“Shin Ohashi” สะพานที่เชื่อมศิลปะ-วัฒนธรรมผ่านกาลเวลากลางกรุงโตเกียว

กรุงโตเกียวตั้งอยู่ไม่ไกลจากปากอ่าว(โตเกียว) มีลำน้ำหลายสายไหลผ่านเมืองเพื่อเชื่อมเส้นทางสัญจร โดยมี“สะพาน” ทำหน้าที่เชื่อมเส้นทางสัญจรทางบก ในอดีตที่ตั้งของเมือง “โตเกียว” มีชื่อว่า “เอโดะ” (Edo) เป็นเมืองที่ตั้งขึ้นในช่วงเวลาร่วมสมัยอยุธยาตอนกลาง “เอโดะ” จึงเป็นชื่อเรียกของเมืองและแทนความหมายถึงยุคสมัยหนึ่งของกรุงโตเกียวด้วย

หนึ่งในลำน้ำสำคัญของเมือง“เอโดะ” มีชื่อว่า“แม่น้ำสุมิดะ”(Sumida R.) ซึ่งเปรียบเหมือนเส้นเลือดสำคัญมาตั้งแต่แรกตั้งเมือง และหนึ่งในสะพานสำคัญที่มีบันทึกการสร้างมาตั้งแต่ พศ.๒๒๓๖ คือ“สะพานชินโอฮาชิ”(Shin Ohashi B.) สะพานนี้ครั้งหนึ่งเคยช่วยให้ผู้คนได้ข้ามแม่น้ำเพื่อหนีอุบัติภัยแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ที่เรียกว่า “Great Kanto Earthquake” ในปีพ.ศ. ๒๔๖๖ อีกด้วย

สะพาน“ชินโอฮาชิ”เป็นที่รู้จักกันในแวดวง นักประวัติศาสตร์ ศิลปะ สถาปัตยกรรมที่สนใจเรื่องราวของ “เอโดะ” ผ่านสะพานแห่งนี้เป็นอย่างดี ดังตัวอย่างในช่วงสมัยที่ศิลปะแนว “อิมเพรสชั่นนิสต์” กำลังได้รับความนิยมในช่วงเวลานั้น มีชาวตะวันตกเดินทางเข้ามาติดต่อค้าขายในเมืองเอโดะจำนวนมาก จึงพบสินค้าต่างๆจาก “เอโดะ” ถูกส่งไปที่เมืองต่างๆในยุโรป รวมถึงภาพวาด “สะพานชินโอฮาชิ” โดยศิลปินชาวญี่ปุ่นชื่อ“ฮิโรชิเงะ”(Hiroshige) ซึ่งเป็นภาพแสดงบรรยากาศของเมือง “เอโดะ” ในภาพแสดงให้เห็นผู้คนกำลังสัญจรอยู่บนสะพานเพื่อข้าม“แม่น้ำสุมิดะ”ท่ามกลางสายฝนที่กำลังโปรยปราย

ภาพดังกล่าวมีชื่อว่า “Sudden Shower over Shin-Ohashi bridge and Atake” เป็นจิตรกรรมในเทคนิค “ภาพพิมพ์แกะไม้” (woodblock print) ซึ่งเป็นผลงานในช่วงปลายสุดของพุทธศตวรรษที่ ๒๔ (ค.ศ.1857) และด้วยคุณลักษณะของจิตรกรรมประเภทนี้สามารถทำการผลิตซ้ำได้จำนวนมาก จึงทำให้ผลงานดังกล่าวถูกนำไปเผยแพร่หลายแห่งรวมถึงในแถบทวีปยุโรปและอเมริกา ฯลฯ รูปแบบของจิตรกรรมดังกล่าวนำมาซึ่งความประทับใจต่อผู้คนต่างภูมิภาคเหล่านี้ รวมถึงศิลปินผู้มีชื่อเสียงหลายท่าน อาทิ “แวนโกะ”(Vincent van Gogh) ฯลฯ

เมื่อเวลาผ่านไป หลักฐานจากภาพวาดในงานศิลปะชิ้นนี้ยังคงอยู่เพื่อแสดงให้เห็นเหตุการณ์และบรรยากาศของ “สะพานชินโอฮาชิ” ที่ใช้โครงสร้างไม้ขนาดใหญ่เชื่อมต่อกัน ดังเช่น ระบบคานพาดเสาให้ความรู้สึกถึงความแข็งแรงมั่นคง เพื่อต้านทานกับกระแสน้ำที่เชี่ยวกรากในฤดูน้ำหลาก ในขณะที่ปัจจุบันสะพานที่คงอยู่ในตำแหน่งเดิมได้เปลี่ยนไป โดยมีรูปแบบและจำนวนของวัสดุน้อยชิ้น แต่กลับมีขนาดใหญ่กว่าและมีความแข็งแรงมากกว่ารูปแบบเดิม สอดคล้องกับบรรยากาศของเมืองที่มีตึกรามบ้านช่องขนาดใหญ่เข้ามาแทนสภาพแวดล้อมเดิมที่มีฉากเป็นภูเขา ร่มไม้ สายน้ำ ฯลฯ ที่ให้ความรู้สึกถึงความโปร่ง โล่งเช่นในอดีต

ปัจจุบัน “สะพานชินโอฮาชิ” ยังคงทำหน้าที่เชื่อมทางสัญจรอันเป็นพื้นที่คมนาคมสำคัญ โดยมีความสัมพันธ์กับบริเวณพื้นที่ศูนย์กลางของเมือง เปรียบดังเช่นสะพานทำหน้าที่เชื่อมต่อสถานที่สำคัญต่างๆ ผ่าน “เรื่องราว-วันเวลา”จนถึงปัจจุบัน อาทิ ศาลเจ้าเมจิ พระราชวังอิมพีเรียล สนามกีฬาโตเกียวโอลิมปิค พิพิธภัณฑ์เมืองสมัยเอโดะ ฯลฯ องค์ประกอบต่างๆของเมืองเหล่านี้ล้วนตั้งอยู่ตามแนวเส้นละติจูดบริเวณเดียวกับสะพาน“ชินโอฮาชิ” ซึ่งมีระยะทางไม่ไกลจากกัน

แม้ว่า สะพาน“Shin Ohashi” จะเปลี่ยนแปลงไปทั้งรูปแบบและขนาด ทว่า ที่ตั้งของสะพานยังคงมีความสำคัญในการทำหน้าที่เชื่อมต่อสถานที่สำคัญต่างๆที่อยู่กลางใจเมือง ซึ่งมีสะพานเป็นตัวเชื่อมเรื่องราวในอดีตมาสู่ปัจจุบัน โดยมีหลักฐานบันทึกจากภาพ “ผลงานศิลปะ” และ “ภาพถ่าย” ที่แสดงถึง “การเชื่อมต่อทางวัฒนธรรม”ผ่านรูปแบบของสะพานที่แปรเปลี่ยนไปตามกาลเวลา

รายการอ้างอิง

the College Art Collections, University College London. “50 Impressions: Japanese Colour Woodblock Prints.” London: University College London. 1993.

https://commons.wikimedia.org/…/File:Shin-Ohashi_Bridge…

https://en.wikipedia.org/…/Sudden_Shower_over_Shin-%C5…

https://fineartamerica.com/…/sudden-shower-over-shin…

https://livejapan.com/…/in-ningyocho…/spot-lj0002100/

https://www.youtube.com/watch?v=NdPpLC0th64

แผนที่ แสดงความสัมพันธ์ของที่ตั้ง”สะพาน ชินโอฮาชิ” กับสถานที่สำคัญอื่นๆใน “เอโดะ” กรุงโตเกียว อาทิ พระราชวัง ศาลเจ้าประจำเมือง ฯลฯ
ตำแหน่งที่ตั้งของสะพานมีความสัมพันธ์โดยตรงกับสภาพทางภูมิศาสตร์ เปรียบเหมือนประตูเชื่อมสถานที่สำคัญกลางใจเมืองมาตั้งแต่อดีต และยังมีระยะทางใกล้กับอ่าวโตเกียว

ภาพ: ปรับปรุงภาพจาก Google Earth Pro

ภาพจิตรกรรม”ภาพพิมพ์แกะไม้”(woodblock print) ชื่อ “Sudden Shower over Shin-Ohashi bridge and Atake” โดย “ฮิโรชิเงะ”(Hiroshige) จิตรกรชาวญี่ปุ่น
ในภาพแสดงให้เห็นถึงรูปแบบและโครงสร้างของสะพานในสมัยนั้น และบรรยากาศขณะฝนตกลงมาเป็นสาย โดยใช้เทคนิคการแกะผิวของไม้เป็นเส้นประเพื่อเลียนแบบลักษณะของสายฝน ผลงานชิ้นนี้สร้างสรรค์ในปี พ.ศ.๒๔๐๐ (ค.ศ.1857)
รูปแบบของสะพานเป็นโครงสร้างไม้ขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นระบบคานพาดเสาเพื่อกระจายการรับน้ำหนักของตัวสะพาน
บรรยากาศโดยรอบของสะพาน แวดล้อมด้วยธรรมชาติแวดล้อม ซึ่งยังคงมีสิ่งปลูกสร้างไม่มากนัก
ภาพ: https://fineartamerica.com/…/sudden-shower-over-shin…

รูปแบบของสะพาน “ชินโอฮาชิ” ที่ตรงกับช่วงพ.ศ.๒๔๖๙(ค.ศ.1926) ตรงกับยุคเริ่มต้นของ”สมัยโชวะ” ตรงกับช่วงเวลาของ “สมัยใหม่” ในสังคมโลกที่มีการพัฒนาเมืองไปอย่างรวดเร็ว ซึ่งมีความนิยมใช้วัสดุประเภทโครงสร้างเหล็กมาประกอบสร้างสิ่งต่างๆให้เกิดรูปทรง โดยลดการตกแต่งรายละเอียดประเภทลวดลาย ฯลฯ
แนวคิดสมัยใหม่นี้ นอกจากจะทำให้สะพานมีความแข็งแรงกว่ารูปแบบของสะพานในสมัยที่ผ่านมาแล้ว ยังเป็นการแสดงถึงภาพลักษณ์ความทันสมัยของเมืองในช่วงเวลานั้นอีกด้วย
ภาพ: https://commons.wikimedia.org/…/File:Shin-Ohashi_Bridge…

รูปแบบของสะพาน “ชินโออาชิ” ในปัจจุบัน ที่ใช้โครงสร้างเหล็กขนาดใหญ่มาประกอบขึ้นรูป โดยมีการนำแนวคิด “เชือกสลิง”มาแขวนที่โครงสร้างของเสากับตัวสะพาน
ระบบโครงสร้างลักษณะนี้ ทำให้สะพานมีขนาดใหญ่ และสามารถรับน้ำหนักมากยิ่งขึ้น แต่กลับทำให้รูปทรงมีความรู้สึกถึงความเบามากกว่ารูปแบบของสะพานในช่วงเวลาที่ผ่านมา
สะพานรูปแบบนี้สร้างในปี พ.ศ.๒๕๑๙ (ค.ศ.1976) โดยมีสภาพแวดล้อมที่เต็มไปด้วยกลุ่มอาคารขนาดใหญ่ ที่สอดรับกับสภาพทางสังคมที่แปรเปลี่ยนไปสู่ความเป็นเมืองหลวง ซึ่งมีความแตกต่างไปจากภาพบันทึกของ “ฮิโรชิเงะ”(Hiroshige) อย่างสิ้นเชิง
ภาพ: T Sam