ยล ผล งาน “ศิลปะระดับตำนาน” โคจรมาพบกัน

….
ฅน บางกอก
๑๗ มีนาคม ๒๕๖๕
……มีโอกาสได้มาชมผลงานศิลปะระดับ “ตำนาน” ตามคำเชิญเมื่อไม่นานมานี้ที่ “ริเวอร์ ซิตี้ แบงค็อก” (ชื่อเดิม “ริเวอร์ ซิตี้ กรุงเทพ” ไม่แน่ใจที่เปลี่ยนชื่อจาก “กรุงเทพ” มาเป็น “แบงค็อก” เพราะผลงานชิ้นโบว์แดงของ “ราชบัณฑิตฯ” รึเปล่า 😁😂😆) การที่ได้กลับไปยลผลงานของเหล่าศิลปินระดับ ตำนาน อีกครั้ง ก็ทำให้รู้สึก “อิ่มเอม” อีกครั้งเหมือนทุกๆครั้งที่ผ่านมา มีผลงานหลายๆชิ้นได้เคยไปชมใน “หอศิลป์เจ้าฟ้า” บ้าง ที่อื่นๆบ้างแบบกระจัดกระจายตั้งแต่สมัยที่ยังเป็นนักศึกษา มาครั้งนี้ก็ยัง “ฟินน์” เหมือนเดิม ถ้าจะต่างก็คงเป็นความรู้สึกของบรรยากาศ และผู้ชมที่มีความหลากหลายมากขึ้น
…..ที่มีความรู้สึกว่ายัง “ฟินน์” แม้ว่าจะเคยได้เห็นงานเหล่านี้ในสถานที่ต่างๆมาแล้ว อาจเป็นเพราะ คล้ายกับบรรดาเหล่าศิลปินสาขาทัศนศิลป์หลายๆท่านได้โคจรมาชุมนุมพร้อมกัน ทั้งที่ใน “ความจริงของความจริง” คือ หลายท่านได้เดินทางไปท่องเที่ยวศิลปทิพย์ที่เป็นดินแดนแห่งความสุขนิรันดร์แล้ว ผลงานเหล่านี้ก็ยังฝากฝังให้ผู้คนได้รำลึกถึงด้วยความทรงจำดีๆ นอกจากนี้ เท่าที่พอจะรู้จากครู อาจารย์ อีกพรรคพวก ทำให้รู้ว่าศิลปินระดับตำนานอีกหลายท่านยังคงสร้างงานอย่างสม่ำเสมอ บางท่านก็สร้างผลงานเงียบๆอย่างมีความสุขที่บ้าน ศิลปะจึงมีมิติที่ “ไร้พรมแดน” จริง
…..ที่จะมาเล่าและเอาภาพที่ได้ไปบันทึกมาให้ดูกันในครั้งนี้ จะขอเน้นๆงานของศิลปินระดับ ตำนาน ก็แล้วกัน เพราะชิ้นงานในนิทรรศการมีจำนวนมากพอควร รุสึกว่าสิริรวมแล้วราว 100+ 😃😎😁 นอกจากหลายชิ้นที่เป็นระดับ ตำนาน แล้ว ก็ยังมีผลงานศิลปะที่สร้างสรรค์โดยศิลปินรุ่นต่างๆอีกด้วย ซึ่งมีทั้งงานศิลปะที่มีการสร้างสรรค์ทั้งจากบนผืนผ้าใบ กระดาษ ฯลฯ บางผลงานสร้างในรูปแบบของเทคโนโลยีสมัยใหม่ วัสดุใหม่ๆ รวมถึงในรูปแบบ NFT ที่มีความหลากหลาย ทำให้ชิ้นงานมีความแปลกตาน่าสนใจเช่นเดียวกัน
…..งานศิลปะที่มีความน่าสนใจอีกประเภทนึงคือ การสร้างสรรค์โดยการนำงานศิลปะของศิลปินคนสำคัญมาผสมผสานกับเทคโนโลยีปัจจุบัน จนกลายเป็นการสร้างสรรค์แบบใหม่ที่โดดเด่น แปลกตา เช่น ผลงานเดิมชิ้นนึงของ “อาจารย์เฟื้อ หริพิทักษ์” ที่เป็นแนว Cubism ถูกนำมาพัฒนาสร้างสรรค์ใหม่โดยการแสดงให้เห็นการประกอบกันของชิ้นส่วนแต่ละระนาบด้วยภาพที่มีการเคลื่อนไหวในรูปแบบของ DIGITAL ART ฯลฯ นอกจากนี้ ก็ยังมีผลงานที่มีความน่าสนใจอีกหลายชิ้นที่นำมาจัดแสดงในงานนี้มากมาย แบบอิ่มๆ ท้วมๆเลย 😆😊😃
…..ทั้งหมดนี้ถูกนำมาจัดแสดงรวมกันอยู่ในชุดนิทรรศการเพื่อการประมูลที่มีชื่อว่า “TO THE MOON” คนที่สนใจงานศิลปะสามารถเข้ามาชมได้เลยนะ นิทรรศการครั้งนี้นอกจากจะเหมาะกับคนที่สนใจงานศิลปะในด้านของการประมูลผลงานแล้ว ยังเหมาะกับผู้คนที่ต้องการชื่นชมศิลปะที่มีผลงานดีๆ ไม่ว่าจะเป็น นักเรียน นักศึกษา หรือประชาชนทั่วไป ลองเข้ามาชมกันนะ นิทรรศการมีถึงวันเสาร์ที่ 19 มีนานี้ คือวันศุกร์นี้เท่านั้นเอง
หลังจากนั้นใครที่ประมูลได้ก็คงมาขนกันไป อีกยาวๆกว่าเหล่าผลงานของศิลปินจะมาชุมนุมกันอีกครั้ง 😁😉
…..ปัจจุบัน เรื่อง “มูลค่า” กับงานงานศิลปะในบ้านเรามีความสำคัญและมีพัฒนาการมากขึ้นเป็นลำดับและต่อเนื่อง โดยเฉพาะในสังคมยุคที่เป็น DIGITAL และ NFT ฯลฯ ซึ่งเป็นไปตามกลไกและการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วของสังคมโลก แต่ทว่า “คุณค่า” ของผลงานที่เหล่าศิลปิน ทุ่มเท สร้างสรรค์ ยังคง “อมตะ” ไม่เปลี่ยนแปลง และก็ยังคงยากที่จะมีการใช้มาตรวัดต่างๆมากำหนดเป็นปริมาณ เป๊ะๆ ได้ หากมีโอกาสจะมาเล่าเรื่องแนวนี้ให้ฟังกัน
…..มิตรสหายที่สนใจผลงานศิลปะที่เล่ามา ลองเข้ามาดูภาพรวมได้ตามลิ้งคที่วางมาให้ข้างล่างนี้ ใครดูแล้วจะไปประมูล หรือดูเพื่อเสพ “ฟินน์ๆ” ก็ตามอัธยาศัยเลย ถ้าอยากได้บรรยากาศก็ไปดูได้ที่ “ริเวอร์ ซิตี้ แบงค็อก” ได้เช่นกัน
ภาพสมบูรณ์ของ “เฟื้อ หริพิทักษ์” ที่อยู่ในรูปแบบ NFT Digital Art ซึ่งภาพต้นแบบของ”อาจารย์ เฟื้อ” เป็นเทคนิคสีน้ำมัน แนวนามธรรมแบบ Cubism ที่มีความทันสมัยมากในบ้านเรา ราวปี พ.ศ. ๒๔๙๙
ภาพของ “เฟื้อ หริพิทักษ์” ที่ถูกนำมาพัฒนาต่อด้วยรูปแบบของ NFT Digital Art โดยการปะติดปะต่อองค์ประกอบของภาพแต่ละชิ้นส่วนในลักษณะของภาพเคลื่อนไหว ชื่อภาพ “Face 2022”
บรรยากาศในชุดนิทรรศการ “To the Moon” ผนังแดงช่วยขับชิ้นงานของศิลปินต่างๆได้แจ่มขัดมากขึ้นเลยทีเดียว
ผลงานสีน้ำมันของ อวบ สาณะเสน ที่นำเอาท่วงท่า อารมณ์ของวงดนตรีรวมถึงนักดนตรีมาจัดองค์ประกอบขึ้นมาเป็นท่วงทำนองทางทัศนศิลป์ได้สนุกสนานและแฝงไว้ด้วยความหมายที่แสดงถึงสังคมในสมัยหลายสิบปีก่อนได้อย่างอิ่มเอม
ชิ้นงานของ ถวัลย์ ดัชนี เป็นเทคนิคสีน้ำมันที่ใช้ฝีแปรงแบบเฉียบพลัน แสดงให้เห็นอารมณ์ ท่าทางของวัวในภาพที่คึกคักสุดไทีเดียว
ภาพชื่อ “Untitled 1997” ของ ประเทือง เอมเจริญ ปกติเรามักจะพบผลงานที่เป็นสีน้ำมัน ซึ่งต่างจากชิ้นนี้ที่เป็นเทคนิค สีน้ำ ที่ให้ความรู้สึกถึงความเบา และกำลังลอยขึ้นสู่เบื้องบน โดยใช้ทั้งแม่สีร้อน กลาง และเย็น มาผสมกันด้วยเส้นฉวัดเฉวียน เป็นงานนามธรรมที่เรียบง่ายแต่แฝงด้วยความหมายในภาพอย่างชัดเจน
ภาพผลงานชื่อ “บึงบัว” ของ จ่าง แซ่ตั้ง ที่น้อยชิ้นนักจะได้เห็นงานที่ให้ความรู้สึกถึงความสบายๆ ชิลๆ แฝงด้วยความสนกสนานที่ศิลปินได้บันทึกไว้สดๆที่บึงบัวแถวบ้าน
งานเทคนิคสื่อผสมของ ถาวร โกอุดมวิทย์ เป็นแนวศิลปะนามธรรม ที่แฝงด้วยแนวคิด “เซน” โดยการวางองค์ประกอบแบบ”อสมมาตร”ที่ทรงคุณค่าชิ้นนึง
ผลงานของ ช่วง มูลพินิจ ชื่อ”ดอกดาหลา 2003″ เป็นงานเทคนิคสีน้ำมัน ที่คงเอกลักษณ์ด้วยลายเส้น แสงและเงา ด้วยองค์ประกอบของสีที่โดดเด่นทีเดียว
งานประติมากรรมของ ชำเรือง วิเชียรเขตต์ ที่ชื่อว่า “สูญญตา 1994” มองผ่านเข้าไปในวงเป็นชิ้นงานของ ทวี รัชนีกร ที่มีชื่อว่า “โลกร้อน” สอดคล้องทันสมันจนถึงทุกวันนี้เลยเชียว
งานของ ทวี รัชนีกร ที่เป็นเทคนิคสีน้ำมัน มีชื่อผลงานว่า “โกหกกันไป โกหกกันมา” ทั้งคุณภาพการสร้างสรรค์ กับสาระภาพ ทันสมัยจนถึงบัดนาวโดยแท้ 😆😎😁
ผลงานสีน้ำมันของ สวัสดิ์ ตันติสุข ที่เป็นแนวค่อนข้างมาทางนามธรรม ที่เน้นน้ำหนักสีและเส้นที่พุ่งตรงให้ความรู้สึกถึง “พลังที่ซ่อนอยู่ภายในของศิลปิน”
งานเทคนิคภาพพิมพ์ของ อุดมศักดิ์ กฤษณมิษ ที่เน้นนามธรรม โดยสร้างสรรค์ภาพให้มีมิติต่างๆด้วยขนาดต่างๆของเส้นวงโค้งที่น่าสนใจ
ผลงานอันเป็นเอกลักษณ์ของ อนันต์ ปาณินท์ ที่ใช้เทคนิคสีน้ำมันได้คมกริบ แต่ให้ความรู้สึกที่เบา ล่องลอยและเต็มไปด้วยมิติของรูปทรงและสีสัน
งานของ อารี สุทธิพันธุ์ ที่เราจะคุ้นเคยกับเทคนิคสีน้ำแบบ เปียกบนเปียก อันลือลั่น แต่ชิ้นนี้ใช้เทคนิคสีน้ำมันที่มีการปาดพู่กันได้เข้ารูปและเป็นอิสระจริง
ผลงานของ วสันต์ สิทธิเขตต์ ชื่อ คนแบกโลก ภาพลักษณะนี้ แสดงถึงเอกลักษณ์ทางแนวคิดของศิลปินได้ดีทีเดียว
มาดูผลงานทั้งสามชิ้น(ซ้าย)ของ อัญชลี อารยะพงศ์พาณิชย์ ที่เน้นบุคคลในภาพที่ดวงตาโตๆ สงสัยจะได้รับอิทธิพลจากหนังเรื่อง “Big eyes” 😃😉😊 ประชันภาพด้านขวาของยศนันท์ วุฒิกรสมบัติกุล ที่เน้นบรรยากาศกับแนวคิด น้อยๆ เนียนๆ แต่มากด้วยจินตนาการ 😃😉😊
ชิ้นงานของ กฤษดา ภควัตสุนทร ชื่อ The more I learn what is a man. The more I want to be an animal 2020. งานชิ้นนี้คนมักชมกันด้านหน้า แต่ขอมองมุมนี้ที่เห็นหลังเจ้าจิ้งจอกเงินละกัน เพราะดูหล่อน่าสนใจไม่แพ้ด้านหน้า 😆😎😂 จิ้งจอกกำลังมองไปที่ชิ้นงานที่ล่องลอยของ จิตต์สิงห์ สมบุญ ชื่อ ร่องรอย-ล่องลอย 22/2 😆😉😁