สถานีรถไฟ “Vilnius” เก็บของดี(ที่มีอยู่เดิม) มาผสม“ความล้ำ”ในปัจจุบัน

สวรรค์ ตั้งตรงสิทธิกุล

         “กรุงวีลนีอุส” (Vilnius) ในปัจจุบันเป็นเมืองหลวงของประเทศลิทัวเนีย(Lithuanian) สถานีรถไฟนี้เริ่มสร้างครั้งแรกในปี พ.ศ.๒๔๐๔ (1861) โดยเชื่อมเส้นทางระหว่างมหานครเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก (ประเทศรัสเซีย)กับกรุงวอซอว์ (ประเทศโปแลนด์) และมีการสร้างขึ้นใหม่ในปีพ.ศ. ๒๔๙๓ (1950) หลังจากสงครามโลกครั้งที่ ๒ ในยุโรปจบลง  จากนั้นมีการปรับปรุงอีกครั้งในช่วงปี พ.ศ.๒๕๔๔ (2001)

          มาถึงช่วงปี พ.ศ.๒๕๖๓ (2020) ทางการจัดให้มีการประกวดแบบเพื่อปรับปรุง “สถานีรถไฟ วีลนีอุส” (Vilnius Railway Station) ครั้งใหญ่ เพื่อให้สมกับเป็นสถานีรถไฟที่มีความสำคัญที่สุดของประเทศ โดยทีมสถาปนิกที่ชนะเลิศการประกวดแบบคือ Zaha Hadid Architect  โดยมีแนวคิดในการออกแบบเพื่อให้สถานีรถไฟนี้มีความล้ำ ทันสมัย ควบคู่กับการอนุรักษ์อาคารที่มีรูปแบบศิลปสถาปัตยกรรมแบบ “นีโอคลาสสิค” (Neo Classic) และเพื่อให้สถานีรถไฟแห่งนี้คงคุณค่าทางศิลปะและวัฒนธรรมควบคู่ไปกับความทันสมัยในโลกยุคปัจจุบัน

         การเปลี่ยนรูปโฉมของสถานีรถไฟ มีความสัมพันธ์กับความต้องการพื้นที่ใช้งานที่มีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น เพื่อรองรับกิจกรรมที่มีความหลากหลายในปัจจุบัน ควบคู่กับการคงไว้ซึ่งคุณค่าของรูปแบบอาคารเดิมซึ่งถือเป็นหนึ่งในมรดกทางวัฒนธรรม ที่สามารถใช้บอกเล่าเรื่องราวจากการใช้งานจริงผ่านรูปแบบอาคาร  โดยนำมาบูรณาการในทุกมิติเพื่อให้เป็นสถานีรถไฟที่ตอบสนองกับสังคมเมืองยุคปัจจุบัน อาทิ ปริมาณของผู้คนที่มาใช้บริการเพิ่มมากขึ้น  เพิ่มส่วนของหลังคาให้ครอบคลุมทุกชานชาลาเพื่อให้สามารถป้องกันฝน หิมะ ฯลฯ รวมถึงการกำหนดให้พื้นที่โดยรอบอาคารมีกิจกรรมต่างๆที่ตอบสนองผู้มาใช้บริการที่หลากหลาย ในลักษณะเดียวกับพื้นที่สันทนาการประนึงเป็นสวนสาธารณะขนาดย่อม เป็นต้น

         ตัวอย่างของการปรับปรุง เปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมที่ทำให้เกิดภูมิทัศน์และสภาพแวดล้อมใหม่ เริ่มจากการจัดสรรพื้นที่การใช้งานโดยรอบตัวอาคารเดิมให้สอดรับและสัมพันธ์กับพฤติกรรมของผู้ที่จะมาใช้บริการในพื้นที่ของสถานีรถไฟ โดยออกแบบให้มีความโปร่งโล่ง ดังเช่นพื้นที่ใช้งานกลางแจ้ง มีการปรับภูมิทัศน์ด้วยพันธุ์ไม้ท้องถิ่น เพื่อให้ความร่มเงาและสร้างสีสันที่เป็นสีของใบ พุ่ม และรูปทรงที่มีการตัดแต่งให้เป็นไปตามธรรมชาติของพันธุ์ไม้ ฯลฯ 

         นอกจากนี้ การแบ่งพื้นที่ใช้งานให้มีระดับของพื้นที่ต่างระดับกัน โดยมีทั้งบันไดและทางลาดสำหรับรองรับประชากรทุกกลุ่ม เพื่อใช้เชื่อมต่อพื้นที่ใช้งานต่างๆ โดยมีรูปทรงหลังคาใหม่ วัสดุใหม่ สามารถไปเชื่อมกับรูปทรง(จั่ว)ของอาคารเดิมทั้งทางด้านรูปทรงและโครงสร้าง ตลอดจนทัศนียภาพที่มีความสำคัญต่อความงามต่อสภาพแวดล้อมสถาปัตยกรรม อันประกอบด้วยความสัมพันธ์ของภูมิสถาปัตยกรรม ผ่านรูปทรงอาคารมาสู่บรรยากาศและสภาพแวดล้อมสถาปัตยกรรมภายใน

         สถานีรถไฟ “วีลนีอุส” แม้จะเป็นสถานีที่มีขนาดไม่ใหญ่มาก แต่ก็เป็นกรณีศึกษาที่ดีด้วยการแสดงให้เห็นถึงคุณภาพในการออกแบบ เพื่อปรับปรุงสภาพแวดล้อมทางสถาปัตยกรรมที่สัมพันธ์กับวิถีผู้คนในปัจจุบัน ควบคู่ไปกับการปรับปรุงอาคารที่มีคุณค่าให้คงการใช้งานได้อย่างลงตัว

รายการอ้างอิง

Christele Harrouk. https://www.archdaily.com/969075/zaha-hadid-architects-green-connect-proposal-selected-first-in-competition-to-transform-vilnius-railway-station

Kat Barandy. https://www.designboom.com/architecture/zaha-hadid-architects-railway-station-vilnius-lithuania-competition-winner-09-24-2021/

Marcus, Clare Cooper and Francis, Carolyn. People Places: Design Guidelines for Urban Open Space. Departments of Architecture and Landscape Architecture University of California, Berkley. New York: Van Nostrand Reinhold. 1990.

https://en.wikipedia.org/wiki/Vilnius_railway_station

มุมมองทางอากาศ แสดงด้านหน้าของสถานี ที่มักออกแบบให้มีถนนไหลวนเข้าไปที่หน้าสถานี  (Drop off) ซึ่งมีความทันสมัยสอดคล้องกับการใช้งานมาตั้งแต่ประมาณ ๑๐๐ ปีที่แล้ว ทว่าในปัจจุบันการเข้าถึงสถานีของผู้คนมีความหลากหลาย อาทิการเข้าถึงจากระบบขนส่งใต้ดิน ฯลฯ ทำให้การใช้พื้นที่ระดับผิวดินเปลี่ยนแปลงตามไป
ภาพ: Google Earth Pro

ภาพจำลองเปรียบเทียบมุมมองเดียวกัน(ด้านหน้าสถานี) แสดงให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมทางภูมิสถาปัตยกรรม ให้มีสภาพเสมือนสวนสาธารณะ ที่ผู้คนสามารถใช้นั่งรอขบวนรถแบบตามอัธยาศัย หรือเข้ามาพักผ่อนหย่อนใจ ฯลฯ
ภาพ: ZHA_Vilnius_Connect_render_by_Negativ

มุมมองทางอากาศ แสดงด้านหลังของสถานี มีชานชาลาจำนวนมาก ทว่าแทบไม่มีหลังคาคลุมเพื่อป้องกันแดด ฝน หิมะ ฯลฯ
ภาพ: Google Earth Pro

ภาพจำลองเปรียบเทียบมุมมองเดียวกัน (ด้านหลังสถานี) แสดงให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมทางสถาปัตยกรรม โดยมีการออกแบบให้มีอาคารคลุมทุกชานชาลา เพื่อให้ผู้คนสามารถสัญจรเข้าถึงทุกชานชาลาได้อย่างปลอดภัย หลังคามีการเจาะช่องแสงให้มีรูปทรงสามเหลี่ยม เพื่อล้อไปกับหลังคาทรงจั่วของอาคารประธาน (อาคารเดิม) ของสถานี
ภาพ: ZHA_Vilnius_Connect_render_by_Negativ

ทัศนียภาพโดยรวม (Over All) จำลองให้เห็นภูมิทัศน์ของสถานีรถไฟ “Vilnius” หลังปรับปรุงที่สอดรับกับวิถีของผู้คนเมืองในสังคมปัจจุบันทั้งอาคารเดิมและพื้นที่อาคารส่วนชานชาลา สามารถเชื่อมต่อถึงกันอย่างกลมกลืนและมีความทันสมัย ขอบเขตพื้นที่ของสถานีรถไฟถูกปรับปรุงให้เสมือนเป็นสวนสาธารณะ เพื่อสามารถรองรับผู้มาใช้บริการ ฯลฯได้เป็นอย่างดี
ภาพ: zaha-hadid-architects-ZHA-vilnius-railway-station-designboom