พระพุทธรูปประธาน ๓ องค์ในคติพุทธมหายานแห่งเอเชียตะวันออก

สวรรค์  ตั้งตรงสิทธิกุล

          พุทธศาสนาถือกำเนิดเป็นเวลากว่า ๒๕๖๐ ปี มีพัฒนาการทางคติและแนวคิดผ่านข้อเท็จจริงที่หลากหลายไปตามระยะเวลาที่ยาวนาน คติที่ผ่านกาลเวลาทำให้มีเกิดการแตกหน่อทางด้านแนวคิดออกเป็น ๒ นิกายหลักคือ “เถววาท” ซึ่งมีความมุ่งหมายเพื่อการดับทุกข์โดยการมุ่งฝึกปฏิบัติด้วยตนเอง กับ “มหายาน” ซึ่งมีการเพิ่มเติมแนวคิดและขยายความจากพระคัมภีร์(เถรวาทที่มีอยู่เดิม)ให้มีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้น โดยมีความมุ่งหมายเพื่อให้ผ่านพ้นความทุกข์ยากต่างๆทั้งทางกายและใจด้วยมีกุศโลบายในการสร้างศรัทธาที่หลากหลาย(อุปมาการกินยาขมที่เคลือบด้วยน้ำผึ้งที่หอมหวาน)

          พระพุทธศาสนามหายานเฟื่องฟูในราชวงศ์ปาละ(พ.ศ.๑๒๙๓-๑๗๑๗)ซึ่งมีศูนย์กลางทางตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศอินเดียรวมถึงประเทศใกล้เคียงในปัจจุบัน และมีส่วนสำคัญในการเผยแผ่แนวคิดดังกล่าวไปทางเอเชียตะวันออกซึ่งเป็นเส้นทางสายไหมทางบก(สายบน)มาสู่พื้นที่อันกว้างใหญ่ของประเทศจีนและประเทศใกล้เคียงในปัจจุบัน อีกสายหนึ่งมีการเผยแผ่มาทางทะเล(สายล่าง)ร่วมกับคติพุทธเถรวาทมาสู่ภูมิภาคเอเชียอาคเนย์

          ความเฟื่องฟูของคติพุทธมหายานในแผ่นดินจีน ซึ่งอยู่ร่วมสมัยกับราชวงศ์ถัง(ต้าถัง)ในช่วงพ.ศ.๑๒๔๘-๑๔๕๐ นำมาสู่การสร้างสรรค์งานวิจิตรศิลปแขนงต่างๆที่มีบูรณาการคติ แนวคิดพุทธมหายานจากคัมภีร์หลัก(พระสูตร)อย่างน้อย ๒ พระสูตรคือ”สัทธรรมปุณฑริกสูตร” ซึ่งมีความสัมพันธ์กับนิกายต่างๆในเอเชียตะวันออก(จีน ญี่ปุ่น ฯลฯ) ที่มุ่งไปสู่การดับทุกข์ด้วยวิธีที่สอดคล้องกับวิถีของผู้คน และ”สุขาวดีวยูหสูตร” ที่ให้ความสำคัญต่อพระอมิตาภะพุทธเจ้าซึ่งประทับอยู่ทางโลกธาตุตะวันตก ทั้งสองพระสูตรนี้ล้วนมีแนวทางแห่งความ”กรุณา”ที่จะช่วยเหลือผู้คนให้พ้นทุกข์โดยผ่านกระบวนการทางแนวคิด คือ

๑.การสอนสั่งชี้นำเพื่อให้เกิด “ปัญญา” อันประเสริฐ โดยมีพระศากยมุนีผู้เป็นพระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบันที่ชี้นำความสว่างแห่งปัญญา

๒.การเยียวยารักษาโรคภัย เพื่อให้เกิดประสิทธิผลทาง “ร่างกาย” โดยมีพระพุทธเจ้าไภษัชยคุรุฯ ซึ่งประทับอยู่แดนศุทธิไวฑูรย์คือ สวรรค์ทางทิศตะวันออก พระองค์ทรงปลดเปลื้องความทุกข์ทรมานต่างๆทางกายเพื่อให้พ้นจากโรคภัยไข้เจ็บ

๓.การนำพาให้ไปสู่ดินแดนอันสุขสงบหลังจากการล่วงลับ เพื่อให้เกิดผลดีทาง “จิตใจ” โดยมีพระพุทธเจ้าอมิตาภะประทับอยู่แดนสุขาวดีคือ “สวรรค์ที่อยู่ทางทิศตะวันตกของโลกมนุษย์”

          คติ แนวคิดดังกล่าวสามารถพบได้จากการสรรค์สร้างงานศิลปกรรมผ่านรูปแบบของกลุ่มประติมากรรมประธาน ซึ่งมีการประดิษฐานในลักษณะประทับอยู่ร่วมกันเป็นชุด ๓ องค์ โดยพบจากวัดหลายแห่งในประเทศจีนและภูมิภาคใกล้เคียง รวมถึงศาสนสถานในลักษณะเดียวกันที่ปรากฏในประเทศไทย เวียดนาม ฯลฯ ด้วยเช่นกัน

ความหมายในทางสัญญะและประติมานวิทยา

          ศาสนสถานเหล่านี้มีการประดิษฐานองค์พระประธานรวมกันเป็นกลุ่ม ๓ องค์ โดยประทับอยู่ที่อาคารหลักซึ่งเป็นเรือนประธานของศาสนสถานนั้น โดยเรือนประธานตั้งเป็นแกนกลางและเป็นแกนหลัก(Main Axis)ของวัด และพบว่ามักตั้งอยู่กึ่งกลางพื้นที่ใช้งานหลัก(เขตพุทธาวาส)ของศาสนสถาน เพื่อแสดงถึงพื้นที่ที่มีความสำคัญสูงสุดซึ่งสอดคล้องกับการรับรู้ในความหมายทางสถาปัตยกรรม โดยกลุ่มพระประธาน ๓ องค์มีการแสดงความหมายผ่านการแสดงออกของประติมากรรมดังนี้

๑.พระประธานองค์กลางคือพระศากยมุนีซึ่งถือเป็นตัวแทนของพระพุทธเจ้าแห่งภัทรกัลปในระดับของมานุษิพุทธเจ้า มักแสดงถึงท่าทางขณะแสดงธรรมคำสอน โดยการประทับนั่งหรือยืน ยกพระหัตถ์ขึ้น(แสดงวิตรรกมุทรา) ในบางแห่งมีการประคองบาตรหรือลูกแก้ว หากเป็นการประทับยืนมักมีการผายพระหัตถ์ออกเพื่อเป็นการประทานพร ฯลฯ

๒.พระประธานองค์ซ้ายของพระศากยมุนี คือพระพุทธเจ้าไภษัชยคุรุฯ มักแสดงพระหัตถ์โดยการประคองภาชนะน้ำมนต์ หรือสมุนไพร รวมถึงสถูปเจดีย์(ถะ)

๓.พระประธานองค์ขวาของพระศากยมุนี คือพระอมิตาภะพุทธเจ้า มักแสดงพระหัตถ์โดยการถือหรือประคองดอกบัว เนื่องจากผู้ที่ถือกำเนิดในแดนสุขาวดีนี้มาจากดอกบัว พระองค์มักประทับนั่งในปางสมาธิอันเป็นอัตลักษณ์ของพระองค์ในฐานะพระธยานิพุทธเจ้าพระองค์หนึ่ง

          กล่าวได้ว่าการประดิษฐานพระประธาน ๓ องค์ในคติพุทธมหายาน เป็นแนวคิดในเชิงบูรณาการทางสังคม เพื่อให้พระพุทธเจ้าประธานทั้งสามองค์ต่างมีหน้าที่ช่วยเหลือผู้คนบนความมุ่งหมายเดียวกันคือ การนำพาผู้คนไปสู่การพ้นทุกข์ในดินแดนสุขาวดี  ซึ่งบ้านเมืองมีแต่ความสุขสงบและสวยงาม โดยมีองค์พระศากยมุนีทรงประทับอยู่ตรงกลางของพระพุทธเจ้าทั้งสอง เพื่อแสดงถึงความสำคัญของพระองค์ในฐานะที่ทรงเป็นพระพุทธเจ้าของผู้คนในโลกปัจจุบัน

           แม้ว่า”พระศากยมุนี”จะทรงเป็นพระมานุษิพุทธเจ้า ทว่า  พระองค์ก็ยังทรงประทับอยู่ ณ จุดแกนกลางของโลกมนุษย์ในกาลปัจจุบันเพื่อสอนธรรม นำพาผู้คนให้มีความพร้อมทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ เพื่อเตรียมไปสู่โลกใหม่คือแดนสุขาวดีที่สุขสงบเมื่อวายชนม์ เหล่านี้ล้วนมีความสอดคล้องกับ “ความคาดหวัง” และ “กำลังใจอันเกิดจากความเชื่อศรัทธา” เมื่อได้เข้ามากราบไหว้ ขอพร

รายการอ้างอิง

ปกรณ์ ลิมปนุสรณ์. : บรรณาธิการ. พุทธศาสนามหายานในเอเชียตะวันออก. นนทบุรี: ชวนอ่าน, ๒๕๖๑.

ประยงค์ แสนบุราณ. พระพุทธศาสนามหายาน. กรุงเทพฯ: โอเดียนสโตร์. ๒๕๔๘.

ผาสุข อินทราวุธ. พุทธปฏิมาฝ่ายมหายาน. กรุงเทพฯ: อักษรสมัย.๒๕๔๓.

เสฐียร พันธรังษี. พุทธประวัติมหายาน. กรุงเทพฯ: สุขภาพใจ. ๒๕๔๓.

เสถียร โพธินันทะ. ภูมิประวัติพระพุทธศาสนา. กรุงเทพฯ: บรรณาคาร. ๒๕๑๕.

อชิรัชญ์ ไชยพจน์พานิช. ประวัติศาสตร์ศิลปะจีนโดยสังเขป. นนทบุรี: มิวเซียมเพรส. ๒๕๖๒.

          ตัวอย่างผัง: ภาพแสดงผังในเขตพุทธาวาสของวัดมังกรกมลาวาส มีการวางผังในลักษณะสมมาตร โดยประดิษฐานพระพุทธเจ้า ๓ องค์ประทับบนกึ่งกลาง(เส้นประสองสีที่ตัดกัน)ของพื้นที่อาคารของเขตพุทธาวาส
ภาพ: ปรับปรุงจากกูเกิ้ลแมพ

พระประธาน ๓ องค์ในวัดมังกรกมลาวาส  พระศากยมุนี(องค์กลาง)มีการแสดงออกทางงานช่างโดยการทรงแสดงธรรม พระไภษัชยคุรุฯทรงประคองสถูปเจดีย์  พระอมิตาภะทรงปางสมาธิประคองดอกบัว ไว้ที่พระหัตถ์ทั้งสอง
ภาพ: Supanut Arunoprayote.

พระประธาน ๓ องค์ในวัดทิพยวารีวิหาร แม้ว่าพระประธานทั้ง ๓ องค์จะมีลักษณะประทับนั่งปางสมาธิในลักษณะเดียวกัน ทว่ามีการประคองสิ่งมงคลไว้ที่พระหัตถ์ที่แตกต่างกัน กล่าวคือพระศากยมุนีประคองวัตถุทรงกลม(ลูกแก้ว!) พระไภษัชยคุรุฯประคองสถูปเจดีย์ พระอมิตาภะประคองดอกบัว
ภาพ: Holger Bauer.

พระประธาน ๓ องค์ในวัดจีนประชาสโมสร(จ.ฉะเชิงเทรา) แม้ว่าพระประธานทั้ง ๒ องค์(คือพระศากยมุนีและพระไภษัชยคุรุฯ)จะมีลักษณะประทับนั่งแสดงธรรมโดยไม่ทราบว่ามีการประคองวัตถุสิ่งใด(เนื่องจากมีจีวรคลุม) ทว่า สามารถทราบได้ว่าอีกองค์หนึ่งคือพระอมิตาภะ เนื่องจากพระองค์น่าจะประทับนั่งปางสมาธิ(ภายใต้จีวรห่มคลุม)
ตามหลักประติมานวิทยาของพระองค์
ภาพ: นรา เตชปัญญาสิทธิ์

พระประธาน ๓ องค์ในวัดเทียนมู่ (เมืองเว้ ประเทศเวียดนาม) พระศากยมุนี(องค์กลาง)ทรงแสดงธรรม ในขณะที่พระพุทธเจ้าทั้งสองพระองค์ทรงปางสมาธิในลักษณะเดียวกัน หากพิจารณาตามลักษณะของการออกแบบสร้างสรรค์ อาจสันนิษฐานได้ว่าช่างคงจะให้ความสำคัญที่องค์พระศากยมุนี ซึ่งแสดงวิตรรกมุทราเพียงพระองค์เดียว เป็นผลให้พระองค์เป็นจุดหมายตา(Focal Point)อันเกิดจากการชูพระหัตถ์ขึ้นและทรงประทับอยู่ท่ามกลางพระพุทธเจ้าทั้งสององค์
ภาพ: ฅน บางกอก                                                        

พระประธาน ๓ องค์ในวัดซีหยวน (เมืองซูโจว ประเทศจีน) แม้ว่าพระศากยมุนี(องค์กลาง)จะมีลักษณะปางสมาธิเพียงพระองค์เดียว โดยมีพระพุทธเจ้าอีกสองพระองค์ทรงแสดงธรรม ทว่า ทั้งสองพระองค์ล้วนชูพระหัตถ์ที่อยู่ริมด้านนอกสุดของกลุ่มพระพุทธเจ้าทั้งสาม(อาทิ องค์ขวาของพระศากยมุนีคือพระอมิตาภะชูพระหัตถ์ขวา ฯลฯ) ทำให้องค์ประกอบรวมของกลุ่มพระประธานดังกล่าวเกิดความสมดุล นอกจากนี้การเพิ่มประติมากรรมพระอัครสาวกของพระศากยมุนี คือพระอานนท์และพระมหากัสสปะในลักษณะขนาบข้าง จึงเป็นการช่วยส่งเสริมพระศากยมุนีให้มีความโดดเด่นมากยิ่งขึ้น
ภาพ: สุรชัย ศิริไกร

พระประธาน ๓ องค์ประทับยืนในวัดหลงหัว(เมืองเซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน) พระศากยมุนี(องค์กลาง) เพียงพระองค์เดียวที่มิได้สวมมงกุฏ คงแสดงสัญญะถึงพระองค์ในฐานะพระมานุษิพุทธเจ้าเพียงพระองค์เดียว โดยมีพระไภษัชยคุรุฯทรงถือภาชนะใส่น้ำมนต์(ยา) และสมุนไพร และพระอมิตาภะทรงประคองดอกบัว อันเป็นลักษณะเด่นที่แสดงความหมายถึงพระองค์
ภาพ: Eyal Rosin.