World Trade Center กับพัฒนาการแนวคิดและรูปแบบผ่านความหมายทางสถาปัตยกรรม

สวรรค์ ตั้งตรงสิทธิกุล

14 /08/2564

อาคาร World Trade Center (WTC) มีที่ตั้งอยู่ใจกลางมหานครนิวยอร์ก(New York City) อาคารกลุ่มนี้นอกจากจะแสดงถึงความก้าวหน้าทั้งทางด้านวิศวกรรมและสถาปัตยกรรมแล้ว ยังถูกสร้างขึ้นเพื่อให้มีนัยยะแสดงถึงความเป็นผู้นำทางด้านเศรษฐกิจทั้งทางด้านการเงินและการลงทุนของโลกที่ตั้งอยู่ในประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่สะท้อนถึงแนวคิดวัฒนธรรมแบบ “ทุนนิยม” ได้เป็นอย่างดี

กลุ่มอาคาร WTC มีการวางผังแต่ละอาคารในลักษณะเคียงกันเป็นพื้นที่รูปสี่เหลี่ยม(Complex) โดยเว้นพื้นที่ตรงกลางไว้ให้เป็นลานโล่งเพื่อให้เกิดประสิทธิผลในการใช้พื้นที่ส่วนกลางร่วมกัน จำนวน ๒ ใน ๗ ของกลุ่มอาคารเป็นอาคารสูงระฟ้า(Skyscraper) ที่มีรูปแบบเดียวกัน และตั้งเคียงกันเป็นอาคารแฝด(Twin Towers) คืออาคาร WTC1 และ WTC2 ทั้งสองอาคารนี้มีผังสี่เหลี่ยมจัตุรัส และมีระบบโครงสร้างหลักเป็นโลหะเหล็ก ซึ่งนอกจากจะช่วยให้ก่อสร้างได้ไวแล้ว ยังสามารถต้านทานแรงลม ฯลฯ ได้ดีกว่ากว่าวัสดุประเภทอื่นอีกด้วย

แม้ว่าโครงสร้างเหล็กจะมีคุณสมบัติที่โดดเด่นด้านความแข็งแรง ก่อสร้างได้ไว และยังให้ความรู้สึกถึงความโปร่งเบา เรียบสะอาดตา สะท้อนภาพลักษณ์ของความทันสมัย ฯลฯ ทว่า โลหะเหล็กก็ยังมีข้อด้อยประการหนึ่งคือ “หากเผชิญกับอุณหภูมิที่มีความร้อนสูงจะเกิดการเสื่อมสภาพไปอย่างรวดเร็ว”เมื่อเทียบกับโครงสร้างวัสดุที่มีความแข็งแรงประเภทอื่น เช่น คอนกรีตเสริมเหล็ก

ด้วยข้อด้อยของระบบโครงสร้างเหล็ก ซึ่งพบได้จากเหตุการณ์ “9/11”(nine one one) มีผลทำให้อาคารแฝด คือ WTC1 (อาคารทิศเหนือ) และ WTC2 (อาคารทิศใต้) พังถล่มลงมาในเวลาไม่นาน เนื่องจากอาคารถูกจุดระเบิดด้วยแรงปะทะของเครื่องบินพร้อมปริมาณเชื้อเพลิงเต็มความจุ จึงทำให้แกนกลางของอาคารซึ่งเต็มไปด้วยโครงสร้างเหล็กขนาดใหญ่ซึ่งถูกความร้อนกระทำปฏิกริยาจนทำให้โครงสร้างเสียกำลังไปอย่างรวดเร็ว

เมื่อมีการปรับปรุงพื้นที่ใหม่หลังจากเหตุการณ์ “9/11” จึงมีการออกแบบสภาพแวดล้อมทางสถาปัตยกรรมอีกครั้ง โดยมีการสร้างอาคารระฟ้าขึ้นมาใหม่ชื่อว่า “1 World Trade Center” โดยใช้ที่ตั้งของอาคาร WTC 6 เดิมมาออกแบบก่อสร้างใหม่เพื่อทดแทนอาคารแฝดเดิม จากรูปแบบของอาคารใหม่ ทำให้เห็นถึงแนวคิดในการ “นำรูปแบบของอาคารเดิมมาพัฒนาใหม่” เพื่อให้อาคารมีรูปทรงที่โดดเด่นสะดุดตามากยิ่งขึ้น โดย“พัฒนารูปทรงให้มีความเป็นเหลี่ยมมุมเพื่อให้มีความต่างกันของระนาบ”

การพัฒนารูปทรงของอาคาร“1 World Trade Center” ด้วยการสร้างเหลี่ยมมุมของแต่ละระนาบ ทำให้นึกถึง“ภาพลักษณ์ของเพชรที่มีความแข็งแกร่งผ่านการตัดแต่งเหลี่ยมมุมต่างๆ” เพื่อให้อาคารเกิดเป็นมิติและมีประกายจากการสะท้อนของแสงเมื่อมองเข้าสู่อาคารในมุมมองต่างๆโดยรอบ นอกจากนี้ การปรับแต่งภูมิทัศน์ โดยกำหนดให้ที่ตั้งของอาคารแฝดเดิม ซึ่งมีผังสี่เหลี่ยมจัตุรัสให้กลายสภาพเป็นสระน้ำขนาดใหญ่สามารถสื่อความหมายถึงพื้นที่แห่งความ “สงบ” เพื่อเป็นการระลึกถึงผู้ที่เคยอยู่ร่วมในเหตุการณ์ครั้งนั้น โดยมีการออกแบบสร้างพิพิธภัณฑ์เพื่อบอกเล่าเรื่องราวในครั้งนั้นด้วย ฯลฯ

หลังจากผ่านเหตุการณ์ “9/11” มาครบ ๒๐ ปี ที่ตั้งของอาคาร WTC ยังคงแสดงให้เห็นร่องรอยต่างๆที่ทางการสหรัฐได้เก็บรักษาไว้ด้วยการปรับปรุงพื้นที่ใหม่ โดยมีตึกสูงระฟ้าแห่งใหม่ ๑ อาคาร รวมถึงการปรับปรุงสภาพแวดล้อมโดยรอบให้เป็นสวนสาธารณะ โดยมีพิพิธภัณฑ์ “9/11 Memorial & Museum” และพื้นที่ใช้งานอื่นๆ เพื่อคงความเป็นพื้นที่ศูนย์กลางธุรกิจสำคัญ ควบคู่กับการบอกเล่าเรื่องราวที่เคยเกิดขึ้น

การเกิดอาคาร “1 World Trade Center” ที่คงแนวคิดรูปแบบอาคารระฟ้า(Skyscraper) ซึ่งมีความสอดคล้องกับประสิทธิผลของพื้นที่ใช้งานทางตั้ง(Vertical Areas) โดยกำหนดผังให้มีขนาดเท่ากับผังของอาคารแฝด(เดิม) ฯลฯ นอกจากนี้ยังมีการเพิ่มความหมายของอาคารด้วย “รูปทรงที่มีระนาบเป็นเหลี่ยมมุมสะท้อนแสง” และ “การกำหนดความสูงอาคารที่ ๑,๗๗๖ ฟิต” เพื่อสื่อความหมายถึง ค.ศ. ๑๗๗๖ ซึ่งเป็นปีที่รัฐสภาสหรัฐประกาศรับรองความเป็นประเทศของตนเองได้สำเร็จ เหล่านี้ล้วนแสดงให้รับรู้ถึง “วัฒนธรรม-ตัวตน” ของประเทศสหรัฐผ่านรูปแบบอาคาร “1 WTC” ได้เป็นอย่างดี

“1 World Trade Center” จึงเป็นสถาปัตยกรรมที่แฝงด้วยความหมายที่แสดงถึงอัตลักษณ์ของความเป็น “ชาติ” ผ่าน “รูปแบบอาคาร” ในการแสดงสัญญะ“การคงอยู่” (Constancy) และได้กลับมาเกิดใหม่อีกครั้ง(Reborn) โดยมุ่งหมายแสดงออกถึงการคงเป็นผู้นำทางด้านเศรษฐกิจแบบทุนนิยม ควบคู่กับบอกเล่าเรื่องราวผ่านการสร้างเนื้อหาจัดแสดงในอาคารพิพิธภัณฑ์ เพื่อสร้างการรับรู้ถึงสิ่งที่เคยเกิดขึ้น ณ สถานที่แห่งนี้ผ่านภาษาและความหมายทางสถาปัตยกรรม

รายการอ้างอิง

Bovill, C. Architectural Design: Integration of Structural and Environment Systems. New York: Van Nostrand Reinhold., 1991.

Inda, Jonathan Xavier.(editor) Anthropologies of Modernity: Foucault, Governmentality, and Life Politics. Oxford: Blackwell Publishing. 2005.

Marcus, Clare Cooper and Francis, Carolyn. People Places: Design Guidelines for Urban Open Space. Departments of Architecture and Landscape Architecture University of California, Berkley. New York: Van Nostrand Reinhold. 1990.

https://cityroom.blogs.nytimes.com/…/world-trade…/

https://commons.wikimedia.org/…/File:World_Trade_Center…

https://en.wikipedia.org/…/World_Trade_Center_(1973%E2…

https://www.newyorkcity.ca/freedom-tower-one-world-trade…/

https://www.quora.com/Is-One-World-Trade-Centers-cool…

https://www.911memorial.org/…/2003%20april.28%20LMDC…

รูปแบบอาคารแฝด “WTC: Twin Towers”(เดิม) มีลักษณะเป็นแท่งกล่องทรงสูง มีการใช้แถบเส้นนอนเพื่อเพิ่มความเสถียรให้กับตัวอาคาร การใช้เส้นตั้งและเส้นนอน(เท่านั้น) สร้างความเป็นระเบียบเรียบร้อย สะอาดตา เพื่อให้รู้สึกถึงความมั่นคง
ภาพ: Wikimedia Commons

ผังและภาพตัดของ “Twin Towers” แสดงให้เห็นถึงแนวโครงสร้างหลัก(โลหะเหล็ก)ที่มีความแข็งแรง ตั้งอยู่ที่แกนกลางของอาคารโดยยื่นองค์ประกอบของแผ่นพื้นแต่ละชั้นออกไปโดยรอบ
ภาพ: Wikimedia Commons

ผังแสดงกลุ่มอาคารเดิม “WTC” มีทั้งหมด ๗ อาคาร กลุ่มอาคารเหล่านี้เรียงรายปิดล้อมทำให้เกิดพื้นที่ว่างตรงกลาง เพื่อการใช้สอยร่วมกัน
ผัง WTC 1 และ WTC 2 คืออาคารแฝด
ผัง WTC 6 คือตำแหน่งที่ตั้งของอาคารใหม่ที่มีชื่อว่า “1 World Trade Center” (1 WTC) ในปัจจุบัน
ภาพ: Wikimedia Commons

ภาพทางอากาศ แสดงองค์ประกอบรวมของ “1 World Trade Center” (1 WTC) ในปัจจุบัน มีการปรับเปลี่ยนพื้นที่ใช้งานที่ต่างไปจากเดิม เพื่อให้ผู้คนได้รำลึกถึงเหตุการณ์ “9/11” และก้าวเดินต่อไปในปัจจุบัน
ปรับแต่งภาพจาก Google Earth Pro

การปรับปรุงบริเวณพื้นที่ของกลุ่มอาคารเดิม โดยกำหนดให้ที่ตั้งของตึกแฝดเปลี่ยนสภาพเป็น “สระน้ำขนาดใหญ่ ๒ จุด และมีอาคารพิพิธภัณฑ์ตั้งอยู่ระหว่างสระน้ำทั้งสอง
ภาพ: Wikimedia Commons

รูปแบบอาคารปัจจุบัน “1 WTC” ที่คงความเป็นผังจัตุรัส ทว่า ได้เพิ่มเหลี่ยมมุมต่างๆ ที่เกิดจากการสลับระนาบของผิวอาคารระหว่างชั้นล่างสุดกับชั้นบนสุด โดยผิวอาคารทั้งหมดเป็นกระจกเพื่อสะท้อนกาลเวลาที่เปลี่ยนไป
ภาพ: https://cityroom.blogs.nytimes.com