หลักเมืองรัตนโกสินทร์

ย้อนกลับไปเมื่อ ๒๓๔ ปีที่แล้ว มีเหตุการณ์สำคัญของกรุงรัตนโกสินทร์เกิดขึ้นไล่เรียงกันมา โดย (หากนับตามหลักจันทรคติหรือตามเดือนของไทย)

วันที่ ๖ เมษายน (เดือน ๕) พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ทรงปราบดาภิเษก และทรงให้ย้ายศูนย์กลางทางการเมืองการปกครองมายังกรุงธนบุรีฝั่งตะวันออก

วันที่ ๒๑ เมษายน (เดือน ๖) ประกอบพระราชพิธี “ตั้งเสาหลักเมือง” ณ พิกัดฝั่งตะวันออกของกรุงธนบุรี และในเดือน ๘ ได้เสด็จพระราชดำเนินข้ามมาจากกรุงธนบรี มาประทับที่พระราชวังแห่งใหม่

จะเห็นได้ว่า เสาหลักเมือง เป็นสิ่งที่รัชกาลที่ ๑ ทรงให้ความสำคัญในลำดับต้น ด้วยที่ต้องการสถาปนาศูนย์กลางของเมืองบางกอกเดิมจากฝั่งตะวันตก ให้ย้ายมาอยู่ ณ ฝั่งตะวันออก หลักเมืองกรุงเทพฯ จึงเปรียบเหมือน “หลักชัย” ของบ้านเมือง(ใหม่) การใช้ไม้ชัยพฤกษ์ ซึ่งเป็นนามที่มงคลมาทำ “เสาหลักเมือง” ล้วนเป็นสัญลักษณ์ของการเริ่มต้นสิ่งใหม่ที่ดีงาม และยังมีความหมายถึง เมืองที่มี “ชัยชนะ” ต่อศัตรูและอุปสรรคทั้งปวง ด้วยเป็นช่วงเวลาที่ยังมีศึกสงครามสืบเนื่องมาตั้งแต่ครั้งเสียกรุงศรีฯ เรื่อยมาจนถึงการตั้งกรุงเทพฯ ในปี พ.ศ. ๒๓๒๕

นอกจากนี้ หลักเมือง ยังเป็น “หมุดหมายแรก”ของการสร้างเมืองใหม่ เช่นเดียวกับ การสร้างเรือน ที่ต้องมี “เสาเอก”ของเรือน หลักเมืองกรุงเทพฯ จึงเปรียบได้กับสัญลักษณ์ “เสาเอก”ของเมืองกรุงเทพฯ เช่นกัน