เทศกาลไหว้บรรพบุรุษของคนไทยเชื้อสายจีนในบางกอก

ฅน บางกอก

ว่าด้วยเทศกาลไหว้บรรพบุรุษของคนไทยเชื้อสายจีนในบางกอก

ประเพณีการไหว้บรรพบุรุษของชาวจีนจะมีช่วงเวลาของการเดินทางไปสุสานอยู่ ๓ ช่วงเวลาคือ

๑. ช่วงฤดู “ชุนฮุน” คือช่วงวันที่ ๒๑ มี.ค.- ๔ เม.ย. เป็นช่วงเวลาของฤดูใบไม้ผลิ(คือฤดูแรกของปี) และเป็นช่วงเวลาที่อากาศเย็นสบายตามภูมิศาสตร์ในประเทศจีน(PRC) จึงเป็นช่วงเวลาที่คนจีนแผ่นดินใหญ่นิยมเดินทางไปกราบไหว้เยี่ยมเยือนบรรพบุรุษ (ตามคติเดิมผู้ที่ไปกราบไหว้บรรพบุรุษในฤดูนี้ไม่ควรเป็นทิศหลังสุสานเป็นทิศตะวันตก อาจมีเหตุผลหนึ่งมาจากฤดูนี้เป็นช่วงศักราชใหม่ตามคติจีน ซึ่งจะมีความนิยมในทิศมงคล การประกอบพิธีกรรมใดๆของต้นศักราช จึงไม่นิยมการประกอบพิธีโดยหันทิศไปทางตะวันตก)

๒. ช่วงฤดู”เชงเม้ง” คือช่วงวันที่ ๕ – ๒๐ เม.ย. ยังเป็นช่วงที่อากาศยังไม่ร้อนในประเทศจีนแผ่นดินใหญ่ ข้อดีของการไหว้บรรพบุรุษที่สุสานในฤดูนี้ คือไม่ต้องทำพิธีกราบไหว้บรรพบุรุษที่ตั้งหิ้งไว้ที่บ้าน(เรือน)อีกแล้ว เนื่องจากอยู่ในช่วงเวลาเดียวกัน

๓. ช่วงฤดู”ตังโจ่ย” คือช่วงวันที่ ๒๒ ธ.ค.- ๕ ม.ค. (บางคนเรียกว่าฤดูไหว้ขนมอี๊หรือขนมอี๋) ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่อากาศจะหนาวเย็นมากในประเทศจีนแผ่นดินใหญ่ แต่เป็นช่วงเวลาที่อากาศจะค่อนข้างเย็นถึงเย็นสบายในสยามประเทศ และเป็นช่วงฤดูสุดท้ายของปีศักราชที่มีการเดินทางไปกราบไหว้บรรพบุรุษที่สุสาน

          ราว ๕๐ ปีที่ผ่านมา คนจีนในบางกอกและใกล้เคียงมักมีความนิยมเดินทางไปกราบไหว้บรรพบุรุษมากที่สุด คือฤดู”ชุนฮุน” และมีความนิยมไปกราบไหว้ในฤดู”เชงเม้ง”เฉพาะวันที่ตรงกับต้นฤดูของเชงเม้งคือ วันที่ ๕ เม.ย. ผลลัพธ์จากความนิยมในการเดินทางในช่วงวันดังกล่าวคือ ความแออัดยัดเยียดของผู้คน อาทิ ปริมาณมากมายของรถยนต์ระหว่างการเดินทางไปสุสาน มักเป็นจังหวัดสระบุรีและชลบุรี ด้วยเหตุผลที่อยู่ไม่ไกลจากเมืองบางกอก อีกทั้งมีภูมิศาสตร์เป็นภูเขาสอดคล้องกับหลักชัยภูมิ(ที่ตั้ง) สำหรับผู้วายชนม์คือฮวงซุ้ย(เฟิงสุ่ย)

          จากนั้นในราว ๑๐ กว่าปีที่ผ่านมานี้ ผู้คนเริ่มมีการเดินทางไปกราบไหว้บรรพบุรุษในช่วงฤดู”ตังโจ่ย”เพิ่มขึ้น และมากขึ้นตามลำดับ ซึ่งมีความสอดคล้องกับสภาพภูมิศาสตร์ในสยามประเทศมากที่สุด เนื่องจากอากาศเย็นสบาย กอปรผู้คนยังไม่พลุกพล่าน ซึ่งต่างจากในอดีตที่การเดินทางยังไม่สะดวกสบาย จึงยังมีความเสี่ยงกับปัญหาระหว่างการเดินทาง อาทิ สถานีที่พักการเดินทาง อาชญากรรม รวมถึงความเกรงว่าอาจเดินทางไปพบกับ “พลังงานบางสิ่งที่มองไม่เห็นในบริเวณสุสาน” ฯลฯ  อย่างไรก็ดี ด้วยการพัฒนาทางด้านกายภาพทั้งสถานที่เส้นทางและสถานที่พักการเดินทาง รวมทั้งการเพิ่มขึ้นของชุมชนโดยรอบสุสาน จึงทำให้ความขลังหรือความเกรงกลัวพลังงานบางสิ่งจึงดูเหมือนลดลงโดยปริยาย

          ปัจจุบัน ปริมาณผู้คนมีความนิยมเดินทางไปกราบไหว้บรรพบุรุษในฤดู “ตังโจ่ย” มากขึ้น และพบว่ามีแนวคิดของช่วงวันเดินทางที่ต่างกันคือ บ้างก็ว่าต้องไปก่อนเทศกาลไหว้ขนมอี๊ บ้างก็คงยึดตามประเพณีเดิมคือ เริ่มเดินทางตั้งแต่วันไหว้ขนมอี๊ตามที่กล่าวมาตอนต้น อย่างไรก็ดี แนวคิดต่างๆเหล่านี้มักเคลื่อนต่างไปจากคติเดิมจากจีนแผ่นดินใหญ่ โดยปรับไปตามสภาพแวดล้อมทางกายภาพและมีการผสมผสานวิถีของผู้คนในภูมิภาค จนเป็นลักษณะเฉพาะของวิถีคนไทยเชื้อสายจีนบางกอก และคนไทยเชื้อสายจีนตามภูมิภาคต่างๆในสยามประเทศ

ขอขอบคุณ

สุขาวดี จ.สระบุรี                                                                                                                                                      สถานีวิทยุ สวพ.91

การมากราบไหว้บรรพบุรุษที่สุสานในช่วงปลายปี ฤดู”ตังโจ่ย” มีผู้คนเดินทางมาสุสานไม่มาก สะดวกใจกับการเดินทาง สบายกายกับสภาพอากาศเย็นสบาย
บ้านเรือนชาวบ้านที่อยู่ใกล้สุสานโดยมีถนนเสมือนเป็นเส้นเขตแดนของมิติที่ต่างภพในทางสัญญะ นอกจากนี้ชาวบ้านยังมีส่วนช่วยดูแลสุสานโดยเป็นรายได้เสริมได้อีกทาง
สภาพแวดล้อมของสุสานมีสภาพแวดล้อมโดยรวมเป็นที่ราบเชิงเขา ด้านหลังอิงกับภูเขา
สภาพการจราจรหนาแน่นในการเดินทางช่วงเทศกาลเชงเม้งในปีพ.ศ. ๒๕๖๒ ก่อนวิกฤตการณ์ “โควิด 19”
ภาพ: สวพ.91