จับทีมน้องน้อนมายำเกาเหลาเปนงานศิลป์

ฅน บางกอก

          หากใครได้ไปดูงาน ศิลปกรรมแห่งชาติ ครั้งที่ 66 จัดแสดงที่ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติหอศิลป์ (เจ้าฟ้า) ที่เพิ่งหมดไป คงจะอิ่มเอมกับผลงานต่างๆอันหลากหลายแนวคิดที่สะท้อนตัวตนที่มาจากแรงบันดาลใจของผู้สร้างงานแต่ละคน

          ผลงานของศิลปินที่ส่งเข้าประกวดปีนี้ ยังคงความน่าสนใจและมีคุณค่าแห่งการสร้างสรรค์มากมาย ในที่นี้ขอเลือกตัวอย่างงานที่ดูแล้วรู้สึกฟินๆ เบาๆมาแบ่งปันให้ได้เสพกันเป็นการชิมลางสัก 1ชิ้นก่อนละกัน

          ผลงานชิ้นนี้มีชื่อว่า “สัตว์ในจินตนาการอีสาน หมายเลข 2” เทคนิค: ปั้นดินไทยและเยื่อกระดาษผสม สร้างสรรค์โดย ถาวร ความสวัสดิ์ หากพิจาณางานชิ้นนี้โดยองค์รวมก็พอจะเข้าใจได้ถึงความหลงใหลในงานศิลปกรรมพื้นถิ่นอีสานของผู้สร้างงานโดยจับเอารูปแบบและองค์ประกอบต่างๆจากประติมากรรม จิตรกรรมและองค์ประกอบต่างๆในงานสถาปัตยกรรม ฯลฯ และมักอยู่ตามทางสิม (โบสถ์) หรืออาจเป็นเรือนประเภทอื่นเช่นวิหาร หอแจก ฯลฯ ของวัดวาอารามในท้องถิ่นที่มีลักษณะและรูปแบบเฉพาะมาประกอบ สร้างสรรค์(หรืออาจเรียกว่าเอามายำหรือเกาเหลา)ขึ้นมาเป็นศิลปกรรมชิ้นใหม่ได้อย่างสนุกสนาน สวยงามด้วยสีสันแบบพาสเทลที่หลากหลายจนเกิดกระแสฟิน “น้องน้อน” เมื่อหลายเดือนก่อนแม้ว่างานต้นฉบับคือผลงานช่างตามวัดเหล่านี้”อาจจะ”ไม่มีเจตนาสร้างเพื่อให้ดูแล้วรู้สึกคิกขุน่ารักก็เป็นได้

          อย่างไรก็ดี “ศิลปะไม่มีผิด” (อยู่แล้ว) บางครั้งผู้สร้างงานต้นฉบับคือช่างที่สร้างสรรค์ชิ้นงานในวัดที่อาจเรียกได้ว่าเป็นสายสกุลช่างที่ถูกฝึกฝนและพัฒนาขึ้นมาจากท้องถิ่น (จากการที่ชอบพูดคุยกับกลุ่มช่างหลายๆทีม พบว่ามักเริ่มต้นจากการฝากฝังผลงานในบ้านเกิดตัวเอง) โดยมีชาวบ้านให้การสนับสนุน กับผู้เสพงานไม่ว่าจะเป็น นักวิชาการ หรือแม้แต่ศิลปิน นักออกแบบ ฯลฯ ที่ผ่านการฝึกฝนตามสถาบันการศึกษากระแสหลักเหล่านี้ เมื่อมาเสพงานต้นฉบับ(ที่อยู่ตามวัด)ก็ไม่จำเป็นต้องมีความรู้สึกดีต่อชิ้นงานเหล่านี้ในมุมมองเดียวกันเสมอไป เช่น ชาวบ้านก็อาจยังรับรู้ได้ถึงความศักดิ์สิทธิ์เมื่อแรกเห็น ในขณะที่ศิลปิน นักออกแบบ ฯลฯ อาจเทความรู้สึกแรกมาที่หลงใหลในความงามแบบ น่ารักจุงเบย ก็ได้เช่นกัน

          ผลงานศิลปะในนิทรรศการที่จัดแสดงในพิดพันหอศิลป์เจ้าฟ้า(ชื่อเรียกแบบคำพูด)ชิ้นนี้ จึงแสดงศักยภาพของศิลปินที่ตั้งใจดึงเอาความประทับใจในชิ้นงานศิลปะที่มีอยู่ในท้องถิ่น(คาดว่าเป็นบ้านเกิด)อีสานมาศึกษาและวิเคราะห์โดยทำการประกอบสร้างจากองค์ประกอบต่างๆของชิ้นงานต้นฉบับ และสร้างสรรค์ขึ้นมาใหม่ (re construct) ตามรสนิยมของศิลปินที่อยู่ในกาลปัจจุบัน

ขอขอบคุณ

คุณถาวร ความสวัสดิ์

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป์ (เจ้าฟ้า)

รูปทรงรวมน่าจะดึงเอา”โคปุระ”(ชื่อเรียกซุ้มทางเข้าออกในปราสาทเขมร) มาประยุกต์กับสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ เช่น ตัวมอม(สัตว์ผสมอย่างน้อยสองชนิดขึ้นไป) มกร(บางคนเรียกเห-รา) สิงห์ พญานาค กินรี ฯลฯ

การสร้างสรรค์และจัดวางชิ้นงานศิลปะแบบประติมากรรมจัดวาง ทำให้เห็นการประกอบร่างของรูปร่าง สีสันและลวดลายต่างๆของสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ (ตามคติท้องถิ่น) ต่างๆ ทำให้เกิดรูปทรงรวมแบบใหม่ เริ่มจากคันคาก (พญาคางคก)ที่อยู่หน้าสุด โดดเด่นสวยงามด้วยรูปแบบและสีสันจากจิตรกรรมที่มักพบตามสิม

สิงห์แลบลิ้น ประทับนั่งอยู่บนสุด ใต้ลำตัวเจาะช่องเป็นรูอย่างน้อยสองจุด มีลูกสิงห์? กับนาคโผล่ออกมา การจัดวางในลักษณะนี้ทำให้เจ้าของชิ้นงานสามารถปรับเปลี่ยนองค์ประกอบบางชิ้นสลับที่ เพื่อให้แลไม่จำเจก็ได้