Zaha Hadid
ภาพ: www.archdaily.com

เปรียบเทียบ”รูปตัด”(section) แบบสนามกีฬาของ Zaha กับ Kuma จะเห็นว่า มีความต่างกันทั้งขนาด ระยะนั่งชมของอัฒจรรย์ ฯลฯ ทำให้มีผลลัพธ์ต่างกันทั้ง จำนวนที่นั่ง ขนาดของสนาม ความซับซ้อนของรูปแบบและโครงสร้าง ซึ่งมีผลต่องบประมาณ และระยะเวลาการสร้าง ฯลฯ
ภาพ: iwamura-atelier.com

ทัศนียภาพแสดงแบบรูปตัดของ Zaha ที่แสดงถึงความอลังฯ ล้ำไปอีก ๕๐-๑๐๐ ปี ตามที่ผู้ออกแบบวาดฝันไว้
www.zaha-hadid.com

แสดงแบบทัศนียภาพภายในสนาม โครงสร้างหลังคาที่เชื่อมต่อเป็นรูปทรงเดียวกันจากระนาบพื้น โดยไร้รูปแบบเสา-คานที่คุ้นเคยตั้งแต่อดีตมาถึงปัจจุบัน แบบโดย Zaha Hadid
ภาพ: www.zaha-hadid.com