ภูมิทัศน์สภาพแวดล้อมสุสานในวัฒนธรรมจีน

๒๘ มีนาคม ๒๕๖๔

          คติ ความเชื่อในวัฒนธรรมจีนมีการเลือกพื้นที่เพื่อให้เป็นที่พำนักอาศัยสำหรับผู้วายชนม์มานานแล้ว ด้วยหวังให้บุคคลอันเป็นที่รักเคารพได้พบกับความสุขนิรันดร์ในดินแดนสุขาวดี จุดประสงค์ดังกล่าวจึงมาสู่การสรรหาที่ตั้งสุสานเพื่อให้สอดคล้องกับคติการตั้งสุสาน โดยมีสภาพแวดล้อมเป็นที่ดอน(น้ำไม่ท่วมขังตลอดปี) หรือมีลักษณะเป็นที่ลาดเชิงเขา มีภูเขาโอบล้อมโดยให้ภูเขาหรือทิวเขาเป็นเสมือนปราการหรือกำแพงใหญ่อยู่ด้านหลังสุดขององค์ประกอบต่างๆภายในสุสาน และหากสภาพแวดล้อมทางภูมิศาสตร์เอื้ออำนวย ก็มักเลือกให้ด้านหน้าของสุสานหันสู่ทิศตะวันตกอันเป็นทิศมงคลสำหรับผู้วายชนม์

          หากจำแนกพื้นที่ใช้งานในบริเวณสุสานในวัฒนธรรมจีนสามารถแบ่งได้เป็น ๒ ส่วนดังนี้

          ๑. พื้นที่ส่วนอำนวยการ ซึ่งใช้เป็นพื้นที่ส่วนสำนักงานหรือที่ทำการสำหรับอำนวยความสะดวกแก่ผู้ที่มาติดต่อ ฯลฯ ซึ่งเป็นพื้นที่ๆมีความสัมพันธ์กับพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ที่มีเจ้าป่า-เจ้าเขา หรืออาจเรียกได้ว่าเป็นเทวา-อารักษ์ที่เป็นเจ้าของสถานที่แห่งนั้น หรือเทพองค์อื่นๆที่มีผู้คนเคารพนับถือและสร้างถวาย ฯลฯ ได้คุ้มครองดูแลผู้คนให้ปลอดภัยจากสิ่งไม่ดีต่างๆ

          ๒. พื้นที่เพื่อฝังร่างของผู้วายชนม์ ซึ่งมีอาณาบริเวณค่อนข้างกว้างเพื่อรองรับกลุ่มผู้วายชนม์ พื้นที่ดังกล่าวจะมีแนวลาดเอียงเพื่อไล่ระดับจากสุสานแถวหน้าให้ค่อยๆสูงขึ้นไปสู่ปราการหลังสุดของสุสานคือภูเขาหรือทิวเขาธรรมชาติ

          เมื่อพิจารณาพื้นที่ใช้งานของทั้งสองส่วนนี้ ตลอดจนสภาพแวดล้อมโดยรวมของสุสานจะพบว่า พื้นที่เหล่านี้แม้มีการแยกการใช้งานของพื้นที่ออกจากกันชัดเจน เพื่อความสะดวกต่อการมาประกอบพิธีกรรมของผู้มาเยือน นอกจากนี้พื้นที่ภายในสุสานยังให้ความสำคัญต่ออำนาจศักดิ์สิทธิ์ตามคติความเชื่อทางวัฒนธรรมจีน รวมถึง”เจ้าพ่อ”ซึ่งเป็นเทวา-อารักษ์ตามชื่อเรียกในท้องถิ่นที่สิงสถิตอยู่ตามสภาพแวดล้อมทางภูมิศาสตร์เหล่านั้นด้วยคือ ภูเขา ป่าไม้ ฯลฯ โดยมีการกำหนดที่ตั้งของส่วนสำนักงานและพื้นที่อเนกประสงค์อยู่ในระดับพื้นที่ค่อนข้างติดพื้นเดิน และมีการกำหนดที่ตั้งของเทพ เทวา อารักษ์ต่างๆอยู่สูงขึ้นไปตามเชิงเขา(ต้องเดินขึ้นบันได)โดยที่ตั้งของเทพเหล่านี้จะประทับในระดับความสูงที่มีการลดหลั่นไปตามศักดิ์ของแต่ละองค์ ซึ่งเป็นในแนวคิดเดียวกันกับสถานที่ฝังร่างของผู้วายชนม์จะมีราคาสูงเมื่ออยู่ในระดับพื้นที่ที่มีระดับความสูงตามลำดับ เช่นกัน

ขอขอบคุณ

สุสานสุขาวดี อำเภอหนองแค จังหวัดสระบุรี อนุญาตให้บันทึกภาพจากอากาศยานโดรนเพื่อการศึกษาทางวัฒนธรรม

บรรยากาศบริเวณเชิงเขา มีองค์ประกอบของศาลเจ้า(เทวา อารักษ์ผู้ดูแลสถานที่ อาทิ เจ้าป่า เจ้าเขา ฯลฯ ซึ่งรวมถึงเทพเจ้าจีน ตั้งแต่เทพยดาฟ้าดิน: “ทีกง” แป๊ะกง จนถึงเทพแห่งผืนแผ่นดิน”ตีจู่เอี้ย” ฯลฯ)

ภาพมุมสูงแสดงสภาพแวดล้อมโดยรอบของสุสาน โดยมีทิวเขาเป็นปราการฉากหลัง

ภาพมุมสูงแสดงกลุ่มอาคาร ศาลเจ้าและศาลาที่พักบริเวณเชิงเขา

ภาพแสดงกลุ่มอาคารของศาลเจ้าและศาลา สามารถเข้าถึงได้ตามระดับความสูงของเชิงเขาผ่านขั้นบันได

ภาพทางอากาศแสดงกลุ่มอาคารส่วนอำนวยการที่เกาะติดไปกับเชิงเขา

กลุ่มอาคารศาลาจีนตามจุดต่างๆตั้งแต่ระดับเหนือพื้นดินเล็กน้อยและตามเชิงเขา โดยมีการสร้างไปตามแนวพื้นที่ต่างๆของภูเขา

แสดงภาพรวมของพื้นที่สุสานของกลุ่มผู้วายชนม์ มักมีการอิงแนวยอดที่สูงสุดของภูเขาเป็นจุดศูนย์กลางเพื่ออ้างอิงแกนไปสู่ทุกตำแหน่งของหลุมฝังศพตามความเชื่อเพื่อความมั่นคงและเป็นมงคลต่อผู้วายชนม์และลูกหลาน

ผังแสดงรูปแบบของพื้นที่หลุมฝังเรียงติดกันเป็นทิวแถวโดยมีด้านหน้า(พื้นที่สีขาว)เป็นแนวโอบโค้ง และด้านหลังเป็นเนินดินมักปูด้วยหญ้าสีเขียวขจี เปรียบเหมือนเนินดินหรือภูเขาลูกย่อมอยู่เหนือร่างของผู้วายชนม์

ภาพมุมกว้างแสดงทัศนียภาพโดยรวม
ด้านซ้ายติดภูเขาเป็นที่สิงสถิตของเทพองค์ต่างๆ
ด้านขวาเป็นทางลาดลดระดับลงสำหรับเป็นพื้นที่ฝังร่างของผู้วายชนม์

ศาลาทรงเกี้ยว(มณฑป)ที่อยู่ตามเชิงเขา ผู้คนที่มาเยือนก็มานั่งพักหลบแดดได้เช่นกัน สังเกตส่วนยอดประดับด้วยหม้อน้ำศักดิ์สิทธิ์ทรงน้ำเต้าตั้งอยู่บนฐานบัว ๓ ชั้น  นอกจากจะเป็นภาชนะเก็บน้ำศักดิ์สิทธิ์ได้แล้ว ยังใช้ดูดสิ่งไม่ดีเข้าไปขังอยู่ภายในได้ด้วย (function แบบ 2 in 1 โดยแท้)