“บ่อเกลือใต้” ในบริบทความสัมพันธ์ทางภูมิวัฒนธรรมกับ “รัฐน่าน”

สวรรค์ ตั้งตรงสิทธิกุล

๑๑ มีนาคม ๒๕๖๕

…..พื้นที่ตำบลบ่อเกลือใต้ จังหวัดน่าน เป็นหนึ่งในบริเวณที่มีการตั้งชุมชนมานานแล้ว ทั้งนี้สามารถพบได้จากการเป็นแหล่งที่มีการผลิต “เกลือสินเธาว์โบราณ” มาตั้งแต่ครั้งอดีต และมีความสัมพันธ์กับการก่อร่างสร้าง “รัฐน่าน” มาตั้งแต่ปลายพุทธศตวรรษที่ ๑๘ โดยมี “พระยาภูคา”(เจ้าหลวงภูคา) ผู้ปกครอง “เมืองย่าง” (มีข้อสันนิษฐานทางวิชาการว่า เมืองย่างน่าจะตั้งอยู่บริเวณริมฝั่งด้านใต้ของแม่น้ำย่าง ใกล้กับเทือกเขาของดอยภูคาในเขตอำเภอท่าวังผา ซึ่งเป็นพื้นที่ตอนบนของจังหวัดน่านในปัจจุบัน) เมืองดังกล่าวมีการพบร่องรอยของคูน้ำ คันดิน รวมถึงกำแพงเมือง ฯลฯ

…..ลักษณะทางภูมิศาสตร์ดังกล่าว ทำให้เห็นถึงความสัมพันธ์ของกลุ่มบ้านและเมืองที่เริ่มปรากฏขึ้นเป็นลำดับ ดังเช่นบริเวณพื้นที่ที่เป็นแหล่งเกลือสินเธาว์ ซึ่งเป็นบ้านเมืองขนาดเล็กที่มีการติดต่อกับ “เมืองย่าง” และเมืองต่างๆผ่านการสัญจรมาทางพื้นที่ราบตามช่องเขาคือ “เมืองเพียง” “เมืองเงิน” “เมืองไชย” (อยู่ในเขต สปป.ลาวในปัจจุบัน) “เมืองปัว” (คือพื้นที่อำเภอปัวในปัจจุบัน) และ “เมืองน่าน” (คือบริเวณพื้นที่ใจกลางของอำเภอเมืองในปัจจุบัน) ฯลฯ เมืองเหล่านี้ล้วนมีการติดต่อสัมพันธ์กัน สอดคล้องกับการตั้งชุมชนหรือเมืองซึ่งมีแหล่งเกลือสินเธาว์ที่อยู่ในบริเวณพื้นที่ตำบล “บ่อเกลือเหนือ” และ “บ่อเกลือใต้” ในปัจจุบัน

…..จากหลักฐานทางโบราณคดี มีการพบศิลปวัตถุชิ้นสำคัญคือ “กลองมโหระทึก” ที่บ้านบ่อหลวง ในบริเวณพื้นที่ชุมชนของบ่อเกลือใต้ ซึ่งเป็นกลองสำริดที่มีรูปแบบและกระบวนการผลิตสอดคล้องกับยุคโลหะ และคงมีการผลิตสืบเนื่องต่อกันมาถึงราวพุทธศตวรรษที่ ๑๐ ก่อนที่จะรับพุทธศาสนาในเวลาต่อมา การพบกลองสำริดยังแสดงหลักฐานให้เห็นถึงความเป็นวัฒนธรรมร่วมของชาวอุษาคเนย์ที่มีการใช้กลองสำริดเพื่อประกอบพิธีกรรม อาทิ พิธีขอฝน ฯลฯ ซึ่งเป็น คติ ความเชื่อ ที่มีความสัมพันธ์ต่อ “วิถีเกษตรกรรม” ฯลฯ โดยมี “แหล่งเกลือสินเธาว์” เป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ช่วยสร้าง “รัฐน่าน” ให้มั่นคงในเวลาต่อมา

…..กายภาพและสภาพทางภูมิศาสตร์ของบ้านบ่อเกลือใต้เป็นชุมชนตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ราบตามแนวช่องเขา โดยมีทิวเขาน้อยใหญ่ขนาบตามแนวทิศเหนือ-ใต้ มี “ลำน้ำมาง” เปรียบเหมือนเส้นเลือดสำคัญในการหล่อเลี้ยงผู้คน โดยไหลขนานไปกับบริเวณพื้นที่ตั้งของชุมชนตามแนวทิศเหนือลงสู่ทิศใต้ จากลักษณะทางกายภาพทางภูมิศาสตร์ที่มีแหล่งเกลือสินเธาว์ และมีการพบกลองมโหระทึก จึงสันนิษฐานได้ว่า บริเวณพื้นที่ “บ้านบ่อเกลือใต้” น่าจะป็นแหล่งอุตสาหกรรมการผลิตเกลือมาก่อนที่ “พระยาภูคา” จะสถาปนา “รัฐน่าน” ในราวปลายพุทธศตวรรษที่ ๑๘

…..พื้นที่บริเวณบ้านบ่อเกลือใต้และพื้นที่ใกล้เคียงนี้ จึงเป็นเขตพื้นที่สำคัญของช่วงเวลาที่มีการสร้างบ้านแปงเมืองของ “รัฐน่าน” โดยมีกลุ่มชาติพันธุ์ ”ลัวะ” คือผู้คนส่วนใหญ่ในพื้นที่ที่อาศัยอยู่ตามภูเขา ร่วมกับกลุ่มผู้คนพื้นราบที่มีการเคลื่อนย้ายมาจากเมืองสำคัญต่างๆที่ตั้งอยู่ไกลออกไปจากพื้นที่แถบนี้คือ “เชียงแสน” “หริภุญไชย” “หลวงพระบาง” ฯลฯ รวมถึงผู้คนส่วนใหญ่ที่เคลื่อนย้ายมาจากแว่นแคว้นใกล้เคียงจากทิศเหนือ จากนั้นจึงพัฒนาการมาสู่การเกิด “รัฐน่าน” ในเขตอำเภอเมืองน่าน โดยมีรัฐสุโขทัยทางทิศใต้เป็นหนึ่งในพันธมิตรที่มีความสัมพันธ์แน่นแฟ้น

…..ช่วงเวลาที่มีการสถาปนา “รัฐน่าน” ผู้คนในบริเวณพื้นที่บ่อเกลือใต้และใกล้เคียงจึงเข้ามาร่วมกันสร้างบ้าน และแปงเป็นเมืองกระจายไปในพื้นที่ราบตามช่องเขาต่างๆ โดยมี “พระยาภูคา” เป็นเจ้าผู้ปกครองในระยะแรกเริ่มของการเกิดเป็นรัฐ(นครรัฐ) จากนั้นจึงมีการขยายอาณาบริเวณพื้นที่จาก “เมืองย่าง” ไปสู่ “เมืองพลั่ว”(เมืองปัว)หรือวรนคร มาสู่ “เมืองภูเพียงแช่แห้ง”(ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของแม่น้ำน่าน) และย้ายฝั่งมาตั้งที่ “เมืองน่าน”หรือนันทบุรีทางทิศตะวันตกของแม่น้ำน่าน อันเป็นเมืองศูนย์กลางของ “รัฐน่าน” สืบต่อมา

…..เมื่อเวลาผ่านไป ผู้คนในพื้นที่บริเวณนี้ยังคงมีความทรงจำต่อ “พระยาภูคา” กษัตริย์ผู้สถาปนา “รัฐน่าน” แห่งราชวงศ์ภูคา ได้ก่อให้เกิดพัฒนาการแนวคิดร่วมทางวัฒนธรรมที่มีความสอดคล้องกับสภาพทางภูมิศาสตร์ในเขต อำเภอปัว อำเภอท่าวังผา อำเภอบ่อเกลือ ฯลฯ ซึ่งล้วนมีสภาพแวดล้อมเป็นหุบที่ราบ สลับกับทิวเขาอันซับซ้อน “พระยาภูคา” จึงได้รับการสถาปนาจากผู้คนกลุ่มต่างๆในพื้นที่ให้กลายเป็น “เจ้าหลวงภูคา” เทพศักดิ์สิทธิ์ผู้ปกป้องคุ้มครองผู้คนในอาณาบริเวณนี้ และมีอำนาจเหนือเทพอื่นใดทั้งปวง ปรากฏการณ์ดังกล่าวสะท้อนถึง คติ ความเชื่อ ศรัทธาผ่านมิติทาง “ภูมิวัฒนธรรม” ที่แสดงถึงความสัมพันธ์ของผู้คนกับกายภาพทางภูมิศาสตร์อย่างชัดเจน

…..การก่อรูปในการสร้างบ้านบ่อเกลือใต้ และการแปงเป็นเมืองของ “รัฐน่าน” จึงมีการผสมผสานกลุ่มคนต่างชาติพันธุ์ที่อยู่ตามพื้นที่ต่างๆในอาณาบริเวณใกล้กัน คือบริเวณที่ราบ คือกลุ่มไทยวน ไทลื้อ ไทเขิน ฯลฯ จากกลุ่มนครรัฐเชียงแสน รวมถึงเขตสิบสองปันนา ฯลฯ ทางทิศเหนือ กลุ่มคนจากนครรัฐพะเยา, แพร่ ฯลฯ ทางทิศตะวันตก กลุ่มคนจากรัฐสุโขทัยทางทิศใต้ ฯลฯ รวมถึงผู้คนตามเชิงเขาและบนดอยที่อยู่ในพื้นที่ อาทิ กลุ่มลัวะ ฯลฯ โดยมีความสัมพันธ์กันเป็นเครือข่าย เกิดเป็นกลุ่มของบ้าน ชุมชน จากนั้นจึงมีการผสมผสานทางวัฒนธรรมกับกลุ่มบ้านเมืองที่มีพัฒนาการมาเป็นรัฐในเวลาต่อมาคือ “รัฐล้านนา” ซึ่งขนาบทางทิศตะวันตก และ “รัฐล้านช้าง” ขนาบทางทิศตะวันออกของ “รัฐน่าน”

…..ในราวปลายพุทธศตวรรษที่ ๒๐ เป็นต้นมา “รัฐน่าน” จึงตกอยู่ภายใต้อำนาจของรัฐ “ล้านนา” ที่เข้ามาครอบครองในสมัย “พระเจ้าติโลกราช” ด้วยเหตุผลสำคัญหนึ่งคือการมุ่งหวังครอบครองแหล่งเกลือ จากนั้น ราวต้นพุทธศตวรรษที่ ๒๒ จึงตกอยู่ภายใต้อำนาจของรัฐ “หงสาวดี” ในสมัยของ “พระเจ้าบุเรงนอง” เหตุการณ์ต่างๆที่พบในบันทึกทางประวัติศาสตร์เหล่านี้ ยังสามารถพบได้จากหลักฐานที่แสดงผ่านรูปแบบ “ศิลปะ-สถาปัตยกรรม” ของเมืองน่านที่มีความสอดคล้องเช่นกัน

…..หนึ่งในตัวอย่างดังกล่าวคือรูปแบบของ “พระบรมธาตุเจดีย์วัดช้างค้ำ” ที่มีองค์ประกอบโดยรวมใกล้เคียงกับ ศิลปะ-สถาปัตยกรรมสุโขทัย อาทิ ความนิยมสร้างช้างล้อมที่ชุดฐาน ตลอดจนองค์ประกอบที่สำคัญคือ “ชุดบัวถลา” “บัวปากระฆัง” รวมถึง“บัลลังก์ ก้านฉัตร ต่อด้วยบัวฝาละมี” ซึ่งเป็นชุดองค์ประกอบที่ต่อเนื่องกัน ฯลฯ ในขณะที่มีการผสมผสานรูปแบบ “ศิลปะล้านนา” ด้วยเช่นกัน อาทิ การทำชุดฐานบัวในผังสี่เหลี่ยมที่มีการยกฐานสูง ต่อด้วยชุดฐานเขียงในผังกลม รวมถึงการประดับลาย “ประจำยามอก” ที่องค์ระฆัง ซึ่งมีความนิยมตกแต่งใน ศิลปะหริภุญไชย และศิลปะล้านนา ฯลฯ

…..นอกจากนี้ การปรากฏรูปแบบของลาย “กลีบบัว” ที่เชื่อมระหว่าง “ปล้องฉไน กับ ปลียอด” ยังชี้ให้เห็นถึงการพัฒนารูปแบบศิลปะโดยการลดรูปของ “ปัทมบาท” (คือองค์ประกอบสำคัญของศิลปะพม่า-มอญ) เพื่อให้มีความสอดคล้องกับขนาดและรูปแบบของเจดีย์ในศิลปะน่าน องค์ประกอบเหล่านี้จึงเป็นส่วนผสมของศิลปะจากเมืองศูนย์กลางรัฐต่างๆที่ถูกนำมาประกอบกันเป็น “ศิลปะงานช่างในรูปแบบใหม่” จนเกิดเป็นรูปแบบเฉพาะของ “ศิลปะ-สถาปัตยกรรมน่าน” ที่ปรากฏเป็นภาพทาง “ภูมิทัศน์วัฒนธรรม” (Cultural Landscape) ที่ตั้งอยู่ ณ ใจกลางของเมืองจนถึงปัจจุบัน

รายการอ้างอิง

กรมศิลปากร, พงศาวดารเมืองน่าน. เชียงใหม่: ธนุชพริ้นติ้ง. ๒๕๔๓.

กรมศิลปากร, เมืองน่าน: โบราณคดี ประวัติศาสตร์ และศิลปะ. (พิมพ์ครั้งที่ ๒) มปท: ชวนพิมพ์. ๒๕๓๗.

ชลธิรา สัตยาวัฒนา. ลัวะเมืองน่าน. กรุงเทพฯ: เมืองโบราณ. ๒๕๓๐.

ชาร์ลส ไฮแอมและรัชนี ทศรัตน์, สยามดึกดำบรรพ์ ยุคก่อนประวัติศาสตร์ถึงสมัยสุโขทัย. กรุงเทพฯ: ริเวอร์บุ๊คส์. ๒๕๔๒.

ภูเดช แสนสา, ประวัติศาสตร์เมืองน่าน. เข้าถึงจาก https://identitynan.com/…/2020/05/academic-info-1.pdf

ศรีศักร วิลลิโภดม, สร้างบ้านแปงเมือง. กรุงเทพฯ: มติชน. ๒๕๖๐.

ศักดิ์ชัย สายสิงห์. ศิลปะล้านนา. กรุงเทพฯ: มติชน. ๒๕๕๖.

สันติ เล็กสุขุม. ศิลปะภาคเหนือ. กรุงเทพฯ: เมืองโบราณ. ๒๕๖๑.

สุรพล ดำริห์กุล. ประวัติศสาตร์และศิลปะล้านนา. กรุงเทพฯ: เมืองโบราณ. ๒๕๖๑.

ขอขอบคุณ

วิทยาลัยชุมชนน่าน

เทศบาลตำบลบ่อเกลือใต้

ดอยสเตอร์ และชาวบ้านบ่อเกลือใต้

บริเวณที่ตั้งของ กลุ่ม”บ้าน” และ “เมือง” ในเขต”รัฐน่าน”และใกล้เคียง มีการสัญจรถึงกันด้วยเส้นทางส่วนใหญ่ที่เป็นช่องเขา โดยมีระยะทางระหว่างบ้านบ่อเกลือ และ เมืองปัวที่ตั้งอยู่ไม่ไกลกัน

ปรับปรุงจากภาพถ่ายดาวเทียม Google Earth Pro

ภาพทางอากาศ แสดงเส้นทางสัญจรจาก ตำบลบ่อเกลือใต้(บริเวณบ้านก่อก๋วง) ขึ้นไปสู่ดอยภูคาและลงไปสู่พื้นที่ราบ”เมืองปัว”

ภาพถ่ายทางอากาศ เพื่อการสำรวจศิลปะ วัฒนธรรม

ที่ตั้งของศาล “เจ้าหลวงภูคา”(จำลอง) และศาล”เจ้าปู่ดงหญ้าหวาย” ตั้งขึ้นบริเวณที่เป็น”ช่องเขา” เพื่อปกป้องคุ้มครองผู้คนบริเวณทิวเขาเขตนี้

ภาพถ่ายทางอากาศ เพื่อการสำรวจศิลปะ วัฒนธรรม

ที่ตั้งบริเวณ”บ้านก่อก๋วง” ส่วนใหญ่เป็นชนเผ่าชาติพันธุ์”ลัวะ” ที่คงวิถีเกษตรและมีการปรับตัวเพื่อรับนักท่องเที่ยวจากภายนอก

ภาพถ่ายทางอากาศ เพื่อการสำรวจศิลปะ วัฒนธรรม

ศาล”เจ้าหลวงภูคา(จำลอง)” และ ศาล”เจ้าปู่ดงหญ้าหวาย” ตั้งอยู่บนเนินโค้งของช่องเขา เพื่อปกป้อง คุ้มครองผู้คนในพื้นที่และนักเดินทางผู้มาเยือน

หน้ากลองมโหระทึก พบที่”บ้านบ่อหลวง” ตำบลบ่อเกลือใต้ มีรูปแบบในลักษณะเดียวกับศิลปวัตถุในยุคสมัยโลหะ

วัตถุจัดแสดงที่ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติน่าน

รูปแบบกลองมโหระทึก ที่ค่อนข้างมีความสมบูรณ์ บริเวณขอบของหน้ากลองมีกบยืนไปทางทิศทวนเข็มนาฬิกา

วัตถุจัดแสดงที่ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติน่าน

รูปแบบ “พระบรมธาตุเจดีย์วัดช้างค้ำ” แสดงให้เห็นการคัดเลือกนำองค์ประกอบที่มีความงามและโดดเด่นของ ศิลปะ-สถาปัตยกรรมจากรัฐอื่นมาผสมผสาน จนเกิดเป็นรูปแบบเฉพาะของ “ศิลปะ-สถาปัตยกรรมน่าน”