เอกภาพของ ๒ วัฒนธรรมในอาณาบริเวณวัดพระพุทธบาทฯ จังหวัดสระบุรี

สวรรค์ ตั้งตรงสิทธิกุล

ช่วงเทศกาลตรุษจีนของทุกปี จะตรงกับงานนมัสการรอยพระพุทธบาท ที่วัดพระพุทธบาทราชวรมหาวิหาร จังหวัดสระบุรี ผู้คนจำนวนมากมักเดินทางมาเพื่อนมัสการรอยพระพุทธบาทมาเป็นเวลานานแล้ว ในอาณาบริเวณพื้นที่ดังกล่าวพบพุทธสถานหลายแห่งตั้งอยู่รายรอบพระพุทธบาทที่มีรูปแบบศิลปะไทย และมีพุทธสถานจีน(ในรูปแบบศิลปะจีน)ตั้งอยู่รายรอบพื้นที่ของวัดพระพุทธบาทฯเช่นเดียวกัน

          การสร้างเรือน(อาคาร)ทรงมณฑปครอบ“รอยพระพุทธบาท”แห่งนี้เกิดขึ้นครั้งแรกตั้งแต่สมัย“พระเจ้าทรงธรรม”(กษัตริย์กรุงศรีอยุธยาแห่งราชวงศ์พระร่วงทรงสร้าง พ.ศ.๒๑๖๗ )เพื่อเป็นหมุดหมายสำคัญในการแสดง”พื้นที่ศักดิ์สิทธิ์”ตามคติและความเชื่อเรื่องการเสด็จมาของพระพุทธเจ้าสมณโคดม(พระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบัน)และทรงประทับรอยพระบาทไว้บนยอดเขาสุวรรณบรรพต อันเป็น ๑ ใน ๕ ของสถานที่ประทับรอยพระบาทของพระพุทธเจ้าที่อยู่ในขัณฑสีมาของกรุงศรีอยุธยา ณ เวลานั้น ต่อมาสถานที่นี้ได้พัฒนาการไปเป็น พระอารามหลวง ชั้นเอก ชนิดราชวรมหาวิหาร ที่ตั้งอยู่นอกเขตกรุงเทพฯ สิ่งนี้แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของรอยพระพุทธบาทแห่งนี้ที่การสืบเนื่องจนมาถึงปัจจุบันคือ สมัยรัตนโกสินทร์

          ในปัจจุบันจึงพบเสนาสนะเพิ่มมากขึ้นเป็นลำดับ อาทิ โบสถ์ วิหาร ตำหนัก เจดีย์ พระพุทธรูป ฯลฯ สิ่งเหล่านี้ส่วนใหญ่มีรูปแบบศิลปะไทยแบบอยุธยาและรัตนโกสินทร์ นอกจากนี้ยังพบพุทธสถานในรูปแบบศิลปะจีนซึ่งอยู่ในวัดพระพุทธบาทสระบุรีด้วยเช่นกัน อาทิ ศาลเจ้าจีน โรงเจ(เจตึ๊ง) ซึ่งมีทั้งโรงเจเก่าและโรงเจใหม่ที่ตั้งอยู่คนละฝั่งถนนสุวรรณประสาท โรงเจท้ายพิกุลซึ่งตั้งติดกับพระตำหนักท้ายพิกุล ฯลฯ

นอกจากนี้ยังพบพุทธสถานอีกหลายแห่งที่ตั้งอยู่นอกพื้นที่ของวัดพระพุทธบาทสระบุรี ที่มีทั้งรูปแบบศิลปะไทยและศิลปะจีนภายในสถานที่เดียวกัน อาทิ ถ้ำประทุน ถ้ำระฆัง ถ้ำต้นจันทน์ ฯลฯ รวมถึงศาลนายพราน(บ่อพราน)ล้างเนื้อและศาลเจ้าพ่อเขาตก ซึ่งถือเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์สำคัญในระดับตำนานที่ผูกพันกับความเชื่อท้องถิ่นมาช้านานแล้ว และเมื่อพิจารณาภาพรวมของผังทางภูมิศาสตร์จะพบว่าพุทธสถานเหล่านี้เปรียบเหมือนมณฑลต่างๆที่ตั้งรายรอบวัดพระพุทธบาทซึ่งมีสถานะเป็นศูนย์กลางมณฑล

          การเกิดพุทธสถานจีนหลายแห่งรายรอบวัดพระพุทธบาทชี้ให้เห็นถึงความศรัทธาของชาวจีน(คือคนไทยเชื้อสายจีนในเวลาต่อมา)จากทุกสารทิศ รวมทั้งจากเมืองหลวงที่ได้ร่วมกันอุปถัมภ์ ค้ำชูพระพุทธศาสนาตามความศรัทธาบนพื้นฐานคติ ความเชื่อของตน โดยพบได้จากการสร้างสถาปัตยกรรมให้มีรูปแบบศิลปะจีนซึ่งมีความสัมพันธ์กับคติ “พุทธมหายาน” ทำให้เกิดการผสมผสานทางวัฒนธรรมผ่านรูปแบบศิลปกรรมที่ประดิษฐานอยู่ร่วมกันทั้งคติพุทธแบบ “เถรวาท” และ “มหายาน”ภายในพื้นที่ของวัดพระพุทธบาทฯ สระบุรี และอาณาบริเวณใกล้เคียง

         พุทธสถานเหล่านี้ล้วนมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ และแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ที่เหนียวแน่นผ่านคติ ความเชื่อที่อยู่ภายใต้บริบททางศาสนา ซึ่งถูกนำมาบูรณาการร่วมกันภายใต้ความศรัทธาของทุกกลุ่มชั้นทางสังคม ดังตัวอย่างที่ “ถ้ำประทุน” ซึ่งมีเจดีย์ศิลาทรงระฆัง ได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์ โดยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวในปี พ.ศ. ๒๔๐๓ และได้รับการดูแล รักษาจากผู้คนทั้งภายในและภายนอกจนถึงปัจจุบัน นอกจากนี้ยังพบศาลเจ้า โรงเจอีกหลายแห่งที่ได้รับการดูแล รักษาอย่างสืบเนื่องโดยผู้คนในท้องถิ่นและจากภายนอกเป็นเวลาหลายสิบปี บางแห่งเป็นเวลากว่าร้อยปี อาทิ ศาลเจ้าพ่อเขาตก(เก่า) ฯลฯ

          เมื่อพิจารณากลุ่มศิลปกรรมประเภทประติมากรรม พบว่ามีการนำพระพุทธรูปที่มีทั้งรูปแบบศิลปะไทยและศิลปะจีน โดยมีการนำมาประดิษฐานรวมอยู่ในพื้นที่เดียวกัน (Installation & Display) ดังตัวอย่างกลุ่มพระพุทธรูปในวิหารคลังล่าง(พระวิหารทางทิศตะวันออกของมณฑปพระพุทธบาท) กลุ่มพระพุทธรูปประธานในโรงเจเก่าและโรงเจใหม่ รวมถึงถ้ำประทุน และศาลเจ้าพ่อเขาตก ฯลฯ ที่อยู่นอกเขตพื้นที่ของวัดพระพุทธบาท ทว่าอยู่ในอาณาบริเวณพื้นที่ของภูเขากลุ่มเดียวกัน

          การผสมรูปแบบศิลปะไทย-จีน โดยการนำองค์ประกอบของศิลปะทั้งไทยและจีนมาผสมในชิ้นงานเดียวกัน และการนำชิ้นงานที่มีรูปแบบศิลปะรูปแบบหนึ่ง(อาทิ พระพุทธรูปศิลปะไทย) มาประดิษฐานในสภาพแวดล้อมที่มีองค์ประกอบทางศิลปะอีกรูปแบบหนึ่งคือศิลปะจีน ฯลฯ รูปแบบเหล่านี้เป็นลักษณะของการ “ประกอบสร้าง” ขึ้นมาใหม่ ซึ่งมีความสอดคล้องกับการประกอบพิธีกรรมต่างๆที่มีการผสมผสานทั้งสองคติ(ไทย-จีน) ทำให้เกิดเป็นแบบแผนรูปแบบใหม่และพัฒนาไปเป็นอัตลักษณ์เมื่อเวลาผ่านไปภายใต้บริบทของสังคมไทย

          วัดพระพุทธบาทสระบุรีและกลุ่มพุทธสถานโดยรอบ จึงเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างแสดงถึงวัดสำคัญนอกเขตกรุงเทพฯที่มีการผสมผสานทางวัฒนธรรมผ่านความเชื่อ ศรัทธา สิ่งเหล่านี้ยังชี้ให้เห็นถึงลักษณะภูมิวัฒนธรรมซึ่งผู้คนในสังคมต่างแสดงออกผ่านงานศิลปะและสถาปัตยกรรมจนเป็นเอกภาพที่เห็นชินตาในพุทธสถานสำคัญหลายแห่งในประเทศไทย

รายการอ้างอิง

ไชยรัตน์ เจริญสินโอฬาร. วาทกรรมการพัฒนา: อำนาจ ความรู้ ความจริง เอกลักษณ์ และความเป็นอื่น. กรุงเทพฯ: วิภาษา. ๒๕๖๐.

ถาวร สิกขโกศล. เทศกาลจีนและการเซ่นไหว้. กรุงเทพฯ: มติชน. ๒๕๕๗.

พรพรรณ จันทโรนานนท์. วิถีจีน. กรุงเทพฯ : ประพันธ์สาส์น, ๒๕๓๗.

ประชุมพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ ๔ หมวดปกิณกะ ภาค ๒ “ประกาศ เรื่องพระสถูปเจดีย์ศิลาที่ทรงสถาปนาขึ้นไว้ ณ ถ้ำประทุน”.

ศรีศักร วัลลิโภดม. ความหมายของภูมิวัฒนธรรม การศึกษาจากภายในและสำนึกของท้องถิ่น. กรุงเทพฯ: มูลนิธิเล็ก – ประไพ วิริยะพันธุ์. ๒๕๕๑.

สวรรค์ ตั้งตรงสิทธิกุล. วิถีไทย เอกภาพที่หลากหลาย. ศิลปวัฒนธรรม, กรกฎาคม ๒๕๔๒.

สันติ เล็กสุขุม. ข้อมูลกับมุมมอง: ศิลปะรัตนโกสินทร์. กรุงเทพฯ:เมืองโบราณ, ๒๕๔๘.

สุรสิทธิ์ อมรวณิชศักดิ์. เจ้าพ่อเขาตก เทพารักษ์ไทยที่กลายเป็นเทพเจ้าจีน. นนทบุรี: ต้นฉบับ.๒๕๖๑.

หลวงบริบาลบุรีภัณฑ์. พระพุทธบาทจังหวัดสระบุรี. พระนคร: โรงพิมพ์พระจันทร์. ๒๕๐๔.

ขอขอบคุณ

วัดพระพุทธบาทราชวรมหาวิหาร จ.สระบุรี

โรงเจเก่าและโรงเจใหม่ วัดพระพุทธบาทฯ จ.สระบุรี

ภาพประกอบ

ภาพจากดาวเทียม จะพบว่ากลุ่มพุทธสถาน ๒ วัฒนธรรมตั้งอยู่รายล้อมมณฑปพระพุทธบาท โดยมีรอยพระพุทธบาทตั้งอยู่ภายในพุทธสถานเหล่านี้

ปรับปรุงภาพจาก กูเกิ้ลแมพ

ภาพทางอากาศ แสดงให้เห็นถึงพื้นที่ของโรงเจเก่า(เหล่าเจตึ๊ง) มีการวางผังตามแนวคิดสมมาตรแบบสถาปัตยกรรมจีน โดยการแก้ปัญหาพื้นที่รูปร่างสามเหลี่ยมให้คงความเป็นระเบียบด้วยระบบผังสี่เหลี่ยม(เท่าที่จะเป็นไปได้) ตลอดจนสร้างแนวแกนจากอาคารประธานออกไปสู่ลานที่มีศาลเทพยดาฟ้าดิน ไปสู่ต้นไม้ศักดิ์สิทธิ์ในคติ ความเชื่อแบบไทย

มุมมองปกติตามแนวแกนจากภายในอาคารประธานออกมาสู่ลานภายนอก ตรงกับศาลเทพยดาฟ้าดินในรูปแบบศิลปะจีน โดยมีต้นไม้ใหญ่(ต้นไม้ศักดิ์สิทธิ์)เป็นฉากหลังในแกนเดียวกัน

ภาพภายในอาคารประธานของโรงเจเก่า แสดงให้เห็นการประดิษฐานกลุ่มพระพุทธรูปในงานศิลปะไทยตั้งอยู่ตรงกลางแนวแกนหลักของโรงเจ โดยมีองค์เทพและองค์พระโพธิสัตว์ในคติจีนขนาบอยู่ทั้งสองด้าน

ภาพแสดงกลุ่มพระประธานที่มีรูปแบบศิลปะไทย มีการตกแต่งสภาพแวดล้อมภายในให้เป็นรูปแบบศิลปะจีน(รวมถึงอักษรและลวดลายแบบจีน) ด้านล่างของเรือนปราสาทยังประดิษฐานเทพแห่งผืนดิน(ตีจู่เอี้ย)ตามคติจีน ทำให้เห็นถึงการผสมผสาน ๒ คติ ความเชื่อผ่านรูปแบบศิลปะในพืนที่เดียวกัน

ส่วนของ “เครื่องยอดของเรือนทรงปราสาท” ในโรงเจใหม่ จะพบองค์ประกอบศิลปะโดยรวมในรูปแบบศิลปะจีน ทว่า ส่วนกรวยแหลมกลับมีรูปแบบของ”ปล้องฉไน” ซึ่งเป็นรูปแบบของยอดเจดีย์ที่พบในศิลปสถาปัตยกรรมไทย

ภาพบรรยากาศภายในโรงเจใหม่ มีการใช้สีและตกแต่งด้วยป้ายผ้าและโคมพร้อมตัวอักษรและลวดลายแบบจีน มีการประดิษฐานพระประธานที่เป็นพุทธศิลปไทย ขนาบด้วยพระพุทธรูปและพระโพธิสัตว์ในรูปแบบศิลปะจีน

พระประธานศิลปะอยุธยาในโรงเจใหม่ แสดงให้เห็นการผสมผสานทางรูปแบบศิลปะที่มีการ”ประกอบสร้าง”โดยการคงพระประธานที่เป็นศิลปะไทยให้เป็นจุดหมายตา และใช้องค์ประกอบเนื่องในงานศิลปะจีนประกอบเข้ากับระนาบต่างๆอาทิ ผนังฉากหลัง โคมห้อยจากเพดาน ป้ายตัวอักษร ฯลฯ ทำให้เกิดบรรยากาศของสภาพแวดล้อมที่กลมกลืนเป็นเอกภาพร่วมกัน

ภาพแสดงด้านหน้าทางเข้าถ้ำประทุน มีเทพในคติจีนและ แท่นฐานในรูปแบบศิลปะจีน รายล้อมด้วยทิวเสากลมที่มีบัวหัวเสาแบบศิลปะไทย ทว่ามีอักษรจีนกำกับทุกเสา

บรรยากาศแสดงสภาพแวดล้อมปากทางเข้าถ้ำประทุน(อีกด้านหนึ่ง) มีการประดิษฐานพระพุทธเจ้า ๓ องค์ในคติพุทธมหายานรูปแบบศิลปะจีน

เจดีย์ศิลาภายในถ้ำประทุน ทรงบูรณปฏิสังขรณ์โดยรัชกาลที่ ๔ ซึ่งมีรูปแบบศิลปะไทย(เป็นรูปแบบที่สืบเนื่องมาจากศิลปะลังกา) เมื่อผู้คนเดินทางเข้ามากราบไหว้ตั้งแต่ปากถ้ำจะสามารถซึมซับรูปแบบพุทธศิลปอันมีที่มาจากคติพุทธมหายาน และเถรวาทที่ตั้งอยู่ร่วมกันในพื้นที่ของถ้ำ

ภาพแสดงพระประธานในบริเวณถ้ำต้นจันทร์ มีการประดิษฐานพระประธานในศิลปะไทย โดยตกแต่งประกอบสร้างด้วย ป้าย รูปภาพ โคมห้อย ฯลฯ ซึ่งทั้งหมดเป็นรูปแบบศิลปะจีน ทำให้เกิดมุมมองใหม่ที่ปัจจุบันรู้สึกคุ้นเคย เป็นหนึ่งเดียว

บริเวณทางเข้าศาลเจ้าพ่อเขาตก(ศาลเก่า) มีการจารึกรายนามผู้อุปถัมภ์(เส้นวงเมฆสีขาว) ซึ่งส่วนใหญ่พบว่ามาจากผู้คนในจังหวัดสระบุรี รวมถึงกรุงเทพฯและปริมณฑล

สภาพแวดล้อมภายในศาลเจ้าพ่อเขาตก(ศาลเก่า) องค์ประธานคือเจ้าพ่อเขาตกในชุดทรงรูปแบบศิลปะไทย(ศิลปะลพบุรี) โดยมีสภาพแวดล้อมภายในสีแดงตามรูปลักษณ์ดั้งเดิมในงานศิลปสถาปัตยกรรมจีน

สภาพแวดล้อมศาลเจ้าพ่อเขาตก(ศาลใหม่) องค์เจ้าพ่อเขาตกประดิษฐานตามแกนกลางของศาลด้วยรูปแบบศิลปะไทย(ศิลปะลพบุรี) โดยมีสภาพแวดล้อมภายในศาลเป็นองค์ประกอบของศิลปะจีนสมัยใหม่ตามช่วงเวลาของการก่อสร้างที่ใหม่กว่าศาลเดิม