สนามกีฬาแห่งชาติ Tokyo Olympic 2020+1 : จาก“แนวคิด” สู่ “รูปแบบ”สนามกีฬาที่มีลมหายใจ

สนามกีฬาแห่งชาติ “โตเกียวโอลิมปิค”(Tokyo Olympic 2020) ตั้งอยู่ใจกลาง “กรุงโตเกียว” ในแขวงชินจูก ซึ่งเป็นย่านที่ชาวต่างชาติรวมทั้งคนไทยรู้จักมักคุ้นกันดี ตรงพื้นที่ของสนามกีฬานี้ยังเคยถูกสร้างเป็นสนามกีฬาแห่งชาติ เพื่อใช้รองรับการแข่งขันกีฬา “โอลิมปิค ฤดูร้อน” ครั้งที่ ๑๘ พ.ศ.๒๕๐๗ ซึ่งเป็นการจัดกีฬาโอลิมปิคครั้งแรกในทวีปเอเชียอีกด้วย

ในปัจจุบัน พื้นที่ของสนามกีฬาดังกล่าวได้รับการออกแบบก่อสร้างใหม่เพื่อใช้เป็นสถานที่จัดพิธีเปิดและพิธีปิด ตลอดจนรองรับการแข่งขันกีฬา Tokyo Olympic 2020(+1) อีกครั้ง สนามกีฬาและบริเวณสถานที่นี้จึงถือเป็นพื้นที่“ประวัติศาสตร์ทางการกีฬา”ของประเทศญี่ปุ่นที่มีทั้งเรื่องราวและลมหายใจของความเป็นเมืองหลวงต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน

ความน่าสนใจของรูปแบบและภาพลักษณ์สนามกีฬาแห่งใหม่บนพื้นที่เดิมนี้ นอกจากจะสามารถเพิ่มความจุของผู้คนได้มากขึ้นโดยมีหลังคาคลุมพื้นที่นั่งชมได้ทั้งหมดแล้ว ยังมีการนำ “ธีม” หรือแนวคิดหลักของการจัดกีฬาครั้งนี้คือ “Unity in Diversity (เอกภาพในความหลากหลาย)” มาใช้ในการสร้างแนวคิดออกแบบ ดังเช่น การนำองค์ประกอบและรูปทรงบางส่วนของเจดีย์ญี่ปุ่นสมัย เอโดะ-เมจิ (ต้นพุทธศตวรรษที่ ๒๒ ถึงกลางพุทธศตวรรษที่ ๒๕) มาผสมผสานกับวัสดุสมัยใหม่ ซึ่งเป็นช่วงสมัยที่มีผลต่อพัฒนาการของกรุงโตเกียว ตลอดจนการนำวัสดุไม้จากทั่วประเทศที่มีความหลากหลายของสีและลวดลายเพื่อมาใช้ออกแบบอาคาร

ความพยายามนำ“แนวคิด”โครงสร้างและรูปทรงที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากเจดีย์มา “ประกอบสร้าง”เป็นองค์ประกอบเรือนชั้นซ้อนแบบเจดีย์ญี่ปุ่น โดยมี “ช่องระบายอากาศแนวนอน”(เป็นองค์ประกอบในทำนองเดียวกับแผง“คอสอง”ในงานสถาปัตยกรรมไทย) มาเชื่อมองค์ประกอบของอาคารให้เกิดความต่างระดับของความสูงในแต่ละชั้นของกลุ่มที่นั่งชม โดยออกแบบให้ช่องระบายอากาศแนวนอน(โดยรอบอาคาร) เป็นตัวปรับเปลี่ยนระดับความสูงของอาคาร ผลจาก“แนวคิดการออกแบบ”ดังกล่าว ทำให้อาคารสนามกีฬานี้…..

๑.เกิดการระบายอากาศโดยรอบอาคารในส่วนของอัฒจรรย์ได้ดี (เนื่องจากการแข่งขันครั้งนี้ เป็นช่วงฤดูร้อนของประเทศญี่ปุ่น ซึ่งมีอุณหถูมิสูงที่สุดในรอบปี)

๒.มีการจัดกลุ่มหรือโซนที่นั่งถึงสามชั้น โดยมีแนวลาดเอียงขึ้นไปตามระดับของความสูง ทำให้ทุกที่นั่งมีมุมมองโดยรวมที่ชัดเจน โดยเฉพาะมุมมองลงไปยังสนาม

๓.การผสมผสานของวัสดุเหล็กกับไม้ แสดงให้เห็นถึงความทันสมัยควบคู่ไปกับความเป็นธรรมชาติของไม้ที่มีเส้นสายและลวดลายที่ลื่นไหลสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน

๔.การนำวัสดุประเภท“ไม้ปลูก”จากทั่วประเทศมาใช้เป็นบางส่วนของโครงสร้างและการตกแต่ง เพื่อแสดงถึง“จิตวิญาณ”ของวัฒนธรรมญี่ปุ่น ความหลากหลายของสีไม้และลวดลายที่ไม่เหมือนกันกลับแสดงถึงความหลากหลายของชาวญี่ปุ่นที่มีส่วนร่วมในการสร้างสนามกีฬานี้

การออกแบบมาสู่การสร้างสนามกีฬาแห่งนี้จึงมีทั้ง “ที่มา เรื่องราว และลมหายใจ”จากอดีตมาสู่ปัจจุบัน แม้ว่าอาคารสนามกีฬาแห่งชาติดั้งเดิมจะถูกรื้อทิ้ง อันเนื่องมาจากความไม่สอดคล้องกับสภาพการใช้งานในปัจจุบัน ทว่า สนามกีฬาแห่งใหม่บนพื้นที่เดิมแห่งนี้ ย่อมทำให้เกิดการผนึกรวม“จิตวิญาณ”ของผู้คนผ่าน“ความหมาย”ลงไปในสนามกีฬาแห่งชาติ (National Stadium) ที่ผ่านการจัดมหกรรมกีฬาระดับโลก คือ Olympic Games มาถึง ๒ กาลสมัย

รายการอ้างอิง

https://commons.wikimedia.org/…/File:Yamazaki-nabisco…

https://facebook.com/artofth/photos/pcb.

https://japan.travel/th/spot/2037/

https://mgronline.com

https://olympics.com/…/tokyo-2020-unveils-village-plaza

Thai PBS. รายการ Olympic Focus 2020. ออกอากาศ ๑ ส.ค. ๖๔.

รูปแบบสนามกีฬา โอลิมปิค ครั้งที่ ๑๘ พ.ศ.๒๕๐๗ กรุงโตเกียว มีแผงหลังคาด้านเดียว มีรูปแบบของสนามในลักษณะเดียวกับสนามกีฬาศุภชลาศัย กรุงเทพฯ

ขอบคุณภาพจาก: LonelyPlanet~commonswiki

รูปแบบสนามกีฬา โอลิมปิค ครั้งที่ ๓๒ พ.ศ. ๒๕๖๓(2020) กรุงโตเกียว มีหลังคาคลุมส่วนของผู้ชม มีการแบ่งชั้นของผู้ชมออกเป็น ๓ ชั้น ที่พยายามทำให้สอดคล้องกับแนวคิดการออกแบบ

ขอบคุณภาพ: มีการปรับปรุงภาพจาก mgronline.com

ภาพรวมด้านนอกของอาคารสนามกีฬา มีการนำไม้มาประกอบการออกแบบ ตกแต่ง เพื่อให้เป็นไปตามแนวคิดการออกแบบ

ขอบคุณภาพจาก: japan.travel

สนามกีฬาโตเกียวโอลิมปิคในมุมมองปกติ แสดงให้เห็นถึงรูปทรงรวมที่ผู้ออกแบบพยายามกำหนดให้ส่วนบนมีความสอบในลักษณะเดียวกับรูปทรงเจดีย์เรือนชั้นซ้อนแบบญี่ปุ่น โดยใช้วัสดุไม้มาช่วยเพิ่มรูปลักษณ์

การนำไม้จากพื้นที่ต่างๆภายในประเทศญี่ปุ่นทั้ง ๔๗ จังหวัดมาร่วมก่อสร้างสนามกีฬา โดยมีการจารึกชื่อของเมืองลงไปในเนื้อไม้ ในภาพคือไม้จากกรุงโตเกียว

ขอบคุณภาพจาก: olympics.com/tokyo-2020