เดินไป วาดไป: เยือนเหย้า อดีตทุ่งลาดกระบัง KMITL

: ฅน บางกอก

14/04/2566

……….“วันสุข” ปลายสัปดาห์มีโอกาสกลับมาเหย้าเดิม  เลี้ยวเข้าประตูรั้ว ฝั่งซ้ายถาปัด ฝั่งขวาวิศวะตึกแรกฝั่งขวายังคงเป็นหอประชุมที่กว่า ๓๐ ปีที่แล้วได้ชื่อว่าเป็นหอประชุมที่มีการออกแบบทั้งทางด้านสถาปัตยกรรมและวิศวกรรมที่สมบูรณ์แบบที่สุดแห่งนึงในช่วงเวลานั้น  โดยเฉพาะคุณภาพด้านมุมมองของผู้ชมกับเวที (Visibility) และระบบเสียง (Sound Engineering) ที่ออกแบบมาจากฐานคิด “มนุษย์มิติ” (Human Scale) ฯลฯ

……….แนวคิดออกแบบอย่างนี้เริ่มจากคิดพฤติกรรมการใช้งานจริงออกมาเป็นพื้นที่ทั้งแนวราบและแนวดิ่งแล้วจึงออกมาเป็นปริมาตรของพื้นที่ (Volume Space) จากภายในออกไปสู่การเกิดรูปร่างหน้าตาของอาคาร (Massing) อย่างตรงไปตรงมาตามแนวคิดสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ (Modern Architecture)

……….แนวคิดแบบนี้ทำให้ได้รูปร่างหน้าตาของอาคารตรงกับพื้นที่การใช้งานจริง  พูดง่ายๆคือไม่ได้ตั้งธงเอารูปร่างหน้าตาเท่ห์ๆขึ้นมาก่อนแล้วค่อยไปขยำพื้นที่ภายใน 😂😆🤣  รูปร่างหน้าตาของอาคารจึงดูงาม เรียบง่าย จริงใจจากภายในที่ตรงจริตการใช้งานแบบพอเหมาะ พอดี

……….ตัวอาคารที่ดูเรียบง่าย (เช่น ไม่มีรายละเอียดของลวดลาย ฯลฯ) หากแต่ใช้ความต่างของระนาบอาคารเพื่อให้เกิดมิติจากแสง-เงา  ทำให้อาคารมีความหนักแน่นมาก-น้อยเปลี่ยนไปตามบรรยากาศของแต่ละวัน  เน้นเส้นนอนให้เกาะกับผิวดิน แต่งผิวด้วยอิฐสีแสดตัดแถบขาว (สีสถาบัน) แลดูกลมกลืนกับสภาพแวดล้อมด้วยขนาดและความสูงไล่เลี่ยกับดงไม้น้อย-ใหญ่ที่เกาะกลุ่มและโอบล้อมอยู่รอบๆ  หากแต่ตัวหอประชุมเป็นกลุ่มสีโทนร้อน (ส้มอิฐ) ตรงข้ามกับกลุ่มสีโทนเย็นที่เป็นดงไม้ เลยทำให้ตัวอาคารมีความ “เด่น แต่ ไม่โดด”

……….เดินไป-ส่องไป พร้อมกับดึงภาพจำสมัยโน้นมาเปรียบเทียบมุมมองเดียวกันที่แตกต่างเวลาแล้ว “เพลินมักๆ”  ที่ชอบๆและแปลกตากว่าตะก่อนอีกอย่างคือ เพลินกับการมองเครื่องบินลำใหญ่ๆที่บินต่ำมากเพราะกำลัง Take off  บ้างก็กำลัง Landing ผ่านลานหน้าหอประชุมชนิดแทบจะทุกนาทีเลยทีเดียว  แดดร่ม-ลมตกแล้ว  นานๆมาถึงเหย้า จะรอไรอีก  จัดสดตั้งแต่หน้าหอประชุมเลยละกัน  😍😁😎

 

เดินไป วาดไป: เยือนเหย้า อดีตทุ่งลาดกระบัง KMITL

ปากกาเมจิก บนกระดาษ

ขนาดภาพ  A5

ระยะเวลา (ภาพละ)  ๑๐ นาที

แต่งภาพสีดิจิตอล (ภาพละ) ๑๐ นาที

 

บรรยากาศ สภาพแวดล้อม แดดล่ม-ลมตกหน้าหอประชุม KMITL

สภาพแวดล้อมภายในหอประชุม ใช้งานมากว่า ๓๐ ปี