อัญเชิญพระพุทธเจ้า ๓ องค์มาเป็นมงคลที่โต๊ะทำงาน

ฅน บางกอก

          คนที่ไม่ค่อยห่างวัด หากได้เคยเข้าวัดจีนเช่นวัดมังกรฯ ถนนเจริญกรุง คงต้องเคยเห็นกลุ่มพระประธาน ๓ องค์ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่กลางอุโบสถของวัดมาแล้ว

          พระพุทธเจ้าประธานกลุ่มนี้ (นักวิชาการบางคนเรียกว่าพระพุทธเจ้า set ๓ องค์) มีความสำคัญทางด้านคติ และความเชื่อของฝ่ายพุทธมหายานเป็นอย่างมาก เพราะพระพุทธเจ้าแต่ละองค์ล้วนมีภารกิจแตกต่างกัน แต่มีเป้าหมายเดียวกันคือ การเสด็จมาเพื่อ”สั่งสอนชี้นำ”และช่วยเหลือผู้คนให้พ้นจากความทุกข์ทั้งทางด้าน”ร่างกาย”และ”จิตใจ” เราสามารถสังเกตความแตกต่างของพระพุทธเจ้าแต่ละองค์(แบบง่ายสุด)ได้จากวัตถุสิ่งของที่แตกต่างกันบนพระหัตถ์ของแต่ละองค์คร่าวๆ ดังนี้

          องค์กลางคือ พระศากยมุนีซึ่งก็คือ อดีตเจ้าชายสิทธัตถะเมื่อครั้งยังเป็นมนุษย์ในโลกของเรากว่า ๒๕๐๐ ปีมาแล้ว พระองค์จึงเป็นพระพุทธเจ้าในระดับมานุษิพุทธเจ้า ซึ่งอยู่ใน”สวรรค์ชั้นกามภูมิ” หรือพูดให้เข้าใจง่ายๆคือพระพุทธเจ้าที่เป็นมนุษย์ ที่วัดมังกรฯพระองค์ทรงประทับอยู่ในอากัปกริยาของการแสดงธรรมคือ ยกพระหัตถ์ชูนิ้วขึ้นสองนิ้ว คือนิ้วชี้กับนิ้วก้อย(คล้ายกับสัญลักษญ์ไอเลิฟยู แต่ไม่เกี่ยวกัน) น่าจะเพื่อให้เราได้ระลึกถึงคำสั่งสอนของพระองค์นั่นเอง

          องค์ซ้ายของพระศากยมุนี คือพระพุทธเจ้าไภษัชยคุรุฯ นักศึกษาทางด้านเภสัชศาสตร์รู้จักกันดี พระองค์มีภารกิจเพื่อช่วยเหลือผู้คนให้รอดพ้นจากโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ องค์นี้น่าจะอินเทรนด์ในช่วงเวลาที่ i-co(วิด)กำลังแรงฤทธิ์อยู่ตอนนี้  ทรงถือหม้อน้ำมนต์ที่เป็นยา บางครั้งก็อยู่ในรูปของถะ(เจดีย์แบบจีน) ทรงประทับอยู่ทางทิศตะวันออกซึ่งเป็นแดนศุทธิไวฑูรย์ของพระองค์เอง

          องค์ขวาของพระศากยมุนี คือพระอมิตาภะพุทธเจ้า พระองค์ทรงเป็นหนึ่งในห้าของพระธยานิพุทธเจ้า ซึ่งประทับอยู่แดนสวรรค์ชั้น”รูปภูมิ” ทรงเป็นผู้ช่วยเหลือนำพาผู้คนไปสู่ดินแดนสุขาวดีอันสุขสงบภายหลังจากอายุขัย โดยสวรรค์ของแดนสุขาวดีจะอยู่ทางทิศตะวันตกของโลกมนุษย์ พระหัตถ์มักถือดอกบัว(อุปมาดอกบัวคือเด็กทารก)เพื่อให้ผู้คนมีความหวังในการไปเกิดในดินแดนแห่งนี้

          พระพุทธเจ้าประธานทั้ง ๓ องค์ได้รับความนิยมศรัทธามาก ทำให้มีการสร้างสรรค์ พัฒนาไปสู่การประกอบสร้างในหลายรูปแบบเพื่อสะดวกแก่การบูชาหรือระลึกถึง เช่นในรูปแบบของผ้ายันต์ รวมถึงมีการนำมาทำเป็นปฏิทินตั้งโต๊ะในที่ทำงาน ฯลฯ เพื่อความเป็นสิริมงคล และเป็นกำลังใจในการปฏิบัติภารกิจประจำวัน แถมยังตอบโจทย์ในสถานการณ์ตอนนี้ที่บางคนอาจยังไม่สะดวกที่จะเดินทางมาวัดเพราะ i-co ยังคงมีฤทธิ์อยู่

ขอขอบคุณ

ศูนย์ศิลปะวัฒนธรรมสัญจร

ทิพยประกันภัย

ตัวอย่าง ปฏิทินปีล่าสุด ๒๕๖๔ เพื่อรับเทศกาลปีใหม่(รวมถึงปีใหม่ตามคติจีนคือ ตรุษจีน) จะเห็นพระพุทธเจ้าทั้ง ๓ ประทับเหมือนกับองค์ที่อยู่ในโบสถ์ของวัดมังกรฯ โดยอยู่ภายในกรอบอีกชั้นหนึ่ง แถมด้วยชุดขององค์พระอัครสาวกขนาบข้าง ๒ องค์ โดยมีพระโพธิสัตว์ฯประทับอยู่ตรงกลางซึ่งเป็นระดับที่ต่ำกว่าพระพุทธเจ้าฯ

กรอบที่เป็นเหมือนกล่องด้านนอกของปฏิทิน มีการคงไว้แต่พระอัครสาวก(มักหมายถึง พระอานนท์กับพระมหากัสสปะ)พนมมือ โดยมีพระโพธิสัตว์ฯประทับนั่งอยู่ตรงกลางภาพ ข้างบนมีการเจาะรูเว้นป้ายชื่อของพระพุทธเจ้าฯ กรอบลักษณะนี้เหมือนเป็นการสร้างกรอบให้เกิดระยะหน้า(Foreground)เพื่อช่วยเสริมชุดของพระพุทธเจ้าฯที่ประทับอยู่ภายใน

ชุดพระพุทธเจ้า ๓ องค์(ตามป้ายที่ฐานชุกชีเลย) ดูผิวเผินแต่ละองค์แทบไม่ได้ต่างกันเลย วิธีสังเกตคือ พระหัตถ์กับวัตถุที่พระองค์ประคองไว้ หากไปดูที่จริงองค์กลางจะเห็นวัตถุได้ยาก เพราะมีสิ่งอื่นบังสายตามากมาย(ใครถ่ายมาได้ ช่วยส่งมาดูกันนะครับ) ปฏิทินนี้หากประกอบรวมกับกรอบก็จะไม่เห็นวัตถุบนพระหัตถ์ของพระศากยมุนีเช่นกัน คนออกแบบปฏิทินก็มีความพยายามใช้สีให้ดูมันเงาเพื่อแยกสีออกจากองค์พระ แม้สีของวัตถุจะไม่ตรงกับองค์จริง แต่ก็.. เข้าใจในความคิดสร้างสรรค์ได้

พอประกอบชุดเป็นสามมิติ นอกจากสีของฉากจะสวยแล้ว 555 เราจะเห็นชุด(set) ของพระพุทธเจ้าที่อยู่ภายในกรอบ(กล่องปฏิทิน)ดูมีมิติสมบูรณ์ด้วยฉากหน้าของชุดพระอัครสาวกและพระโพธิสัตว์ฯ วัตถุที่เป็นสัญลักษณ์มงคลของจีนที่ล่องลอยอยู่ด้านหลังของพระพุทธเจ้าฯ รวมถึงป้ายชื่อที่อยู่ด้านบนก็ช่วยเสริมให้พระองค์โดดเด่นอย่างมีเอกภาพมากยิ่งขึ้น