มาสำรวจด้านนอกสนามกีฬา“โอลิมปิค”(Tokyo (Olympic) National Stadium) กัน

ฅน บางกอก

แม้ว่าการจัดกีฬา โอลิมปิค ฤดูร้อน ณ กรุงโตเกียว 2020(+1) จะเพิ่งผ่านไป แต่ว่าองค์ประกอบต่างๆรอบๆสนามกีฬา National Stadium แห่งนี้ยังคงอยู่คู่ไปกับผู้คนในเมืองหลวงต่อไป การวางผังและออกแบบกลุ่มอาคารต่างๆที่ใช้สนับสนุนการใช้งานของสนามกีฬาโดยรอบ เช่นศูนย์ข้อมูล หน่วยประสานงาน รวมถึงส่วนอาคารที่พักของนักกีฬา ฯลฯ อาคารเหล่านี้ยังคงมีหน้าที่ตามการใช้งาน เพื่อนำไปใช้สอยให้สอดคล้องกับการใช้งานของเมืองต่อไป

นอกจากการออกแบบตัวอาคารต่างๆให้รองรับตัวอาคารสนามกีฬาหลักแล้ว สิ่งที่มีความสำคัญไม่น้อยไปกว่ากันคือ การออกแบบภูมิทัศน์บริเวณนี้ให้มีสภาพแวดล้อมร่มรื่น ซึ่งทำให้ได้อากาศที่ดีตามมา และมีความปลอดภัยในการใช้ถนนหนทาง เช่น การออกแบบโครงข่ายรถไฟฟ้าใต้ดินให้สถานีอยู่หน้าสนามกีฬา การออกแบบถนนให้มีเลนจักรยานอย่างชัดเจน โดยมีการเชื่อมต่อกับถนนสายต่างๆอย่างเป็นระบบ เพื่อเอื้ออำนวยใหัผู้คนมาใช้จักรยานกัน

การออกแบบโครงข่ายน้อยใหญ่เหล่านี้ ทำให้เกิดผลดีตามมามากมาย อาทิ ลดมลภาวะจากอากาศเป็นพิษ ผู้คนได้ออกกำลังกายผ่านการขี่จักรยาน ได้สุขภาพ แถมมีความปลอดภัยมากกว่าการ”แว๊น” และยังมีส่วนช่วยให้ลดจำนวนรถยนต์บนถนนอีกด้วย ฯลฯ โห แค่คิดเล่นๆ ข้อดีก็ “เพียบ”ละ

พื้นที่บริเวณนี้ยังจัดได้ว่าเป็นพื้นที่ที่มีสนามกีฬาประเภทต่างๆตั้งอยู่ใกล้ๆกันอีกด้วย อาทิ สนามกีฬา “โตเกียว เมโทรโพลิตัน ยิมเนเซียม” (Tokyo Metropolitan Gymnasium) ซึ่งมีรูปทรงอาคารที่ทำให้นึกถึงหมวกเหล็กของนักรบญี่ปุ่น ฯลฯ นอกจากนี้ พื้นที่บริเวณนี้ยังใกล้กับพื้นที่สีเขียวขนาดใหญ่ คือ “อุทยานแห่งชาติ ชินจูกุเกียวเอน” “เขตพระราชฐานอากาซากะ” ฯลฯ ลองไปดูภาพด้วยกันดีกว่า

ขอบคุณข้อมูลสนับสนุนจาก

Google Earth Pro

https://th.wikipedia.org

https://wattention.com/tokyo-through-architects-eyes/

ภาพดาวเทียม แสดงผังบริเวณรอบๆสนามกีฬา(โอลิมปิค)/กรีฑาสถานแห่งชาติ รอบๆมีพื้นที่สำคัญที่เป็นองค์ประกอบของเมือง
ภาพจาก: กูเกิ้ล เอิร์ธ โปร
เติมแต่งภาพ: ศูนย์ศิลปะวัฒนธรรมสัญจร

อาคารสนามกีฬาโอลิมปิค มีการปลูกต้นไม้เป็นชั้นๆตามแนวถนนล้อไปตามผังของอาคาร

สนามกีฬา”โตเกียว เมโทรโพลิตัน ยิมเนเซียม” ตั้งเคียงกับสนามกีฬาโอลิมปิค มีรูปทรงอาคารคล้ายหมวกเหล็กของนักรบญี่ปุ่น
ภาพจาก: https://wattention.com/tokyo-through-architects-eyes/

สถานีรถไฟฟ้าใต้ดินที่สามารถรองรับการเดินทางของผู้คนมาสู่สนามกีฬา

การปลูกต้นไม้ที่มีหลายขนาดประกอบเข้าด้วยกัน ช่วยเสริมความร่มรื่น และความงามจากบรรยากาศที่สบายตา

สภาพถนนที่เป็น”มาบ”(ถนนมีระดับความสูง-ต่ำไปตามภูมิประเทศ) ตึกที่จุดหมายตาคือ อาคาร NTT Docomo Yoyogi Building มีความสูงอันดับต้นๆของ ญี่ปุ่น (สูง ๒๔๐ เมตร) เคยได้รับการบันทึกสถิติ ตึกที่มีนาฬิกาขนาดใหญ่ที่อยู่สูงที่สุดในโลกมาแล้ว

“เลนจักรยาน” และร่มไม้ด้านข้างสนามกีฬา มีการกำหนดขอบเขตของเลนอย่างชัดเจน มีจุดเชื่อมต่อไปถนนเส้นอื่นได้

ตึกที่ทำการด้านการกีฬา และอาคารที่พักของนักกีฬา ตั้งอยู่ตรงข้ามสนามกีฬา

การออกแบบอาคารที่พักนักกีฬาที่มีรูปทรงเป็นกล่อง มีการใช้วัสดุประเภท”ไม้ปลูก”ที่มาจากทุกจังหวัดของประเทศเพื่อแสดงภาพลักษณ์ของวัฒนธรรมญี่ปุ่น สังเกตแผงข้างแสดงส่วนแผงข้าง(Fin)ของอาคารที่พักนักกีฬา มีการเปิดช่องโล่งเพื่อกันเฉพาะแดด แต่ยังรับลมได้ดี