วาด ศิลปะทวารวดีบนแผ่นหินที่เคยอยู่ ณ ราชธานีกรุงศรีฯ (ภาคต่อ)

ฅน บางกอก

๒๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๕

…..คราวที่แล้ว เล่าเรื่องแผ่นหินชิ้นที่วาดมานี้ มาจบที่ราชสำนักอยุธยาคงนำแผ่นหินภาพเล่าเรื่องทางพุทธศาสนาที่มีรูปแบบศิลปะทวารวดีกลับมาที่ราชธานี ต่อมาพบอยู่สถานที่สุดท้ายก่อนที่กรมศิลปากรจะมาดูแลต่อคือ วัดพระศรีสรรเพชญ์ โดยแผ่นหินชิ้นนี้มีภาพเล่าเรื่องเป็นฉากสำคัญเกี่ยวเนื่องในพุทธศาสนา และน่าจะเคยเป็นส่วนนึงขององค์ประกอบสถาปัตยกรรม ศิลปะบนแผ่นหินชิ้นนี้ชี้เห็นถึง “คุณค่าความงามของงานช่างและเรื่องราวจากภาพที่ชนชั้นนำในสมัยต้นอยุธยาเข้าใจและให้ความสำคัญ”

…..คราวนี้ มาช่วยกันดูว่าในภาพมีเรื่องราวที่จะบอกเล่าอะไร และมีความน่าสนใจยังไงบ้าง เท่าที่ดูในทรงรวมๆ ภาพนี้ให้คุณค่าของงานช่างอย่างน้อย ๒ ข้อ (เหมือนเดิม 😁😁) คือ

…..๑. สาระเรื่องราวที่ช่างต้องการสื่อสาร  ดูจากสาระที่ช่างต้องการสื่อสารออกมาเป็นภาษาภาพก็พอจะเข้าใจได้ว่า ต้องเป็นเหตุการณ์สำคัญเหตุการณ์หนึ่ง คราวนี้ไม่มีจารึกกำกับ  เลยต้องเข้าสู่โหมดตีความให้ใกล้เคียงกับหลักประติมานฯ(คือการแสดงออกด้วยลักษณะ ท่าทาง รวมถึงอุปกรณ์ประจำกาย ฯลฯ)

…..จากภาพ เราจะเห็นพระพุทธเจ้าประทับนั่งอยู่บนพระแท่นวัชรอาสน์ โดยมีเหล่าเทวดาเข้ามาห้อมล้อมพระพุทธองค์ด้วยความเคารพนบนอบ เทวดาที่อยู่ใกล้พระองค์ ก็มีการช่วยพระองค์ประคองอุปกรณ์ไว้ซึ่งคงจะเป็นจำพวก “เครื่องสูง” ที่แสดงถึงฐานันดรของพระพุทธองค์ เช่น “วาลวิชนี”, “ฉัตร” ฯลฯ (ดูภาพประกอบเอานะ 😁😉👌) ฯลฯ   เทวดาบางองค์ไม่มีอุปกรณ์ให้ถือ(คงมีศักดิ์รองกว่าองค์ที่ได้ช่วยพระพุทธองค์ถือของ เลยเข้าไม่ถึง 😁😆😊) ก็แสดงความเคารพอย่างสูงสุดด้วยการประนมมือโดยการทูนขึ้นเหนือศีรษะ

…..๒. การจัดวางองค์ประกอบของเรื่องราวในภาพ  ทำให้เห็นความตั้งใจของนายช่างในสมัยทวารวดีที่ต้องการเล่าเรื่องโดยให้พระพุทธองค์เป็น “พระเอก” ในภาพ สังเกตได้จากมีการกำหนดให้พระองค์ประทับอยู่กลางภาพโดยมีขนาดใหญ่ที่สุด และมีเหล่าเทวดาห้อมล้อมแบบดาวล้อมเดือน มีการจัดวางภาพแบบ “อสมมาตร” (เป็นการจัดองค์ประกอบสมดุลแบบสองข้างไม่เท่ากัน คือดูไม่เหมือนกันทั้งหมดซะทีเดียวแต่ดูรวมๆแล้วได้ความสมดุล) เหล่าเทวดาทั้งหมดก็มีทิศทางเคลื่อนเข้าสู่พระพุทธองค์ ยิ่งเสริมให้พระพุทธองค์เป็นจุดเด่นมากขึ้น

…..นอกจากนี้ ยังมีการแบ่งองค์ประกอบภาพออกเป็น ๓ ส่วน คือ ส่วนล่างซึ่งมีความสำคัญสูงสุดคือมีพระพุทธองค์ประทับอยู่  ส่วนกลางซึ่งมีความสำคัญรองลงมา และส่วนบน ซึ่งมีความสำคัญรองลงอีกนิด(จริงๆก็คือ สำคัญน้อยสุดนั่นแระ 😁😂😊)

…..เล่าไป ดูภาพไป แล้วมาจินตนาการเป็นภาพรวมๆที่มีบางส่วนในภาพลบเลือน แตกหัก  ทำให้นึกถึงเมื่อครั้งที่แผ่นหินชิ้นนี้ถูกสร้างสรรค์แล้วเสร็จสมบูรณ์ใหม่ๆ คงมีความงาม ความขลังเคล้าความอินน์ไม่น้อยเลยทีเดียว  อีกข้อที่น่าสังเกตนึงคือ มักพบพระพุทธองค์ทรงประทับนั่งในลักษณะห้อยพระบาท(คือการนั่งแบบนั่งเก้าอี้ในปัจจุบัน) เหตุการณ์นี้ จึงสอดคล้องกับเหตุการณ์เมื่อครั้งที่พระพุทธองค์ทรงแสดงธรรม (เช่น การเทศนาในวาระต่างๆ ฯลฯ)

…..แต่ในภาพนี้ พระพุทธองค์กลับมีการประทับนั่งแบบขัดสมาธิราบ ซึ่งอาจเป็นไปได้ว่าช่างต้องการสื่อถึงเหตุการณ์ช่วงที่พระพุทธองค์เมื่อครั้งยังเป็น พระโพธิสัตว์ ทรงกำลังตรัสรู้เพื่อบรรลุอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ หรืออาจจะหลังเหตุการณ์ที่ได้ตรัสรู้แล้ว…. โดยมีเหล่าทวยเทพพากันเข้ามาห้อมล้อมเพื่อร่วมแสดงความยินดี หรือต้องการมาเข้าเฝ้าเพื่อรับฟังธรรม คำสอน ฯลฯ

…..ภาพวาดที่บันทึกมานี้ ได้แยกคำอธิบายออกเป็นสองภาพ ตามประเด็นอย่างน้อยสองคุณค่าของงานช่างในสมัยทวารวดี ซึ่งไม่ค่อยได้เจอภาพเล่าเรื่องในลักษณะนี้มากนัก

แสดงการจัดวงองค์ประกอบของเรื่องราวในภาพ

 

แสดงสาระเรื่องราวที่ช่างต้องการสื่อสาร