วาด: ประปาแม้นศรี จากงาน Bangkok Design Week

ฅน บางกอก

๑๒/๐๒/๒๕๖๖

 

…..Bangkok Design Week 2023 ปีนี้มีการจัดงานกระจายออกไปหลายที่ แต่ละที่ก็มีจุดเด่นและความน่าสนใจแตกต่างกันไป เมื่อหลายวันก่อนได้เข้าไปเดินดูส่วนของพื้นที่จัดงานในการประปาแม้นศรี (ตั้งอยู่แยกแม้นศรี หัวมุมถนนบำรุงเมืองตัดกับถนนวรจักร) ว่าไปพื้นที่ตรงนี้มีเสน่ห์มาก เพราะมีอาคารเหมือนหอคอยคู่เพื่อใช้เป็นถังกักเก็บน้ำประปาที่มีความสูงใหญ่ ตระหง่านตา และอวดรูปทรง โครงสร้างเช่น เสา คาน พื้น ได้อย่างน่าสนใจเลยทีเดียว

 

…..นอกจากหอพักน้ำขนาดใหญ่แล้ว ในบริเวณพื้นที่ของการประปาแม้นศรียังมีตัวอาคารที่มีความสวยงามด้วยการประยุกต์รูปแบบมาจากศิลปสถาปัตยกรรมตะวันตกที่มีความน่าสนใจด้วยเช่นกัน (เดี๋ยวจะมาเล่าให้ฟัง ถ้าไม่ลืม😆😎 ) เดินดูแล้ว บอกได้เลยว่าบริเวณที่ตั้งและสิ่งปลูกสร้างต่างๆโดยรอบของประปาแม้นศรีเป็นองค์ประกอบสำคัญแห่งหนึ่งของเมืองที่สามารถแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ต่อการขยายตัวของกรุงเทพฯหลังจากผ่านช่วงเวลา ๑๐๐ ปีแรกมาแล้ว

 

…..หากนับย้อนเวลากลับไปก่อนที่จะมีการประปาแม้นศรี ในหลวงรัชกาลที่ ๔ ได้ขยายเมืองออกมาจากพื้นที่สมัยแรกตั้งกรุงเพียงสุดเขตที่คลองรอบกรุงออกมาถึงขอบเขตพื้นที่ภายในของคลองผดุงกรุงเกษม และคงให้เสาชิงช้าเป็นหมุดหมายแสดงความเป็นศูนย์กลางเมืองสำหรับผู้คนในพระนครเช่นเดิม  โดยมีการกำหนดให้พื้นที่แรกตั้งประปาแม้นศรีเป็นหนึ่งในหมุดหมายสำคัญแห่งใหม่ที่แสดงถึงความเจริญทางกายภาพของเมืองมาตั้งแต่สมัยในหลวงรัชกาลที่ ๕ เป็นต้นมา และมีการเปิดใช้งานการประปาแห่งนี้ในสมัยรัชกาลที่ ๖

 

…..หากลองหลับตานึกภาพตอนที่หอพักน้ำ ๒ หลังนี้เสร็จใหม่ๆ หอพักน้ำคู่นี้น่าจะเป็นนวัตกรรมที่แสดงถึงความทันสมัยมากๆ โดยมีขนาดและความสูงใหญ่รวมถึงรูปร่างหน้าตาที่ดูแปลกๆ (ของผู้คนในสมัยนั้น) และเริ่มมีความคุ้นชินเมื่อเวลาผ่านไป หอพักน้ำคู่นี้ก็ได้กลายเป็นเอกลักษณ์ประจำย่านนี้ไปโดยปริยาย  และหากมาดูในด้านความสูงก็น่าจะเป็นอันดับสองรองจาก (บรมบรรพต) ภูเขาทองที่ตั้งอยู่ไม่ไกลกัน

 

…..หลังจากงาน “บางกอกดีไซน์วีค 2023” พื้นที่นี้ควรจะถูกยกระดับให้เป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาเมืองที่ “สมน้ำ สมเนื้อ” กับที่มาและความสำคัญของกรุงเทพฯที่เริ่มมีการผลิตและใช้น้ำประปาจากสถานที่แห่งนี้เป็นครั้งแรกในสยามประเทศ  อาคารและสถานที่ของการประปาแม้นศรีจึงควรเป็นแหล่งเรียนรู้เรื่องราวต่างๆของเมืองหลวงที่มีความสัมพันธ์กับความเป็นมาของผู้คนและชุมชนบริเวณนี้ เช่นการพัฒนาเป็นแหล่งการค้าสำคัญของเมือง อาทิ คลองถม ร้านอะไหล่ยนต์ โรงไม้ ฯลฯ

 

…..นอกจากนี้ยังมีป้อมมหากาฬ ที่ถือเป็นป้อมสำคัญของพระนครที่ยังคงหลักฐานให้เห็นอยู่  รวมถึง วัด วัง โรงเรียน ฯลฯ รวมถึงร้านสังฆภัณฑ์ที่มีความสัมพันธ์กับแหล่งผลิตบาตรพระที่ยังมีความเป็นชุมชนมาถึงทุกวันนี้ เป็นต้น  พื้นที่บริเวณนี้ยังมีหลายสิ่งน่าสนใจ และควรจัดให้เป็นต้นแบบของการเป็นแหล่งเรียนรู้แบบสบายชิลที่แฝงด้วยสาระความรู้ได้ดีเลยทีเดียว

 

…..เพื่อนๆ มิตรสหาย มีความคิดเห็นกันอย่างไรกับพื้นที่และสิ่งปลูกสร้างในประปาแม้นศรีบ้าง  ช่วยส่งเสียงหรือกระซิบมาให้ฟังโหน่ยนะ หากมีโอกาสจะได้ไปบอกคนอื่นๆหรือคนที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเมืองต่อไปได้อีก  ฝันที่เป็นจริงจะเกิดขึ้นได้ต้องเริ่มจากการส่งเสียง บอกกล่าวในสิ่งที่สร้างสรรค์เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนต่อไป