“นิราศภูเขาทอง”กับความสัมพันธ์ของมหาเจดีย์ชานกรุงเก่า

สวรรค์ ตั้งตรงสิทธิกุล

“นิราศภูเขาทอง”เป็นวรรณกรรมประเภทนิราศที่ทรงคุณค่าสูงสุดเรื่องหนึ่งของท่าน“ภู่”หรือ“สุนทรภู่” ผู้ได้รับสมญานามว่าเป็น“มหากวีเอกแห่งต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ๔ แผ่นดิน(มีชีวิตตั้งแต่รัชกาลที่ ๑ – รัชกาลที่ ๔) ท่าน“ภู่”ได้แต่งนิราศภูเขาทองเมื่อครั้งจำพรรษาอยู่ที่วัดราชบูรณะ(วัดเลียบเชิงสะพานพุทธฯ) การเดินทางในครั้งนั้นเป็นการสัญจรโดยทางน้ำจากกรุงเทพฯ(บางกอก) สู่จุดหมายสำคัญคือกรุงเก่า(อยุธยา) โดยมีความตั้งใจไปกราบไหว้“ภูเขาทอง” ในปี พ.ศ. ๒๓๗๓ ซึ่งภูเขาทองในเวลานั้นมีสภาพเป็นพระมหาเจดีย์ร้างที่ตั้งอยู่ชานพระนครของกรุงเก่า

การแต่งนิราศภูเขาทองของท่านภู่ในครั้งนั้น มีประเด็นสำคัญที่น่าสนใจและน่าจะสะท้อนให้เห็นถึงความสัมพันธ์ของผู้คนทั้ง ๒ ราชธานีคือกรุงเก่าและกรุงเทพฯ(กรุงรัตนโกสินทร์) ซึ่งผู้คนในสมัยนั้นยังคงรับรู้ถึงความสำคัญของกรุงเก่า โดยได้รับการบอกกล่าว-เล่าขานจากผู้หลักผู้ใหญ่ที่เคยอยู่ในสมัยที่กรุงเก่า(อยุธยา)ยังเป็น“ราชธานี”เมื่อครั้งก่อนเสียกรุง ดังเช่นท่าน“ภู่”ได้รับรู้และจดจำมาเช่นกัน การรู้จักภูเขาทองผ่านเรื่องเล่าจากผู้ใหญ่ที่เคยสัมผัสเมื่อครั้งบ้านเมืองดีย่อมนำมาสู่ภาพจินตนาการและน่าจะเป็นหนึ่งในแรงบันดาลใจสำคัญในการผลักดันให้ท่าน“ภู่”หาโอกาสเพื่อเดินทางไปสัมผัส“ภูเขาทอง”ด้วยตนเองสักครั้งหนึ่ง

สาระที่มีความน่าสนใจในนิราศภูเขาทองมีมากมาย อาทิ การพรรณนาถึงบรรยากาศและสภาพแวดล้อม รวมถึงการให้รายละเอียดของสถานที่สำคัญต่างๆระหว่างการสัญจร ฯลฯ ในที่นี้ขอยกเฉพาะส่วนที่ท่านภู่ได้กล่าวถึง สภาพแวดล้อม บรรยากาศ และองค์ประกอบส่วนต่างๆของ“ภูเขาทอง”แห่งกรุงเก่า ดังนี้

จากบางส่วนของนิราศภูขาทองที่ยกมานี้ มีการพรรณนาถึงรูปแบบและสัณฐานของพระมหาเจดีย์ของภูเขาทอง ท่านภู่ได้ระบุถึงความสูงเด่นจนทำให้รู้สึกถึงองค์เจดีย์ที่มีความเบาลอยกลางท้องฟ้า โดยที่องค์เจดีย์ตั้งอยู่กลางทุ่งโล่งทำให้จินตนาการได้ถึงการละเล่นทางน้ำในยามฤดูน้ำหลากได้เป็นอย่างดี

ประเด็นสำคัญที่น่าสนใจของนิราศนี้คือ มีการบรรยายถึงรูปแบบของภูเขาทอง โดยอธิบายส่วนฐานมีบันไดทั้ง ๔ ด้าน (๔ ทิศ) มีพื้นที่ส่วน”ฐานปัทม์”กว้างเป็นลานระเบียงเดินได้โดยรอบ ดังเช่น“ฐานประทักษิณ”มีขอบระเบียงทางเดินเป็นสัดส่วน โดยชุดฐานนี้มีลักษณะ”คล้าย”ฐานปัทม์ (ฐานบัว)ขนาดใหญ่จำนวน ๔ ฐาน (ในนิราศฯน่าจะนับรวมฐานชั้นที่ ๑ กับฐานชั้นที่ ๒ เป็นชุดฐานเดียวกัน จึงสามารถนับรวมได้เป็น ๓ ฐาน) ซึ่งมีรูปแบบเป็น”ชุดฐานเอนลาด” (บัวคว่ำมีขนาดใหญ่ดังเช่นหลังคาลาด)ทั้ง ๓ ชั้นยกลอยสูงลดหลั่นขึ้นไป

ชุดฐานเหล่านี้ยังมีการระบุว่า“ก่อย่อเหลี่ยมสลับกัน” ทำให้ทราบว่าผู้คนในสมัยต้นรัตนโกสินทร์เรียกรูปแบบส่วนที่เป็นมุมของผังเจดีย์ที่มีการ“แตกมุมย่อย”ว่า“ย่อ(เหลี่ยม)มุม”เป็นที่เรียบร้อยแล้ว แม้ว่ารูปแบบส่วนฐานของเจดีย์ภูเขาทองจะเป็นผังแบบ“ยกเก็จ” รวมถึงระบบชุดฐานแบบ”หลังคาลาด” ซึ่งเป็นระบบฐานเจดีย์แบบ“พม่า-มอญ” อันเป็นรูปแบบที่คงความนิยมร่วมสมัยเดียวกันก็ตาม

อีกหนึ่งสิ่งที่น่าสนใจจากการพรรณาในนิราศนี้คือ การระบุถึง“ห้องถ้ำ”หลังจากท่านภู่ได้ขึ้นไปเดินเวียนครบ ๓ รอบบนชั้นสามของ”ฐานประทักษิณ” (ลานชั้นบนสุด) และเป็นที่ตั้งขององค์เจดีย์ที่มีรูปแบบกลุ่มเดียวกับ”เจดีย์ศรีสุริโยทัย” ซึ่งเป็นศิลปะ-สถาปัตยกรรมรูปแบบหนึ่งที่มีความนิยมสร้างในสมัยอยุธยาตอนกลาง (ช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ ๒๑ ถึงพุทธศตวรรษที่ ๒๒) เจดีย์ที่ตั้งอยู่บนฐานประทักษิณองค์นี้มีช่องซุ้มทางเดินที่ส่วนฐานขององค์พระเจดีย์เพื่อเข้าไปสู่“คูหา”ซึ่งเป็นห้องที่อยู่ภายในพระเจดีย์

นอกจากนี้การพรรณาของท่านภู่ที่ได้เข้าไปกราบไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์และสัมผัสถึงอากาศเย็นที่ไหลเวียนอยู่ภายในห้อง (คูหา) ของฐานพระเจดีย์ยังทำให้รู้สึกถึงความอัศจรรย์อันเนื่องมาจากบรรยากาศแห่งความเลื่อมใส ศรัทธาต่อพระมหาเจดีย์ในช่วงเวลานั้นอีกด้วย

การบันทึกความประทับใจในรูปแบบของนิราศผ่านลายลักษณ์อักษรที่ท่าน“ภู่”ได้สัญจรไป ณ สถานที่จริงดังตัวอย่างที่เจดีย์ภูเขาทองจึงเป็นการแสดงถึงอัจฉริยภาพทั้งทางด้านวรรณศิลป์และการบันทึกหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ศิลปะ สถาปัตยกรรม ฯลฯ ของท่านภู่ได้เป็นอย่างดี

ช่วงกลางเดือนถึงปลายเดือนมิถุนายนเป็นช่วงวันที่ท่าน“ภู่”ถือกำเนิดมาแล้วกว่าสองร้อยปี (ท่านภู่เกิด เดือน ๘ ขึ้น ๑ ค่ำ ร.ศ.๕ ตรงกับวันที่ ๒๖ มิถุนายน ๒๓๒๙) เมื่อเข้าสู่ช่วงปัจฉิมวัย (พุทธทศวรรษ ๒๓๙๐) ท่าน“ภู่”ได้รับบรรดาศักดิ์สูงสุดคือ “พระสุนทรโวหาร” และในปีพุทธศักราช ๒๕๒๙ ท่าน“ภู่”ยังได้รับเกียรติจากองค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ยกย่องให้เป็นผู้มีผลงานดีเด่นทางด้านวัฒนธรรมในฐานะ“กวีเอก” (สามัญชน) ของโลกในเวลาต่อมา

รายการอ้างอิง

กรมศิลปากร, การบูรณะเจดีย์ภูเขาทอง. กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร. ๒๕๔๕.

แกมป์เฟอร์, เอนเยลเบิร์ต. ไทยในจดหมายเหตุแกมป์เฟอร์. กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร. ม.ป.ป.

เชษฐ์ ติงสัญชลี. เจดีย์ในศิลปะพม่า-มอญ: พัฒนาการทางด้านรูปแบบตั้งแต่ศิลปะศรีเกษตรถึงศิลปะมัณฑเล. กรุงเทพฯ: เมืองโบราณ, ๒๕๕๕.

สันติ เล็กสุขุม. เจดีย์เพิ่มมุม เจดีย์ย่อมุม สมัยอยุธยา. ภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร (รายงานวิจัยได้รับทุนพิมพ์เผยแพร่จาก มูลนิธิ เจมส์ ทอมป์สัน), ๒๕๒๙.

https://th.wikipedia.org/wiki/พระสุนทรโวหาร_ภู่

https://vajirayana.org/ประชุมกลอนนิราศต่างๆ

https://www.google.com/ภาพเก่าภูเขาทอง

https://www.sac.or.th/databases/thailitdir/cre_det.php…

ภาพแวดล้อมโดยรอบเจดีย์ภูเขาทอง มีสภาพเป็นทุ่งโล่ง ซึ่งมีน้ำท่วมถึงรอบองค์เจดีย์เมื่อยามฤดูน้ำหลาก

ภาพบรรยากาศยามเช้าตรงกับช่วงเวลาที่ท่าน”ภู่”พรรณาถึงพระมหาเจดีย์ภูเขาทอง แม้ต่างที่กาลเวลากว่า ๒๐๐ ปี

ภาพแสดงรูปแบบของเจดีย์ภูเขาทอง ซึ่งมีรูปแบบศิลปะถึง ๒ รูปแบบ (ตามที่ระบุไว้ในภาพ) อย่างชัดเจน

บริเวณ”ห้องถ้ำ”(กรอบเส้นสีแดง)ที่ท่านภู่ระบุไว้ ซึ่งอยู่ที่ส่วนฐานของเจดีย์กลุ่มรูปแบบเจดีย์ศรีสุริโยทัยบนฐานประทักษิณชั้นที่ ๔ (ในนิราศระบุไว้คือ ฐานประทักษิชั้นที่ ๓ ซึ่งเป็นชั้นบนสุด)

ภาพลายเส้นแสดงผังแบบ”ยกเก็จ”ของเจดีย์ภูเขาทอง บันทึกโดย “หมอแกมป์เฟอร์” ชาวเยอรมัน พ.ศ.๒๒๓๓

ภาพ: ไทยในจดหมายเหตุแกมเฟอร์

สภาพแวดล้อมโดยรวมของภูเขาทองก่อนที่จะมีการบูรณะ ในภาพยังพบชาวบ้าน(ชาวนา)ปลูกข้าวโดยรอบองค์พระเจดีย์ดังเช่นครั้งบ้านเมืองยังดี

ภาพ: จากอินเทอร์เน็ต