เดินไป วาดไป ณ เมิงน่าน: คุ้มเจ้าราชบุตร(หมอกฟ้า ณ น่าน)

        ฅน บางกอก

๑๙ พฤศจิกายน ๒๕๖๔

         มา “น่าน” ก็หลายครั้ง สัญจรไปมาผ่านคุ้มเจ้าราชบุตรฯก็หลายคราว ยังไม่มีโอกาสเข้าไปเยี่ยมเยือนเลย ได้แต่ชะโงกมองอยู่ด้านนอกเพราะประตูรั้วของคุ้มปิดบ้าง บางครั้งก็ได้แต่นั่งมองอยู่บนรถเพราะมีภารกิจอื่นที่ต้องไปตามโพยที่มีอยู่แล้วบ้าง ฯลฯ

ครั้งนี้ ความตั้งใจแรกว่าจะเดินไปวัดสวนตาลก่อน แบบว่าสองมือล้วงกระเป๋า สองเท้าก้าวย่างไปที่ไกลก่อนแบบยุทธศาสตร์ป่าล้อมเมืองไรงี้ แต่พอเดินผ่านคุ้มฯครั้งนี้ มีเวลาค่อยๆเลียบๆ มองๆแบบ “ได้เหลี่ยม ได้มุม” ตัวเรือนฉายความงามอยู่ภายในร่มไม้ ขาที่ก้าวอยู่ก็หยุดเฉยเลย มาหยุดเวลาเพื่อเสพความงามสักแป๊บ (แต่ หลังจากได้คุยกับ“คุณลุง” และ “เจ้าป้าสมปรารถนา”ก็ยาวไปถึงเที่ยง 😄😄)

ภาพนี้วาดอยู่นอกรั้วกำแพงของคุ้ม เพราะยังเดินไปไม่ถึงรั้วประตูทางเข้า และยังไม่ค่อยแน่ใจว่าจะเข้าไปได้ไม๊ เลยถือเอาภาพนี้เปิดทริปเป็นปฐมฤกษ์ เพื่อความเป็นมงคล ขอท่านเจ้าเมืองช่วยอำนวยพร 🙏 อืม คาดว่าที่กำแพงคุ้มไม่สูงนัก แต่กลับพอดิบพอดีกับการยืนวาดรูปแบบสบายๆ ตามหลัก Human Scale 😃😆😀 สาเหตุนึงก็น่าจะมาจากการ“ถมถนน ยกฟุตบาท”ในภายหลัง ฯลฯ

ความประทับใจของเรือนหลังนี้ มุมนี้ อยู่ที่รูปทรงหลังคาที่มีความโดดเด่น ไม่เพียงแต่ความงามที่เป็นลักษณะเฉพาะของทรงหลังคาแบบ “จั่วผสมปั้นหยา(Hip-Gable)” ที่ได้รับความนิยมในเรือนของผู้มีฐานะของผู้คนในเมืองเหนือแล้ว เรือนหลังนี้ยังมีการพัฒนารูปแบบของทรงหลังคาโดยการยื่นชายคาด้านยาวให้ลาดต่ำลงมามากกว่าด้านสกัดอีกด้วย เพื่อป้องกันแดด ฝน ฯลฯ ให้มากขึ้น

ผลของการยืดชายคาด้านยาวตามที่เล่ามา ทำให้มุมมองแบบ ๓ มิติ(ตามภาพวาด) หรือเวลามองทางด้านสกัดของเรือน(ฝาผนังด้านที่ตรงกับแนวจั่วหรือด้านแคบของเรือน) ยังคงเห็นเนื้อของกระเบื้องตามรูปทรงหลังคาแบบ“Hip-Gable” แต่มีการยื่นปั้นลมส่วนที่ปลายทั้งสองข้างของชายคาโดยไม่มีกระเบื้องมุง(เหมือนขาที่กางออก อาจเรียกเป็นเชิงชายก็ได้) เพื่อไม่ให้เรือนด้านนี้มืดครึ้มเกินไป อีกทั้งช่วยระบายอากาศได้ดี ไม่ให้ภายในเรือนอับชื้นได้ด้วย

วาดรูปเสร็จ ทำให้รู้สึกว่าทรงหลังคาของเรือนหลังนี้เป็นการผสมผสานรูปแบบหลังคาที่ไม่ใช่แค่สองรูปแบบคือ “Hip-Gable” ตามที่เล่ามาตอนต้นเท่านั้น แต่กลับมีการยื่นชายคาด้านยาวของเรือนให้มากกว่าด้านสกัด เลยทำให้หน้าตาของเรือนหลังนี้มี “กลิ่นอาย”ของทรงหลังคาแบบ “Jerkinhead” หรือแนว “Half-Hipped”เพิ่มเข้ามาด้วย กลิ่นอายที่ว่ามาจากลักษณะเด่นตรงที่ปลายยอดของจั่วจะปาดหรือตัดเฉียงขึ้นไปหา“อกไก่”(โครงสร้างหลักของสันหลังคา) ทำให้สันหลังคามีความยาวที่สั้นลงกว่าปกติ แต่รูปแบบกลิ่นอายที่สาม กลับแทรกอยู่ตรงกลางระหว่าง “Hip-Gable” ซะงั้น สุโก้ยโดยแท้ 👏🤩👍😍

ดังนั้น หากมองในเชิงคุณค่าความงามทางรูปแบบหลังคาแล้ว เรือนหลังนี้มีการผสมผสานทรงหลังคา(Hybrid) ถึง ๓ รูปแบบคือ จั่ว(Gable) จั่วตัดแนวเฉียง(Jerkinhead) และปั้นหยา(Hip) โดยผสมผสานให้มีพื้นที่ลาดส่วนชายคา(เชิงชาย)ด้านสกัดสั้นกว่าด้านยาว(คล้ายกับการตัดเหลี่ยมที่ส่วนปลายของหลังคา) เพื่อให้ผนังด้านนี้ได้รับแสงแดดและลมมากขึ้น ทำให้เรือนมีความโปร่ง ภายในเรือนมีความสว่าง และระบายอากาศได้ดีมากขึ้น

นอกจากเหตุผลด้านการใช้งาน(Function)แล้ว รูปแบบของทรงหลังคายังเพิ่มเสน่ห์ให้กับเรือนหลังนี้ให้มีความสวยงามมากขึ้นเลยทีเดียว นี่ยังไม่รวมถึงลายไม้แกะ ไม้ฉลุ การจัดสรรพื้นที่ใช้งาน(Space) ทั้งส่วนในร่มและส่วนโล่งแจ้งโดยใช้ “ชานแดด”แล่นเชื่อมพื้นที่ใช้งานต่างๆ เป็นต้น เหล่านี้ล้วนแสดงให้เห็นถึงคุณค่า ความงามทางศิลปะและสถาปัตยกรรมของเรือนหลังนี้อีกมากมาย

กราบขอบพระคุณ: เจ้าป้าสมปรารถนา และคุณลุง(ลืมถามชื่อ 🙃🤓😌)

ภาพ: คุ้ม(เรือน)เจ้าราชบุตร ณ เมิงน่าน

ปากกาเมจิก(แท่งละ ๙ บาท) บนกระดาษไร้เส้น ขนาด A5

ระยะเวลาวาด ๕ นาที

ภาพโดย: ฅน บางกอก