เดินไป วาดไป(แบบปุบปับ): วัดพนัญเชิง

ฅน บางกอก

๒๒ ธันวาคม ๒๕๖๔

          วัดพนัญเชิง เป็นอีกวัดสำคัญที่ตั้งอยู่นอกเกาะเมืองของกรุงศรีอยุธยา วัดนี้ตามหลักฐานที่มีการบันทึกระบุว่าสร้างปี พ.ศ.๑๘๖๗ คือก่อนที่พระเจ้าอู่ทองจะมาสถาปนารัฐใหม่ที่มีชื่อว่า “อโยธยาศรีรามเทพนคร” (หรือกรุงศรีอยุธยาที่เราคุ้นเคยนี่แหละ) ในปี พ.ศ. ๑๘๙๓ วัดนี้จึงสร้างก่อนการเกิดรัฐใหม่ ๒๖ ปี และเป็นอีกหนึ่งวัดที่ไม่ได้ถูกข้าศึกเผาทำลายเมื่อครั้งเสียกรุงศรีฯ พ.ศ.๒๓๑๐ เหตุผลสำคัญคีอวัดนี้ตั้งอยู่นอกเกาะเมือง จึงไม่ใช่เป้าหมายหลักในยุทธวิธีการสงคราม

          การปรากฏพระพุทธรูปขนาดใหญ่ที่มีมาก่อนสถาปนารัฐใหม่คือกรุงศรีอยุธยาถึง ๒๖ ปี ทำให้รู้ว่า พื้นที่บริเวณนี้ต้องมีชุมชนขนาดใหญ่มาก่อนแน่นอน หรือพูดง่ายๆคือ “พระเจ้าอู่ทองไม่ได้สร้างบ้านแปงเมืองจากพื้นที่รกร้างไร้ผู้คนอย่างแน่นอน” ยิ่งมองจากลักษณะทางกายภาพทางภูมิศาสตร์ทำให้ถึงบางอ้อได้ทันทีว่า บริเวณนี้เหมาะกับการเป็นฐานที่มั่นสำคัญที่สามารถทำให้เป็นศูนย์กลางการค้าขาย คือทำให้รัฐร่ำรวยได้ และมีความปลอดภัย คือป้องกันภัยจากสงครามได้ดีเพราะมีสภาพเป็นเกาะ ข้าศึกเข้ามาชิงหรือหักเมืองได้ยาก รวมถึงเป็นที่ตั้งไม่ใกล้ ไม่ไกลจากปากอ่าวคือ ระยะทางกำลังเหมาะสมทั้งการเดินทางเข้าและออกทางทะเล

          ด้วยเหตุที่วัดพนัญเชิงตั้งอยู่นอกเกาะเมือง และตั้งอยู่ตรงบริเวณที่แม่น้ำ ๓ สายมาสบกันเป็นแม่น้ำเจ้าพระยาสายใหญ่ จึงเสมือนเป็นตลาด หรือชุมทางเหมาะแก่การที่ผู้คนเดินทางสัญจรมาพบปะ ค้าขายกัน ฯลฯ ตามหลักฐานทางโบราณคดี ประวัติศาสตร์ และศิลปกรรม ทำให้รู้ว่าบริเวณใกล้เคียงกับวัดเพนัญเชิงเป็นย่านการค้าใหญ่น้อยที่กระจายตัวออกไปเป็นย่านชุมชนต่างๆ ที่อยู่ทั้งฝั่งตรงข้ามและฝั่งที่เป็นตัวเกาะเมือง แต่ก็ไม่เป็นอันตรายต่อพื้นที่ในเกาะเมืองแม้ว่าบริเวณนี้จะมีกลุ่มผู้คนจากภายนอกที่เข้ามาติดต่อ ทำมาหากิน หรือ กลุ่มที่ถูกกวาดต้อนมาจากหลากหลายกลุ่ม ทำให้บริเวณพื้นที่นี้และใกล้เคียงเป็นพื้นที่นานาชาติที่คึกคัก หากจะให้เปรียบเทียบก็คงอารมณ์ พาหุรัด ทองหล่อ ฯลฯ ในเมืองบางกอก ประมาณนี้

          การสร้างหลวงพ่อ(โต)พนัญเชิง ซึ่งเป็นพระพุทธรูปองค์ใหญ่จึงเปรียบเหมือนการสร้างศูนย์รวมจิตใจของผู้คนมาตั้งแต่ก่อนสถาปนากรุงศรีอยุธยาเพื่อให้เป็น “ภูมิสัญลักษณ์ (Landmark)” หรือ “จุดหมายตา” โดยมีวิหารหลวง(เรือนหลวงพ่อพนัญเชิง)ที่มีขนาดสูงใหญ่ และกลายเป็น “ภาพจำที่รับรู้ (Perception)” ว่ามีวิหารขนาดใหญ่ลอยเด่นอยู่เหนือดงไม้ ซึ่งสามารถแลเห็นได้ในระยะไกล(Approach)ก่อนที่จะเดินทางมาถึงวัดทั้งทางบกและทางน้ำ

          ศิลปกรรมที่มีความสำคัญมากที่สุดของวัดพนัญเชิงจึงเป็นพระพุทธรูปขนาดใหญ่คือ “หลวงพ่อพนัญเชิง” หรือ “พระเจ้าพแนงเชิง” สร้างโดยพระเจ้าสายน้ำผึ้ง ซึ่งเป็นพระพุทธรูปศิลปะอู่ทองตอนปลาย สอดคล้องกับศิลปะที่พบในช่วงเวลาคาบเกี่ยวกับก่อนสถาปนากรุงศรีอยุธยาถึงช่วงต้นกรุงศรีอยุธยา แน่นอนว่าหากเทียบเวลากลับไป ด้วยเทคนิค-วิธีการสร้างในสมัยนั้น จะเข้าใจได้ว่าการก่อสร้างคงไม่ได้ใช้เวลาปีนึงหรือสองปีเป็นแน่ ทั้งพระพุทธรูปและองค์ประกอบที่เป็นเรือนรวมถึงเสนาสนะต่างๆ จึงเป็นการสร้างแบบค่อยเป็นค่อยไปแต่มีทิศทาง โดยมีความเข้าใจถึงจังหวะและความงามทางสถาปัตยกรรม

          จากภาพ บันทึกเป็นลายเส้นจากบริเวณร้านค้าที่เป็นตลาดภายในวัด ซึ่งมีทั้งของที่ระลึกประเภทของใช้ ของเล่น รวมทั้งของกินที่หลากหลาย(ตอนวาด หันหลังให้ร้านค้า ) เมื่อมองไปที่กลุ่มเรือนขนาดต่างๆผ่านลานกลางแจ้ง จะเห็นองค์ประกอบทั้ง โบสถ์ วิหาร น้อยใหญ่ ฯลฯ ประกอบกันขึ้นมาอย่างมีจังหวะ จึงเกิดความงามที่มีขนาด สัดส่วนสัมพันธ์กับขนาดของวิหารหลวงคือ เรือนของหลวงพ่อพนัญเชิง(เรือนด้านซ้ายมือของภาพ) ได้อย่างนุ่มนวล สบายตา

          ภาพที่วาดมาเล่าตอนนี้ จึงเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับ “ความงามทางด้านขนาดและสัดส่วนทางสถาปัตยกรรม” ที่ช่างในสมัยก่อนสามารถผ่องถ่ายขนาดของวิหารหลวง ซึ่งเป็นอาคารขนาดใหญ่ให้ค่อยๆลดระดับลงมาผ่านโบสถ์ วิหาร ฯลฯ ลงไปถึงกำแพงแก้ว ซุ้มประตู และเจดีย์ราย ได้อย่างสวยงาม แต่ปัจจุบันหลายองค์ประกอบที่ว่าถูกบังแทบมองไม่เห็นแล้ว

          อย่างไรก็ดี การบูรณะวัดพนัญเชิงในช่วงหลายสิบปีมานี้ ทางวัดก็แก้ปัญหาโดยต่อโถงทางเข้าด้านหน้าที่เป็นศาลาเหมือนมุขที่ชะโงกออกมารับญาติโยม โดยศาลาที่ว่าถูกปรับลดขนาดลงมาให้สอดคล้องกับขนาดของคนตามหลักของ“มนุษย์มิติ (Human Scale)” (แต่ถ้าเอาป้ายคัตเอาท์ที่อยู่ใกล้ๆ กะเอาหลังคาเมทัลชีตทรงโค้งประทุนเรือออก จะดีกว่านี้อีกมักๆ )

          แถมอีกนิส ตะก่อนวัดพนัญเชิงเป็นหนึ่งในอีกหลายวัดที่ขึ้นชื่อเรื่องรองเท้าหาย มาวันนี้ขอชื่มชมทางวัดที่แก้ปัญหาได้ตรงจุด คือมีโซนที่รับฝากรองเท้าที่มีเจ้าหน้าของวัดมาช่วยดูแลโดยแลกเบอร์(ไม่ใช่เบอร์โทรนะ) พร้อมมีกล่องให้บริจาคสนับสนุนทางวัดได้ตามกำลัง ส่วนใครที่ใส่รองเท้าแนวปอนๆ ไม่อยากเสียเวลาก็มีชั้นวางรองเท้าแบบไม่ต้องฝากเจ้าหน้าที่ก็ได้นะ

ภาพ: วัดพนัญเชิง

ปากกา Lamy Safari บนกระดาษไร้เส้น ขนาด A5

ระยะเวลาวาด ๑๒ นาที