ส่อง สถานีรถไฟ “Vilnius” ไม่ใหญ่ ไม่โต แต่มีดีเกินตัว ทั้งแนวคิดและรูปแบบ

ฅน บางกอก

๔ ธันวาคม ๒๕๖๔

ช่วงนี้ เรื่องราวที่เกี่ยวกับระบบขนส่งที่เรียกว่า“ระบบราง”จะกลับมาเป็นที่ฮือฮาอีกครั้ง  เริ่มจากหลายเดือนก่อนก็โครงการฉีดวัคซีนฯ โดยใช้สถานี(กลาง)บางซื่อที่มีขนาดใหญ่โต พื้นที่กว้างขวาง เอื้อต่อการรองรับผู้คนที่มาฉีดวัคซีนฯจำนวนมากได้ดี  ก็ถือว่ามาเที่ยวชมสถานีกลางบางซื่อแล้วได้รับวัคซีนฯเป็นของแถมกลับบ้านละกัน 😄😄  ออ สถานีกลางแห่งนี้ทางการภูมิใจว่ามีขนาดใหญ่ที่สุดในอาเซียนเลยทีเดียว  และอีกข่าวล่าสุดคือการทดลองวิ่งรถไฟฟ้า “คุนหมิง(จีน) – เวียงจันทน์(ลาว)” ของเพื่อนบ้านเรา

แน่นอนว่า องค์ประกอบที่มีความสำคัญที่สุดอันนึงที่จะช่วยอำนวยความสะดวกให้กับผู้คน(โดยเฉพาะคนต่างถิ่น ต่างเมือง รวมถึงชาวต่างประเทศ) ได้อย่างดีที่สุดนอกจากตัวห้องโดยสารบนขบวนตู้รถไฟ ก็คือ “สถานีรถไฟ” ที่จะช่วยแสดงให้เห็นถึงภาพลักษณ์ของสถานที่ ซึ่งมีผลต่อเนื่องไปถึงการจดจำถึงเมืองหรือมหานครนั้นว่าจะมีความน่าประทับใจในด้านไหนดี

มาส่อง สถานีรถไฟวีลนีอุส “Vilnius” ดูกันว่าเขามีแนวคิดและการออกแบบที่น่าสนใจยังไงบ้าง (ทั้งที่เพิ่งแยกออกมาจาก “สหภาพโซเวียต” ราว ๓๐ ปีมานี้เอง)  โดยจะขอสรุปความน่าสนใจของสถานีรถไฟนี้คือ

๑. แนวคิดการพัฒนาผังบริเวณและพื้นที่ดิน(Master Plan)ของสถานี ให้มีพื้นที่ใช้งานสอดคล้องกับการพัฒนา “กรุงวีลนีอุส (Vilnius)” ซึ่งเป็นเมืองหลวงของประเทศ “ลิทัวเนีย” เพื่อให้สถานีรถไฟนี้สอดรับกับ “ระบบ”และ“วิถี”เมืองสมัยใหม่  

๒. แนวคิดการออกแบบ ล้อ(Follow)ไปกับแผนแม่บทพัฒนาสถานีฯ ซึ่งมีความสอดคล้องไปกับการใช้สอยพื้นที่ (Area Requirement) ที่เปลี่ยนแปลงไปตามสภาพของสังคมเมือง

๓. การให้เกียรติอาคารของสถานีเดิม ที่จะไม่ทุบทิ้งสร้างใหม่ (บางบ้านเมืองยังนิยมประเภท ของเก่าถอดทิ้ง เล่นfakeดีกว่าไรงี้ 🙃😎🙃) แต่เขาเลือกที่จะปรับปรุงไส้ใน(สภาพแวดล้อมภายในอาคาร) ให้คงความ “เก๋า + ล้ำ” ไปพร้อมกัน อันนี้เขาน่าจะเข้าใจความสำคัญของอาคารที่มีส่วนช่วยบอกเล่าเรื่องราวของเมืองได้

๔. มีการใช้รูปแบบและเทคโนโลยีสมัยใหม่มาช่วย“เสริม เติม แต่ง” เพื่อให้พื้นที่ใช้งานอื่นๆของสถานีมีความสมบูรณ์มากขึ้น เช่น ทำอาคารคลุมทุกชานชาลา เพื่อป้องกัน แดด ลม ฝน หิมะ โดยทำให้รูปทรงเหมือนประติมากรรมสมัยใหม่ (ช่วยให้สถานีดูทันสมัย ตื่นตา) ช่วยกระตุ้นให้สถานีฯกลับมาสดใสอีกครั้ง

๕. การใช้โครงสร้างของอาคารใหม่ไปเชื่อมต่อกับรูปทรงของอาคารเดิมที่มีรูปแบบ“นีโอคลาสสิค” ได้อย่างเป็นเนื้อเดียวกัน(ดูแล้วสถานีหล่อเฟี้ยวขึ้นมาทันที 🤓🤩😎🤓) 

๖. กำหนดพื้นที่โดยรอบอาคารให้รองรับการใช้งานที่สอดรับกับพฤติกรรมของผู้คนที่มาใช้บริการที่เปลี่ยนแปลงตามไปสภาพสังคมเมือง เช่น ปรับสภาพแวดล้อมภายนอกให้เหมือนเป็นสวนสาธารณะ มีที่นั่งพักคอยกระจายเป็นกลุ่มๆ และแบ่งการใช้พื้นที่ด้วยการปรับให้เกิดความต่างระดับของพื้น(Level)  ใช้พันธุ์ไม้ถิ่นน้อยใหญ่มาช่วยสร้างบรรยากาศให้เกิดแสง เงา ฯลฯ เพื่อให้ภาพรวมของสถานีฯเกิดสีสัน มีชีวืตชีวา  

๗. สภาพแวดล้อมถูกปรุงให้มีลักษณะเดียวกับสวนสาธารณะที่ให้ความสำคัญกับผู้คนทุกกลุ่ม(รวมถึงกลุ่มที่ใช้วีลแชร์) จึงมีการทำทางลาดและบันไดเพื่อรองรับการเข้าถึงแต่ละพื้นที่ เพื่อ“ลดความแตกต่างของผู้คนในสังคม”   

จากที่เล่ามา ทำให้เราได้เห็นภูมิทัศน์ทางสถาปัตยกรรม เช่นสภาพแวดล้อมภายนอก(Out Door) ที่อยู่ภายในพื้นที่ของสถานีรถไฟ เช่น ลาน ที่นั่ง(แบบไม่เป็นทางการ) ต้นไม้ ฯลฯ มีสภาพคล้ายสวนสาธารณะ  โดย “แต่งกลิ่น ปรุงรส” ขึ้นมาใหม่จากของเดิมที่มีดีอยู่คือตัวอาคารเดิม ทำให้สถานีรถไฟแห่งนี้มีสภาพแวดล้อมและพื้นที่แปลกใหม่ โปร่งโล่งสบายตา ซึ่งเกิดจากพื้นที่ใช้งานต่างๆที่มาประกอบเข้าไว้ด้วยกันอย่างน่าสนใจ      

พื้นที่ส่วนไหนที่มีความจำเป็นต้องกันแดด ฝน ฯลฯ เช่นตามชานชาลาต่างๆ ก็ใส่หลังคาให้ครอบคลุม         โดยให้มีรูปทรงล้อไปกับรูปทรงจั่วของอาคารเดิม ฯลฯ นอกจากนี้ รูปแบบอาคารโดยรวมที่เกาะกลุ่มกันทั้งของเดิมและของใหม่ยังทำให้เกิดรูปทรงรวมแบบใหม่ ทำให้นึกถึงประติมากรรมสากลขนาดใหญ่ที่ถูกห่อหุ้มด้วยสีสันต่างๆในบรรยากาศภายในสวน โดยมีทั้งบันไดและทางลาดสำหรับรองรับผู้คนทุกกลุ่ม ตามหลัก Universal Design อีกด้วย

ดูละคร แล้วกลับมาดูตัวเอง นึกถึง “หัวลำโพง” ที่ครั้งเมื่อแรกสร้างในสมัยรัชกาลที่ ๕ ช่วงเวลานั้น พูดได้ว่างานขนส่งระบบรางบ้านเราจัดอยู่แถวหน้าในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เลยทีเดียว  ทั้งความทันสมัยด้านการขนส่ง ระบบโครงสร้างของสถานี รวมถึงรูปแบบศิลปะ สถาปัตยกรรม ฯลฯ แน่นอน เรื่องราวเหล่านี้ เป็นเรื่องเล่าที่ใครๆก็อยากรู้(มากกว่าวิธีอ่านหนังสือ) รวมถึงชาวต่างบ้านต่างเมือง จะได้มารู้จัก“หัวลำโพง”(ในฐานะสถานีชุมทางแห่งแรกของประเทศ) แบบตัวเป็นๆ มีลมหายใจจริงๆ ด้วยวิถีสัญจรแบบนี้ยังช่วยเอื้อการเดินทางให้กับผู้คนทั้งไทยและเทศได้ใช้เดินทาง เชื่อมต่อพื้นที่ในเขตเมืองชั้นในแบบพอเหมาะพอดีกับตังในกระเป๋าอีกด้วย 🙂😊       

มาช่วยกันคิด หรือลองฝัน  ดีไม๊  !!!!!

รายการอ้างอิง

Christele Harrouk. https://www.archdaily.com/969075/zaha-hadid-architects-green-connect-proposal-selected-first-in-competition-to-transform-vilnius-railway-station

https://www.railway.co.th/More/Knowledge_Detail?value1=       00DE5502B5AA7B42A92BE9FF953D8EBD010000008B83807FEE2DF6181CA4CAA6E0DBC3D5BB49DACAD86AAC70C282E6792381037E&value2=00DE5502B5AA7B42A92BE9FF953D8EBD0100000097A7E75C15AADE6D2C3C95EEB30F826805226D4583E95BDCDFE525307D362815

https://www.tradelogistics.go.th/th/article/บทความเจาะลึก/รถไฟ-จีน-ลาว

Kat Barandy. https://www.designboom.com/architecture/zaha-hadid-architects-railway-station-vilnius-lithuania-competition-winner-09-24-2021/

Marcus, Clare Cooper and Francis, Carolyn. People Places: Design Guidelines for Urban Open Space. Departments of Architecture and Landscape Architecture University of California, Berkley. New York: Van Nostrand Reinhold. 1990.

Moor Niamh and Whelan Yvonne. Heritage, Memory and The Politics of Identity: New Perspectives on the Cultural Landscape. Hampshire: Ashgate Publishing Limited. 2007.

๑.มุมมองทางอากาศ ด้านหลังของสถานีเต็มไปด้วยชานชาลา เพื่อรองรับผู้คนมาขึ้นลง หรือต่อขบวนในปัจจุบัน

ภาพ: Google Earth Pro

๒.มุมมองทางอากาศ(มุมเดียวกัน) ออกแบบอาคารครอบส่วนบนของชานชาลาคล้ายท่อนแคปซูล มีช่องเปิดรับแสงและทอดสายตาดูวิวได้ไกลๆ(Take View) มีขาเป็นหลังคารองรับพื้นที่ใช้งานของชานชาลา

ภาพ: ZHA_Vilnius_Connect_render_by_Negativ_

๓.สภาพแวดล้อมภายในสถานี ส่วนทางเชื่อมสัญจร ระนาบตั้งและระนาบบนเปิดโปร่ง เพื่อรับอากาศ แสงธรรมชาติในพื้นที่สำคัญ

ภาพ: ZHA_Vilnius_Connect_render_by_Negativ_

๔. บรรยากาศส่วนชานชาลา  แจ่มยังไง ฟ้องด้วยภาพ ละกัน  🤓🤩😎

ออ ทีเด็ดตรงหลังคา ล้อลู่ลม ก่อนเข้าไปหาอาคารประธาน(อาคารเดิม)ได้อย่าง สงบเสงี่ยมว๊าก 🤓🤩😎 ภาพ: ZHA_Vilnius_Connect_render_by_Negativ_

๕.บริเวณพื้นที่ด้านหน้าของสถานีรถไฟ จากพื้นที่ลานจอดรถบนดินแบบเดิมๆ  มีการปรับพื้นที่(Contour) ยกระดับขึ้นมาให้เป็นลานขนาดใหญ่แบบสวนสาธารณะ ผู้คนทำกิจกรรมกลางแจ้งได้หลากหลาย

ภาพ: ZHA_Vilnius_Connect_render_by_Negativ_