มองสถานีรถไฟ “กรุงเก่า” เชื่อมต่อ “อโยธยา” มาสู่ “อยุธยา” ๓

: ฅนบางกอก

02/7/2566

 

……….ตั้งวง เล่าต่อ… เรื่องรถไฟลอยฟ้ากับเมืองเก่าอโยธยา  หากสถานีรถไฟลอยฟ้าปรับมาเป็นสถานีรถไฟใต้ดิน  นอกจากจะไม่ทำให้ภูมิทัศน์เมืองเก่าต้องกลายเป็นเมืองที่เสียโฉมแล้ว การใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมของโลกปัจจุบันให้ถูกที่-ถูกทางจะยังช่วยให้สิ่งที่มีคุณค่าไม่เปลี่ยนสภาพมากจนเกินไปด้วย  และยังจะได้ข้อมูลใหม่ๆ เช่นหลักฐานใต้ดินที่พบเพิ่มจากการขุดสำรวจในวงจำกัด (เฉพาะพื้นที่จะสร้างอาคารสำหรับการโผล่ขึ้นมาจากใต้ดิน)  ซึ่งเป็นการช่วยเติมภาพ “จิ๊กซอว์” ของ “อโยธยา-อยุธยา” ให้มีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น

 

……….แต่ถ้าตอม่อแบบรถไฟลอยฟ้านี่ นอกจากภูมิทัศน์เมือง (ลานสายตาที่มองเห็น ฯลฯ) จะทำให้เมืองเก่า (อโยธยา-อยุธยา) จะกลายเป็น “เมืองตุ๊กตา” แล้ว  ทั้งหลักฐานใต้ดินและหลักฐานบนดิน เช่นโบราณสถานต่างๆ ฯลฯ จะต้องเสียหายกระจัดกระจายไปตามแนวเส้นทางรถไฟของเมืองเก่าอีกด้วย🙊😢

 

……….หากมาใช้แนวคิดรถไฟใต้ดิน และให้ “ถนนบางเอียน” ทำหน้าที่เชื่อมพื้นที่ อโยธยา (นอกเกาะเมือง) กับอยุธยา (เกาะเมือง) น่าจะเป็นการเปิดมุมมองใหม่ เพื่อเชื่อมพื้นที่สองฝั่งลำน้ำของสองเมืองเก่าเชื่อมกันมาสู่พื้นที่ใจกลางของเกาะเมืองที่สามแยกตรง “ถนนชีกุน”  และที่สำคัญคือสามแยกของถนนสองเส้นนี้อยู่ใกล้กับฉนวนที่เป็นทางเข้าสู่วัดพระรามทางทิศตะวันออก (เป็นทางเดินที่ผ่านเข้ามาในบึงพระราม) ที่มีระยะเยื้องแกนกันเพียง ๓๐ เมตร (ในระดับเมือง)

 

……….ถนนชีกุนตรงบริเวณนี้ยังทำหน้าที่เชื่อมพื้นที่กับวัดมหาธาตุที่อยู่ติดกับบึงพระราม ทำให้ถนนบางเอียนทำหน้าที่เหมือนแกนสัมพันธ์ (Connecting Axis) เพื่อเชื่อมพื้นที่ทั้งสองฝั่งน้ำป่าสักผ่านเส้นทางสัญจรต่างๆจากสถานีรถไฟพระนครศรีอยุธยากับฉนวนทางเดินเข้าสู่วัดพระราม และวัดมหาธาตุโดยมีบึงพระรามเป็นพื้นที่โอบล้อมเชื่อมวัดสำคัญทั้งสองเข้าไว้ด้วยกันเชียว

 

……….แถมยังช่วยทำให้เกิดสภาพแวดล้อมสร้างสรรค์ เช่น เกิดความเคลื่อนไหวของผู้คน (Movement) ผ่านกิจกรรมต่างๆของเมืองได้  อาทิ กลางวันเป็นย่านการค้าของชาวเมือง กลางคืนเป็นถนนคนเดิน (Walking street) ฯลฯ  เช่นพื้นที่บริเวณตั้งแต่ประตูท่าแพจนถึงหน้าวัดพระสิงห์ในเมืองเชียงใหม่ ฯลฯ (เพียงแค่ยกตัวอย่างเฉยๆ ไม่ต้องไปทำให้เหมือนกันนะ😆)

 

……….นอกจากนี้ การเปิดลาน-ปรับปรุงภูมิทัศน์พื้นที่ริมน้ำทั้งสองฝั่ง เพื่อเชื่อมพื้นที่การใช้งานเข้ามาสู่เกาะเมือง  สามารถสร้างพื้นที่เรียนรู้ทั้งทางด้านภูมิศาสตร์และประวัติศาสตร์  การเปิดมุมมองใหม่ที่ถนนบางเอียนยังสามารถพัฒนาให้เป็นพื้นที่อเนกประสงค์ (Muti-purpose)  แนวคิดนี้จะช่วยให้บริเวณลานหน้าสถานีรถไฟ (อโยธยา) สามารถไปเชื่อมกับพื้นที่ริมน้ำฝั่งเกาะเมือง (อยุธยา) ที่สอดรับกับวิถีเมืองในปัจจุบัน

 

……….เท่าที่สำรวจ! ทั้งสองฝั่งน้ำนอกจากจะมีท่าเรือแล้ว ก็มีทั้งศาลเจ้าจีน โฮมสเตย์ ตลาด ท่ารถตุ๊กๆ รวมถึงเรือนแถวที่มีคุณค่าทางสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นที่เป็นย่านการค้าเก่า ฯลฯ องค์ประกอบเมืองของทั้งสองฝั่งน้ำที่เล่ามานี้เป็นวิถีเมืองของแท้ที่ยังคงอยู่ (ไม่ใช่Fakeแบบจัดตั้ง) น่าเดินเที่ยวเพื่อเรียนรู้จักวิถีเมืองมาก แถมละลายทรัพย์ช่วยอุดหนุนชาวเมืองได้ด้วย

 

……….อย่างที่รู้กัน ในสมัยกรุงศรีอยุธยาเปนราชธานี “เส้นทางสัญจรทางน้ำ” ถือเป็นปัจจัยสำคัญทำให้อยุธยากลายสภาพเป็น “เมืองนานาชาติ”  หากแต่วันนี้ เพื่อให้มีการสร้างสรรค์เมืองเก่าของพระนครศรีอยุธยาเป็นเมืองประวัติศาสตร์ที่คงความสมบูรณ์ สวยงามและมีความทันสมัย  เพื่อเชื่อมต่อกับผู้คนด้วยการสัญจรในรูปแบบใหม่

 

……….รูปแบบใหม่ที่ว่าคือระบบขนส่ง “รางเหล็กแบบใต้ดิน” ที่สามารถสร้างการรับรู้และความเข้าใจต่อหมุดหมายแรกที่เป็นองค์ประกอบสำคัญของกรุงศรีอยุธยา คือวัดพระราม ผ่านการสร้างสรรค์สภาพแวดล้อมให้เกิดมุมมองใหม่ๆด้วยการคงไว้ซึ่งความเคารพพื้นที่ศูนย์กลางเมืองเก่าทั้งสองฝั่งลำน้ำที่ยังคงมีกลิ่นอายและลมหายใจของเมืองมาถึงปัจจุบัน นั่นเอง

 

มาดูภาพและคำอธิบายพร้อมกัน

 

๑ แสดงแนวคิดการปรับปรุงพื้นที่ตรงข้ามกับสถานีรถไฟพระนครศรีอยุธยา เพื่อเชื่อมลานท่าน้ำของสองฝั่งเมืองไปสู่ถนนบางเอียนตรงงไปสู่วัดพระราม  ปรับปรุงภาพจาก Google Earth.

 

๒ ตัวอย่างกสนผสมผสานสิ่งที่มีคุณค่าในอดีต โดยการอนุรักษ์และพัฒนาพื้นที่ให้สอดคล้องวิถีเมืองในบริเวณโดยรอบของท่าช้าง วังหลวง กรุงเทพฯ มีอุโมงค์ใต้ดินควบคู่กับลานของเมือง

 

๓ จากภาพของท่าช้าง วังหลวง (ภาพก่อนภาพนี้) เป็นตัวอย่างที่นำมาพัฒนาเนื้อเมืองในบริเวณสถานีรถไฟพระนครศรีอยุธยา (ภาพนี้) ได้เช่นกัน  หน้าสถานีมีรถตุ๊กๆจอดเรียงรายสีสันสวยงาม

 

๔ แสดงระยะเยื้องแกน (ราว ๓๐ เมตร) ระหว่างถนนบางเอียน กับฉนวนทางเดินเข้าสู่วีชัดพระราม (วงเมฆด้านบน) ทางทิศตะวันออกผ่านบึงพระราม (เส้นประสีขาว)  มีวัดมหาธาตุกับวัดราชบูรณะ (วงเมฆขวาล่าง) ติดกับถนนชีกุน  ปรับปรุงภาพจาก Google Earth.

 

๕ แสดงแกนของถนนบางเอียนพุ่งตรงจากบริเวณ “ศาลเจ้าพ่อจุ้ย” (ปึงเถ่ากงม่า) เชื่อมต่อกับถนนอู่ทอง  เมื่อก่อนเคยเป็นท่าน้ำฝั่งตรงข้ามซอยหน้าสถานีรถไฟฯ  ปรับปรุงภาพจาก Google Earth.

 

๖ ตัวอย่างแกนกลางเมืองของถนนท่าแพ ใจกลางเวียงเชียงใหม่  มีการจัดเป็น “ถนนคนเดิน” สลับกับการเปิดใช้งานสัญจรทั่ววไป  ปรับปรุงภาพจาก Google Earth.

 

๗ ตัวอย่างการชพื้นที่ลานบริเวณ “ท่าช้าง วังหลวง” เพื่อให้รับกับการใช้งานหรือกิจกรรมของเมือง

 

๘ สภาพแวดล้อมของถนนซอยเชื่อมท่าน้ำกับถนนด้านหน้าของสถานีรถไฟฯงั่งอโยธยาตรงข้ามเกาะเมือง  สามารถปรับปรุงสภาพแวดล้อมให้เป็นลานที่สอดรับกับวิถีเมืองของที่นี่ได้ เช่นกัน

 

๙ สภาพแวดล้อมในซอยท่าน้ำฯ ฝั่งซ้ายเป็นพื้นที่ใช้งานของรถไฟ  อาคารไกๆกลางภาพคือสถานีรถไฟฯ

 

๑๐ “ศาลปุนเท่ากงม่า” (ปึงเถ่ากงม่า) ฝั่งสถานีรถไฟฯ มองผ่านแม่น้ำป่าสักเข้าไปที่เกาะเมืองมี “ศาลเจ้าพ่อจุ้ย” (ปึงเถ่ากงม่า) อยู่ตรงข้ามกัน

 

๑๑ “ศาลเจ้าพ่อจุ้ย” (ปึงเถ่ากงม่า) ฝั่งเกาะเมือง  จะเห็นศาลเจ้าจีนที่มีเมพ (บุคลาธิษฐาน) องค์เดียวกันตั้งอยู่ตรงข้ามกัน เพื่อคุ้มครองผู้คนแต่ละฝั่งน้ำ

 

๑๒ ทางเชื่อมของพื้นที่ศาลเจ้าพ่อจุ้ยกับถนนบางเอียน (ที่มีรถวิ่งไป) มีถนนอู่ทอง (ถนนรอบเมือง) เชื่อมถนนบางเอียนกับพื้นที่บริเวณท่าน้ำ

 

๑๓ ถนนบางเอียนที่พุ่งตรงไปสู่วัดและบึงพระราม ที่ตั้งอยู่ใจกลางเมือง  บริเวณนี้ยังคงมีเรือนแถวที่เป็นสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นที่ทรงคุณค่าเหลทออยู่มากมาย