Sudden Shower over Bangkok

ฅน บางกอก

วันเสาร์ที่ ๒ ตุลาคมที่ผ่านมาหมาดๆ ทางการเพิ่งคลายล็อค (แบบอุ่นเครื่องก่อน) แต่ดูเหมือนผู้คนไม่ต้องอุ่นให้เสียเวลา ใส่เกียร ๕ วิ่งวุ่นฝุ่นตลบ (กลับมาอีกครั้ง) รอบกรุง 😁😆 ช่วงเช้าเป็นเวลาที่อากาศดีมาก ท้องฟ้าก็แจ่มใสเป็นใจ ช่วยส่งเสริมบรรยากาศให้ทุกคนออกมาท่องเมืองกันอีกครั้ง

ช่วงบ่าย ยังคงมีผู้คนออกมาสัญจรตามท้องถนนมากมาย บางคนเพิ่งเดินทางออกมาจากบ้าน เพราะอาจตื่นสายจากการตรากตรำทำงานในวันศุกร์ หรืออาจจะ“แฮ้ง” บางคนก็คงเดินทางออกห้างโน้นมาเข้าห้างนี้ ฯลฯ ให้สมกับที่ไม่ค่อยได้มาเดินแบบผ่อนคลายนานนับเดือน

แต่แล้ว เมืองบางกอกเหมือนฟ้ารั่ว ผู้คนที่กำลังเดินทางตามถนนรนแคมต่างแยกย้ายกันแวะเข้าร้านรวงข้างทาง(แบบทางใครทางมัน) ห้างร้านน้อยใหญ่ต่างๆเลย“พลอยฟ้าพลอยฝน” (คำนี้ ใช่เลย กับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ตรงปก 😆) ได้ต้อนรับคุณลูกค้ากันอย่างเต็มที่

เข้ามาห้างที่ใช่ของเจ้าสัว (ที่ใช่เพราะอยู่ใกล้สุดตอนนั้น 😆🤩) ไม่รู้จะแฝงตัวตรงไหนดีเท่าแฟดำแก้วนึง ต่อด้วยนั่งยาวๆตรง food court สังเกตผู้คนราวครึ่งนึง ก็เพิ่งเข้ามาแบบเรานี่แระ คงจะแนว“ห้างที่ใช่ เหมือนกัน” 😂🤣โชคดีที่มีอยู่ซอกนึงไม่มีคนนั่ง แถมอยู่ใกล้ผนังกระจกมองออกไปนอกห้างได้

จิบแฟ แลเมือง ชมบรรยากาศขณะที่มีสายฝนกำลังเทลงมาโดยที่ตัวเราไม่เปียกก็เพลินดี จู่ๆก็นึกถึงภาพวาดของ “Hiroshige” (สำเนียงไทยเรียก “ฮิโรชิเงะ” บ้างก็เรียก “ฮิโรชิเกะ”) ซึ่งเป็นจิตรกรญี่ปุ่นผู้มีชื่อเสียงฝากผลงานจิตรกรรมประเภท “ภาพพิมพ์แกะไม้” ไว้ให้กับชาวโลกมากมาย ผลงานโดดเด่นที่ทำให้นึกถึงคือ “Sudden Shower over Shin-Ohashi bridge and Atake” ซึ่งเป็นการบันทึกภาพ “สะพานชินโอฮาชิ ท่ามกลางสายฝน” ที่ตั้งอยู่บริเวณใจกลางเมือง “เอโดะ”(ปัจจุบันคือ กรุงโตเกียว)

ว่าแล้ว เครียดจากขับรถกลางสายฝน เปลี่ยนมาลอง ฟินนวาดรูปกลางสายฝนกันดีกว่า ภาพนี้ลองวาดใน Tab ด้วยเครื่องมือดินสอสีแบบ “รัวๆ” เพื่อให้ทันกับ “บรรยากาศของแสง”กับ “สายฝนที่กำลังสาดเทลงมา”เหมือนฟ้ารั่ว โดยเริ่มวาดจากวัตถุที่อยู่ในระยะกลางของภาพ (Middle Ground) คืออาคารตามแนวยาวขนานไปกับถนน อาคารในภาพนี้เราจัดให้เป็นพระเอกของภาพได้ เพราะนอกจากจะเป็นฉากที่อยู่ในระยะกลางของภาพแล้ว ยังมีรูปทรงและสีที่โดดเด่นสามารถทำให้ภาพเป็นพระเอกได้ไม่ยาก

ฉากหน้า (Fore Ground) เป็นมุมมองที่สามารถเห็นได้แต่ในส่วนของทิวไม้ ยอดไม้ ที่แสดงการสะบัดพลิ้วไปมาเพราะแรงลมและฝน การใช้เส้นสายของภาพจึงจำเป็นต้องแสดงให้เห็นถึงความปราดเปรียว เสมือนกำลังพลิ้วไหวตามที่สายตาเรามองเห็น และที่ยังเห็นตัวหัวกล้องวงจรปิด (กล่องสี่เหลี่ยม ๒ กล่อง ตรงกลางภาพด้านล่าง)เป็นฉากหน้าของหน้าสุดที่มองเห็น(ก็บันทึกลงไปในภาพได้ เพื่อเป็นหลักฐานว่าตรงนี้มีกล้อง จ้า)

ฉากหลัง (Back Ground)คือรูปทรงของกลุ่มก้อนเมฆที่มาเกาะรวมพลังกันเป็นก้อนเมฆขนาดใหญ่ ที่ยังคงสีขาวเต็มทั่วท้องฟ้า โดยมีท้องฟ้าที่มีสีฟ้าออกครามเป็นฉากหลังที่สุด(กว่ากลุ่มก้อนเมฆ) บรยากาศของสีและแสงของท้องฟ้าและเมฆที่เริ่มออกขาวๆแบบนี้ พอทำให้รู้ว่าอีกสักพักฝนคงจะค่อยๆซาลงบ้างแล้ว

นอกจากนี้ ยังมีองค์ประกอบที่ถือเป็นอีกหนึ่งพระเอกสำคัญของภาพด้วย เพราะสามารถบอกเล่าเหตุการณ์ บรรยากาศที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่กำลังบันทึกภาพได้เป็นอย่างดี คือ เส้นสายของเม็ดฝน ที่กระจายกำลังกันเทลงมา ประหนึ่งช่วยประสานองค์ประกอบต่างๆของภาพให้เข้าหากันแบบแนบเนียน ชุ่มฉ่ำใจ