เดินไป วาดไป ณ เมิงน่าน: วัดสวนตาล

ฅน บางกอก

๒๔ พฤศจิกายน ๒๕๖๔

          กว่าจะได้เดินมาถึงวัดสวนตาลก็ราวบ่ายคล้อยมาเย็น ระหว่างทางก่อนถึงวัดเห็นชาวบ้านเริ่มมาตั้งแผงร้านรวงตามถนนรายทาง เพื่อเตรียมแปรสภาพเป็นตลาดคึกคักยามเย็นยันค่ำ ตลาดนี้นอกจากจะมีร้านอาหาร ร้านน้ำ ขนม ฯลฯ อร่อยแล้ว ชอบตรงบรรยากาศโดยรวมที่มีแสงสีคล้ายๆงานวัด เพราะมีทั้งสีสันจากป้ายร้านและแสงนีออนหลากสี ใครชอบบรรยากาศแนว“งานวัด” ตลาดนี้“ต้องห้ามพลาด”

“วัดสวนตาล”เป็นหนึ่งในวัดที่มีความสำคัญกับเมืองน่านในหลายมิติ และมีเรื่องราวน่าสนใจหลายสิ่ง ทั้งเรื่องราวที่เป็นข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ และเรื่องเล่าปรัมปราคติที่เชื่อมโยงข้อเท็จจริงได้น่าสนใจ “สายเชื่อ” ชอบแน่นอน แต่ที่จะมาเล่าตอนนี้คือ เจดีย์ประธานของวัด ซึ่งมีคุณค่าทางด้านรูปแบบศิลปะ สถาปัตยกรรมที่ผ่านกาลเวลามานานหลายร้อยปีนับจากแรกสร้างเลยทีเดียว

แรกเริ่ม เดิมที เจดีย์องค์นี้มีรูปแบบเป็นทรง “พุ่มข้าวบิณฑ์” หรือทรงดอกบัวตูมตามแบบศิลปะสุโขทัย สร้างราวปี พ.ศ. ๑๙๕๕ ตรงกับสมัยที่ “พญาภูเข็ง” ครองเมืองน่าน สอดคล้องกับช่วงเวลาที่ “พระมหาธรรมราชาที่ ๓” (พญาไสลือไท แห่งราชวงศ์พระร่วง) ยกทัพเพื่อจะไปยึดเมืองพะเยา เชียงราย ฝาง จากรัฐล้านนาในสมัยของ “พญาสามฝั่งแกน” แห่งเมืองเชียงใหม่ ช่วงเวลานั้นเมืองน่านเป็นพันธมิตรกับรัฐสุโขทัย จึงเป็นไปได้ว่าพญาไสลือไท น่าจะให้สร้างพระธาตุนี้ขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์ แวดล้อมด้วยสวน(ป่า)ตาล ซึ่งเป็นแนวคิดเดียวกับความนิยมมีพื้นที่สวน(ป่า)ตาลในลักษณะเดียวกับรัฐสุโขทัย

ความตั้งใจแรกที่กลับมาวัดสวนตาลครั้งนี้ ว่าจะเก็บข้อมูลเจดีย์แบบมุมสูงที่ซ่อมสร้างใหม่ในปี พ.ศ.๒๔๕๗ (ราวร้อยปีเศษมานี้) โดยพระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดช(เจ้าสุริย ณ น่าน หรือพระเจ้าน่าน องค์ที่ ๖๓ นับแต่ราชวงศ์ภูคา) ที่น่าสนใจอีกอย่างคือวัดนี้เป็นหนึ่งในวัดสำคัญที่ช่วยสร้างเสน่ห์ทางด้านภูมิทัศน์ของเมืองน่านจากอดีตจนถึงทุกวันนี้อีกด้วย เพราะเจดีย์องค์นี้ยังคงแลเห็นเด่นสง่าแต่ไกลตั้งแต่ในเขตกลางเมือง ยิ่งถ้าเดินทางมาตามถนน“ผากอง” เจดีย์ของวัดสวนตาลจะมีความโดดเด่นลอยให้เห็นอยู่แต่ไกล เจดีย์นี้จึงถือเป็นภูมิสัญลักษณ์ (Landmark) สำคัญทางทิศเหนือที่ตั้งอยู่นอกกำแพงเมืองน่านมาตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๒๐ เลยทีเดียว

ภาพนี้ เอาจริงๆแรกๆไม่ได้ตั้งใจจะวาด เพราะหลังจากเข้าไปกราบไหว้ พร้อมฟินน์กับความงามของพระเจ้าทองทิพย์(พระประธาน)และองค์ประกอบอื่นๆในวิหาร พอออกมาจากวิหารก็เย็นมากแล้ว เดินรอบเจดีย์และกำลังจะเดินกลับ จำได้ว่ามุมนี้เคยคิดจะวาดเมื่อหลายปีก่อน ตอนนั้นยืนเม้ากับอาจารย์อีกคนพร้อมกับนักศึกษาเรื่องเจดีย์องค์นี้ คุยไปคุยมา(เรื่องวัดสวนตาลนนี่แระ ) สุดท้ายก็ไม่ได้วาด รุสึกว่าจะต้องไปแพร่หรือพะเยาต่อนี่แหละ พอกลับมามองที่เดิม มุมเดิม เจดีย์องค์นี้ก็ยังมีความงามแบบ“คงเอกลัษณ์”เช่นเดิม

ที่รู้สึกแบบนี้ เพราะเจดีย์มีชุดฐานขนาดใหญ่ แต่ลดทรวดทรงขึ้นไปให้สูงเพรียวได้สัดส่วน โดยทั่วไปเจดีย์มีองค์ประกอบ ๓ ส่วน: ส่วนฐาน(ในภาพเห็นเพียงนิดเดียวตรงล่างซ้ายของภาพ) ส่วนกลาง(เป็นเรือนธาตุ ที่มีหลังคาจั่วซ้อนชั้น) และส่วนบน มีองค์ประกอบของเรือนธาตุขนาดย่อมซ้อนด้วยชุดระฆังและยอดทรงแท่งแบบปรางค์(นักวิชาการบางท่าน นับเรือนธาตุชุดบนเป็นส่วนกลาง) ที่น่าสนใจสุดคือ เหนือเรือนธาตุชุดบนเป็นองค์ระฆังพร้อมบัวคอเสื้อ ขนาบด้วยยอดทรงแท่งขนาดเล็ก(สถูปิกะ)ทั้ง ๔ ทิศ เหนือบัวคอเสื้อต่อด้วยบัลลังก์ในผังกลม ที่จ๊าบสุดคือ มีการจบงานส่วนยอดด้วย “ยอดทรงแท่ง” ซึ่งเป็นลักษณะขององค์ประกอบชุดปรางค์ที่นิยมสร้างในสมัยต้นรัตนฯ พูดง่ายๆคือ เป็นทรง“ระฆังยอดปรางค์” เฉยเลย

คิดเล่นๆในฐานะสถาปนิก อยากเดาว่านายช่างที่ออกแบบเจดีย์ เพื่อสร้างครอบเจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์เดิม คงได้รับออเด้อจากเจ้าของโปรเจกต์ ให้ใส่รูปแบบต่างๆขององค์ประกอบศิลปสถาปัตยกรรมที่ท่านชื่นชอบ หรือ แต่ละองค์ประกอบที่ว่ายังน่าจะเป็นที่นิยมในช่วงเวลานั้น ฯลฯ แล้วนำมายำเพื่อประกอบเข้าไปใหม่(Synthesis) แบบรวมมิตรเป็น“ออลอินวัน”ไรงี้ เจดีย์องค์นี้จึงเป็นนวัตกรรมที่จัดเป็นรูปแบบใหม่ แปลกตา“มาก” จากช่วงเวลานั้นจนมาถึงบัดนี้

เล่ามาตั้งนาน ใช้เวลาวาดจริงก็ไม่ค่อยนาน เพราะวาดไปก็ต้องปัดยุงไป อยากค่อยๆวาดให้นานกว่านี้ เพราะชอบในความ“ใจถึง”ของเจ้าของโครงการกับนายช่างอาคิเต็คจริงๆ ขอคาราวะในความคิดสร้างสรรค์ ที่กล้าออกจาก“ขนบ” โดยมีความรู้ ความเข้าใจเรื่องคุณค่าความงาม และหากมองลึกเข้าไปในคุณค่าความงาม ก็เชื่อว่าทุกองค์ประกอบที่เล่ามา ก็น่าจะมี“ที่มา ที่ไป”อย่างแน่นอน

ภาพ: เจดีย์วัดสวนตาล ณ เมิงน่าน

ปากกาเมจิก(แท่งเดิม ) บนกระดาษไร้เส้น ขนาด A5

ระยะเวลาวาด ๑๒ นาที