“ทวี รัชนีกร” กับปรากฏการณ์แห่งอุดมการณ์

เรื่อง: ฅน บางกอก

18/9/2565

          หากนึกถึงศิลปินด้านทัศนศิลป์ที่มีผลงานโดดเด่นด้วยแนวคิด สร้างสรรค์ และมักสะท้อนผลงานผ่านเรื่องราวสำคัญในช่วงเวลาต่างๆ โดยเฉพาะเรื่องราวที่เป็นประเด็นทางสังคมเหมือนคอยเป็นกระจกสะท้อนสิ่งที่เกิดขึ้นจริง ซึ่งหลายครั้งหลายเหตุการณ์ดูเหมือนทุกคนเห็นตำตาจนกลายเป็นเรื่องคุ้นชิน  “ศิลปิน + อาจารย์” ท่านนี้ได้นำเรื่องราวต่างๆมาบันทึกโดยสร้างสรรค์เป็นงานศิลปะจนกลายเป็น “ลายเซนต์” (signature)  ที่หลายคนต้องนึกถึงคือ อาจารย์ “ทวี รัชนีกร” ศิลปินผู้มีถิ่นฐานบ้านเกิดจากลุ่มน้ำแม่กลอง

โดยส่วนตัวได้เคยเห็นงานของอาจารย์ทวี แบบค่อนข้างฟูลออปชั่นครั้งแรกที่หอศิลป์เจ้าฟ้า (พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป์) เมื่อหลายปีก่อน (ก่อนหน้านี้เห็นแต่งานเกาเหลาเหล่าศิลปินบ้าง จากภาพถ่ายบ้าง) จำได้ว่าเย็นวันที่เปิดนิทรรศการครั้งนั้น พี่หงา (คาราวาน) มาแสดงดนตรีแบบมินิคอนเสิร์ตเป็นการโหมโรงให้กับนิทรรศน์ได้แบบ“อบอวลถึงกลิ่นอายของแดนดินแห่งที่ราบสูง” เลยทีเดียว  เหตุผลนึงเป็นเพราะบทเพลงและตัวชิ้นงานศิลปะไปใปทิศทางเดียวกัน

จากคนลุ่มน้ำแม่กลอง มีส่วนสำคัญไปสร้างความงดงาม ได้ไปบ่มเพาะ “เมล็ดพันธุ์” คนรุ่นต่อๆมาในดินแดนที่ราบสูงที่ยังคงห่างไกลความเจริญในช่วงเวลานั้น  ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ “อาจารย์ทวี” ได้สร้างสรรค์ผลงานของตัวเองโดยมีวัตถุดิบ (Source) ในดินแดนที่ราบสูงโคราชนั้นเอง  และยังมีส่วนสำคัญในการไปสร้างคนรุ่นใหม่ๆ ให้เป็น ศิลปิน, นักออกแบบ ฯลฯ อย่างมากมาย

นิทรรศการที่จะเล่าสู่กันฟังครั้งนี้เพิ่งจัดไปที่ “หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร” กลางเมืองหลวง  ซึ่งมีผลงานของอาจารย์ทวีนำมา “จัดหนักแบบชิล” ครบเครื่อง โดยสามารถแบ่งชุดนิทรรศการไปตามหัวข้อต่างๆ คือ…

1. รัฐบาล นักการเมืองและระบบเครือข่ายอุปถัมภ์

2. การกดขี่เพศหญิงในสังคมชายเป็นใหญ่

3. นามธรรม อินทรีย์รูป และพลังของชีวิต

4. ความเชื่อ ศรัทธา และท้องถิ่นนิยม

5. โลกาภิวัฒน์ บริโภคนิยม และวัฒนธรรมร่วมสมัย

6. ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

7. ปรากฏการณ์แห่งอุดมการณ์ ณ ปัจจุบัน

หากจะไล่เลียงเรื่องราวต่างๆที่คนทำเนื้อหาพยายามแจงสี่เบี้ยออกมา จะพบว่ามีการนำเอา “ชีวิต” และ “เรื่องราว” ต่างๆของอาจารย์ทวีมา “ร้อยเรียงผ่านห้วงของวัน-เวลา” (chronological)  ผสมกับ การสรุปประเด็นให้เป็นหัวข้อต่างๆ (Thematic) จึงทำให้การนำเสนอผลงานศิลปะของอาจารย์ทวีในครั้งนี้ได้ทั้ง รสชาติ และอารมณ์ความรู้สึกแบบ “แสบๆ คันๆ” 😂😆   คลุกเคล้า “สาระเนื้อหาที่จริงใจ” (เป็นการสะท้อนข้อเท็จจริงที่เป็นไปตามช่วงเวลาของสังคม) ที่ถูกเคลือบด้วยความงามทาง “ศิลปะ” ซึ่งมีความงามทั้ง “สีสัน และ รูปทรง”  ทำนองเดียวกับเครื่องยนต์ไฮบริด (hybrid) ใช้ได้ทั้งระบบไฟฟ้าและน้ำมันที่กำลังนิยมใช้กับรถยนต์ตอนนี้  😁😎👌

นอกจากนี้ งานศิลปะของอาจารย์ทวี ยังเคยได้รับการวิจารณ์ (คือติชมน่ะแระ😊😉)  จากอาจารย์ศิลป์ พีระศรี ในฐานะครู อาจารย์ไว้ว่า

 

ในบรรดางานของนายทวี เราชอบภาพ “วัด” และ “ภาพนิ่ง” มาก เพราะมีสีสดสว่าง อันเป็นบรรยากาศของประเทศเมืองร้อนของเรา

 

คำวิจารณ์ของอาจารย์ศิลป์ ที่สั้นๆ แต่มีคุณค่ามาก เพราะอาจารย์ศิลป์ คงจะเห็นถึงการรับรู้และเข้าใจเรื่อง สีสัน บรรยากาศที่โดดเด่นด้วยความสดสว่าง คุ้นชินตา จนดูเหมือนเป็นเรื่องธรรมดาของบ้านเรา  หากแต่อาจารย์ทวีได้นำสาระเหล่านี้มาปรุงแต่ง “เพิ่มคุณค่า” เข้าไปโดยแปลงเป็นผลงานศิลปะ

ในทรรศนะของ ลักขณา คุณาวิชยานนท์ ในฐานะผู้ปฏิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ก็ได้กล่าวถึงผลงานของ “อาจารย์ทวี” ไว้ว่า

ความงามในผลงานของอาจารย์ทวี รัชนีกร อาจแตกต่างจากศิลปินท่านอื่นๆในรุ่นเดียวกัน เพราะสะท้อนภาพที่อาจไม่สวยงาม (แต่เราว่ามีความงดงามมักๆ ทั้งในด้านสาระ เรื่องราวที่ถูกผนึกรวมอยู่ในตัวชิ้นงานศิลปะ  ความเห็นส่วนตัวนะ 😂😆😎)  แต่มีความสะเทือนใจในความเป็นไปของสังคมของผู้ที่ถูกกดขี่ เอาเปรียบคนตัวเล็กๆที่ไม่มีอำนาจในการต่อสู้ หรือปกป้องตัวเองเพื่อความยุติธรรม

นอกจากนี้ “วุฒิกร คงคา”  ก็ได้วิเคราะห์ถึงผลงานอาจารย์ทวีไว้ว่า

การใช้ทัศนธาตุในการสร้างรูปแบบของทวีจึงสะท้อนแก่นสารของวิวัฒนาการของประวัติศาสตร์ศิลป์ ชนิดถอดรอยตาม ตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ 19 ล่วงเข้าสู่ต้นศตวรรษที่ 20 …แต่สิ่งที่ทวีต่างออกไป คือเขาใช้รูปแบบเหล่านี้ในการเล่าเรื่องราวร่วมสมัย มันไม่ใช่การพุ่งเป้าไปสู่การทำงานศิลปะเพื่อศิลปะ หรือแสดงพลังทางความงามอย่างเดียวเท่านั้น ทว่ามันคือการใช้ทัศนธาตุและรูปแบบเหล่านี้สะท้อนถึงวิถีชีวิตและสังคมรอบตัว

มาถึงวันนี้ เราว่างานของอาจารย์ทวียังคงมีการเดินทางทั้งทางด้านความคิด การสร้างสรรค์ควบคู่ไปกับเวลาที่เคลื่อนไปอยู่ตลอดเวลา  ซึ่งสอดคล้องกับมุมมองของ “ณรงค์ศักดิ์ นิลเขต” ได้สรุปจาก บันทึกจากที่ราบสูงโคราช ในช่วงทศวรรษ พ.ศ. 2530 ว่า

ผลงานศิลปะ(ของอาจารย์ทวี) ได้ขยายตัวออกจากกรอบของสีน้ำมันบนผ้าใบไปสู่การทำงานสื่อผสม ไม้แกะสลักและประติมากรรม รวมไปถึงประติมากรรมสาธารณะขนาดใหญ่ โดยมีการนำเอาความคิดของความเป็นท้องถิ่นนิยม(Localism) เข้ามาใช้ ไม่ว่าจะเป็นเนื้อหาเกี่ยวกับความเชื่อและภูมิปีญญาท้องถิ่น

ในความเห็นส่วนตัวแล้ว ชอบงานของอาจารย์ทวี ที่เต็มไปด้วยสาระที่หนักอึ้ง แต่แฝงไว้ด้วยความมีอารมณ์ขัน จิกกัด ชนิดที่ว่ายืนเสพผลงาน มีหลายชิ้นที่ “ชมไป ต้องอมยิ้มไป” 😂😎😆  หลายชิ้นแสดงการต่อต้านความไม่ยุติธรรม แต่การแสดงออกผลงานก็ยังมีความงดงามทางด้าน “สุนทรียศิลป์” ที่ตั้งใจแสดงออกถึงอารมณ์ ความรู้สึก ที่มีความสวยงามคู่ขนานไปกับสาระ เรื่องราวที่ถูกผนึกรวมอยู่ในตัวชิ้นงานผ่านความเจนจัดในการใช้ เส้น สี รูปทรง องค์ประกอบ ฯลฯ เพื่อที่จะมาจัดวางทั้งในพื้นที่ สองมิติ (เช่นผืนผ้าใบ ฯลฯ) และพื้นที่ที่เป็น สามมิติ (installation) ภายใต้แนวคิด สภาพแวดล้อมที่ได้กำหนดไว้

วันที่ 15 กันยา ที่ผ่านมาเป็นวันศิลป์ พีระศรี ซึ่งอาจทารย์ ทวี รัชนีกร ถือเป็นหนึ่งในศิษย์ก้นกุฏิคุณภาพท่านนึง หากคำว่าลูกไม้หล่นไม่ไกลต้น ผลงานสร้าสรรค์ของอาจารย์ ทวี ก็น่าจะเป็นหนึ่งในตัวอย่างวลีดังกล่าว โดยที่ลูกไม้นั้นได้แตกหน่อ ออกช่อ งดงามในในวิถีของตัวเอง โดยที่ผลงานอาจไม่จำเป็นต้องมากด้วยกลิ่นอายแบบเดียวกับของครูอาจารย์ หากแต่ได้ ผลิดอก ออกผล ไปในทิศทางของตัวเอง ภายใต้ “ปรากฏการณ์แห่งอุดมการณ์ (ทางศิลปะ)” ที่แสดงความเป็นมนุษย์ได้อย่างสมบูรณ์ สมกับคำพูดที่ “อาจารย์ศิลป์” เคยสอนไว้ว่า

พวกเธอต้องเรียนรู้ความเป็นมนุษย์ก่อน… ถึงจะเรียนศิลปะ

เสียดายนิดเดียวตรงที่ อยากบอกเล่าเรื่องราวนี้ให้ไวกว่านี้ เพราะอยากชวนมิตรสหายที่สนใจ หรืออาจยังไม่สนใจงานศิลปะ ลองเข้าไปสัมผัส เรียนรู้ สิ่งที่มีความสวยงาม (ทั้งสีสัน รูปทรง ฯลฯ) แบบสบายตา ภายใต้ที่มาของเรื่องราวที่เต็มไปด้วยสาระแบบ “เนื้อๆ” หากเทียบเป็นแนวเพลงก็น่าจะประมาณ Ballad Rock ของกลุ่ม Metal  ที่น่าจะทำให้หลายคนได้มุมมอง อรรถรสบางสิ่งกลับไป เพื่อนำพาชีวิต “ไปต่อ” ท่ามกลางความซับซ้อนในสังคมทุกวันนี้

 

อยากฟัง “อาจารย์ทวี” เล่าเรื่องราวต่างๆ ชวนมิตรสหายเข้ามาดูได้จากลิ้งค์ข้างล่างได้

https://youtu.be/aR4JQ-lS4mo

 

รายการอ้างอิง

-2565. มูลนิธิหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร. “ทวี รัชนีกร: ปรากฏการณ์แห่งอุดมการณ์.”  หนังสือสูจิบัตรประกอบการจัดแสดงนิทรรศการ ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร. โรงพิมพ์ภาพพิมพ์.

-รายการภาพ: ศูนย์ศิลปะวัฒนธรรมสัญจร

 

มาชมผลงานศิลปะบางส่วนของ “อาจารย์ ทวี” กัน

การเมืองแบบไทยๆ, 2545

สินค้าส่งออก, 2545

หีบสมบัติบ้า, 2541

รื่นเริงในงานเลี้ยง, 2549

ทุกข์ของชาวนา, 2556

บ้ายศถาบรรดาศักดิ์, 2545

บ่อนอก, 2544

คุก, 2565

เซ่นไหว้, 2556

จุดจบของนักล่า, 2547

ขุมที่ 15 หน้าตาพิลึก, 2550

ประชุม ครม., 2547