บันทึกกรุงเก่า ๒๕๖๖: ว่าด้วยรถไฟลอยฟ้า กับ “ทางออก” ลมหายใจ “อโยธยา” (ตอน ๒)

ฅน บางกอก

13/6/2566

……….หากมองว่าเขตพื้นที่ชองเมืองเก่า “อโยธยา” ที่รถไฟความเร็วสูงควรผ่านแบบ “ลงใต้ดิน”  สถานีก็ต้องอยู่ใต้ดินตามที่เล่าไปจากตอนที่แล้ว  คราวนี้มาดูว่า “แล้วหากมีสถานีใต้ดิน รูปร่างหน้าตา บรรยากาศใต้ดิน  ตลอดจนทางเชื่อมต่อกับพื้นที่บนดินน่าจะมีหน้าตา สภาพแวดล้อมยังไง  แล้วจะสามารถนำไปสู่พื้นที่การใช้งานที่สร้างกิจกรรมต่างๆให้สอดรับกับความเป็นเมืองเก่าทั้ง อโยธยา และ (กรุงศรี)อยุธยา ที่อยู่ในเกาะเมือง ได้ยังไงบ้าง”  มาดูกัน…

……….หลังจากพยายามถอยมาดูภาพรวมแบบกว้าง..มาก (แบบขี่โดรน)  ทำให้ส่องไปเห็นพระบรมธาตุ (ทรงปรางค์) ของวัดพระรามที่มีความสำคัญมาก เพราะเป็นจุดที่สร้างขึ้น ณ พื้นที่เคยถวายพระเพลิง “พระเจ้าอู่ทอง” ปฐมกษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยา  ง่ายๆคือ สร้างปรางค์นี้เพื่อให้เป็นสถานที่รำลึกถึงพระองค์มาตั้งแต่ช่วงแรกของการสถาปนากรุงศรีฯ

แล้ว.. วัดพระรามเกี่ยวไรกับรถไฟลอยฟ้าความเร็วสูง !?    ตอบเลย “ไม่เกี่ยว” 😂😆😎

……….แต่…เดี๋ยวก่อน  ด้วยที่ตั้งของพระปรางค์ซึ่งเป็นประธานของวัดพระราม บังเอิญมีแนวแกน หรือเส้นทางหลักมาสัมพันธ์กับแกนถนนในปัจจุบันเส้นหนึ่งคือ “ถนนบางเอียน” ที่เชื่อมมาจากแกนหลักของวัด (ทิศตะวันออก) แล้วพุ่งตรงออกไปผ่านแยกถนนต่างๆ และผ่านคลองในเกาะเมืองมาตกที่ริมน้ำป่าสัก ตรงข้ามกับที่ตั้งของสถานีรถไฟ

……….ด้วยเส้นทางสัญจรของถนนบางเอียนที่เป็นองค์ประกอบหนึ่งของเมืองในขณะนี้ที่มีการเชื่อมต่อกับ “วัดพระราม” จึงน่าจะนำมาสู่ความเป็นไปได้ในการสร้างความสัมพันธ์เชิงพื้นที่ เพื่อเชื่อม “หมุดหมายเมือง” ที่เป็นหลักประธานยุคแรกของกรุงศรีอยุธยาในเกาะเมือง คือ “พระปรางค์วัดพระราม” กับ วิถีใหม่ของเมืองในโลกปัจจุบันคือ “สถานีรถไฟใต้ดิน” อย่างให้เกียรติกันและกัน

……….คือ มีสถานีรถไฟใต้ดินทำหน้าที่เชื่อมผู้คนจากภายนอก มาสัมผัสสิ่งที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ ศิลปะ และมรดกทางวัฒนธรรม รวมถึงผู้คนในเกาะเมือง  ตัวอย่างที่ใกล้เคียงกับสถานีใต้ดินของพระนครศรีอยุธยา ที่มีความคุ้มค่ามากกว่าการก่อสร้างแบบลอยฟ้า และสอดคล้องกับบริบทความเป็นเมืองเก่า (รายละเอียดเล่าไปในตอนก่อนแล้ว) คือ เมืองบางกอก ที่“สถานีสนามไชย” ที่มุดลอดแม่น้ำเจ้าพระยาไปโผล่ที่ “สถานีอิสรภาพ” (คือ เชื่อม เกาะรัตนฯ – ฝั่งธนฯ) และ “อุโมงค์มหาราช” ที่เชื่อมวังหลวงกับท่าช้างที่ติดแม่น้ำ

……….ความจริงทุกวันนี้  ริมฝั่งน้ำตรงข้ามกับสถานีรถไฟ กับฝั่งตรงข้ามที่อยู่ในเกาะเมืองก็มีการให้บริการเรือแพข้ามฟากอยู่แล้ว  เพียงแต่หลังจากมีสถานีใต้ดินก็ทำให้มีความสะอาด ปลอดภัย และมีความสะดวกสบายกับทุกเพศทุกวัยมากขึ้น  เพื่อให้ท่าเรือใหม่เชื่อมต่อกับสถานีรถไฟผ่านลานอเนกประสงค์นอกเกาะเมือง โดยมีท่าเรือที่สามารถเชื่อมต่อกับถนนรอบเมือง (ถนนอู่ทอง) กับแกนตรงเข้ากลางเมืองของถนนบางเอียน ผ่านลานอเนกประสงค์ฝั่งเกาะเมือง (ขนาดของพื้นที่ลานก็ว่ากันไปตามบริบทหน้างาน)

……….เพื่อให้ถนนรอบเมือง กับถนนบางเอียนช่วยแบ่งเบาการสัญจรเข้าสู่เกาะเมืองทางสะพานปรีดีฯ ฯลฯ  กลุ่มเป้าหมายน่าจะเป็น นักท่องเที่ยวไทย-เทศ ชาวบ้าน ฯลฯ (แบกเป้เดิน, ขี่จักรยาน ฯลฯ) สามารถใช้ข้ามฝั่งไปยังท่าน้ำฝั่งถนนบางเอียนได้มีประสิทธิผล   เส้นทางนี้ ว่าไปถือเป็นเส้นทางสัญจรที่ตรงเข้าสู่ใจกลางเมืองสู่ “หน้าพระธาตุ ของวัดพระราม” เลยทีเดียว   ดูทรงแล้ว  ถนนบางเอียนเส้นนี้สามารถพัฒนาไปสู่การท่องเที่ยว รวมถึงการเรียนรู้ตามอัธยาศัยที่สอดรับกับวิถีเมืองได้เป็นอย่างดีเลยทีเดียว

……….ว่าไป โครงการอนุรักษ์ควบคู่กับการพัฒนาเมือง เท่าที่เห็นจากตัวอย่างหลายสิบปีมานี้มีหลายแห่งในโลก ที่เห็นชัดอันนึงคือประเทศจีน  หลักการของเขาคือ มุ่งพัฒนาเมืองให้มีความทันสมัยเพื่อให้คนในพื้นที่มีความเป็นอยู่ดีขึ้น คือมีนโยบายสนับสนุนผู้คน (ชาวบ้าน) ในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาเมืองได้เข้าถึงสิทธิ์ในการทำมาหากินกับสภาพของเมืองใหม่ก่อน (เป็นการเยียวยาวิธีนึง)

……….ก่อนดำเนินการก่อสร้างมีการสำรวจทางประวัติศาสตร์ – โบราณคดี ร่วมกับการสำรวจทางวิศวะ – สถาปัตยกรรม ฯลฯ  โดยใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่สนับสนุน คือเขาเห็นถึงคุณค่าและความสำคัญของทุนทางวัฒนธรรมเป็นอย่างมาก จึงมีการสำรวจและศึกษาสิ่งที่เป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ทั้งใต้ดินและบนดินที่ได้รับผลกระทบอย่างเป็นรูปธรรม

……….ของที่สำรวจพบก็นำมาศึกษาและนำไปสู่การเผยแพร่ จัดแสดง ให้เอิกเกริก อลังการ  นี่แหละ พะลังแห่ง Soft Power สดๆ แท้ๆจากใต้ดิน – บนดินที่ทรงพลังมากๆ 👍😍😊   การออกแบบ วางผัง และก่อสร้างสิ่งต่างๆจึงดูมีความสอดคล้องกับข้อมูล หลักฐานที่พบเพื่อการใช้พื้นที่ร่วมกัน

……….หลายสิบปีมานี้ เราจึงเห็นข่าวคราวการพบหลักฐานใหม่ๆทางประวัติศาสตร์และโบราณคดีของจีน (เยอะมาก) ที่ทะยอยเผยแพร่ออกมาเป็ระยะๆ   เมื่อมาพิจารณากรณีของรถไฟความเร็วสูงที่ “อโยธยา” แล้ว ก็เป็นโครงการในลักษณะเดียวกันเลย  แต่ของเรามีขนาดและเงื่อนไขทางเทคนิค “ซับซ้อนน้อยกว่า” ด้วย 😃🙊

……….ตอนหน้า จะมาขยายความ เล่าเรื่องหมุดหมายเมือง กับลาน ถนน ทางสัญจรที่มาเชื่อมต่อกับสถานีรถไฟใต้ดิน 😎🤘

 

 

 

ภาพประกอบ

1. แสดงฉากทัศน์ บริเวณพื้นที่ทางรถไฟลอยฟ้า ปรับระดับลงสู่ใต้ดินนอกเขตเมืองอโยธยา (กรอบสีเขียวซ้ายล่าง) ลงจอดที่สถานีใต้ดิน ณ สถานีรถไฟเดิม จุดสีเขียว ๒ จุด กลางภาพ (ขนาบจุดสีแดง) คือ อุโมงค์ทางขึ้น-ลงเชื่อมต่อสถานีใต้ดิน และเริ่มปรับระดับยกลอยฟ้านอกเขตเมืองอโยธยา (กรอบสีเขียวขวาบน) ปรับปรุงภาพจาก HIA Historic City of Ayutthaya

 

2. แสดง พระบรมธาตุของวัดพระราม ภาพจาก Supanut Arunoprayote (ไว้ไปถ่ายซ่อมเอง แล้วมาเปลี่ยนภายหลัง)

 

3. แสดง ตัวอย่างสถานีรถไฟใต้ดิน “สนามไชย” มีบันไดเชื่อมชั้นต่างๆใต้ดิน มีการตกแต่งบรรยากาศให้สอดคล้องกับบริบทในเชตเมืองเก่า

 

4.แสดง ตัวอย่างทางเชื่อมบนดินกับพื้นที่ใช้งานใต้ดินด้วยลิฟท์ (สถานีสนามไชย)

 

5. แสดง บรรยากาศทางเชื่อมต่อระดับพื้นของชั้นต่างๆในสถานีใต้ดินด้วยบันไดเลื่อน (สถานีสนามไชย)

 

6. แสดง ตัวอย่างบรรยากาศอุโมงค์มหาาช มีการจัดแสดงแนวกำแพงอิฐภายในพื้นที่เกาะรัตนโกสินทร์ เพื่อนำไปสู่การเป็นแหล่งเรียนรู้ตามอัธยาศัย

 

7.แสดง ตัวอย่างการจัดแสดงนิทรรศการภายในอุโมงค์มหาราช เพื่อช่วยสร้างความเข้าใจอดีต ผ่านหลักฐานโบราณคดี รูปแบบสถาปัตยกรรม และแนวคิดทางด้านวิศวกรรม