บันทึก “ตึกเหลือง” บันทึกความมุ่งหมายของในหลวงรัชการที่ ๖

ฅน บางกอก

๒๔ มีนาคม ๒๕๖๕

…. ราว ๕ ปีก่อนหรือก่อนหน้านั้น หากใครเคยเดินเข้าไปใน “วชิรพยาบาล” ซึ่งเป็นชื่อพระราชทานของในหลวงรัชกาลที่ ๖ ที่มีบันทึกระบุว่าพระองค์ทรงสถาปนาสถานที่แห่งนี้ในปี พ.ศ. ๒๔๕๕ โดยมีใจความสำคัญว่า

…. “บัดนี้โรงพยาบาลอันนี้ ก็ได้ตกแต่งขึ้นพร้อมแล้ว เราขอให้นามว่า วชิรพยาบาล และขอมอบที่นี้ไว้เปนสาธารณสถาน เปนสมบัติสิทธิ์ขาดแก่ประชาชนชาวไทย” ….

….มาถึงทุกวันนี้ หากใครมีโอกาสเดินไป-เดินมาในวชิรพยาบาล น่าจะเคยเห็นตึกงามทรงยุโรปสองชั้น ที่มีความสวยงามด้วยคุณค่าทางศิลปะ-สถาปัตยกรรมหลังนึงในเมืองกรุงเทพฯเลยทีเดียว

….เมื่อหลายปีก่อน ตึกที่พูดถึงหลังนี้เคยตั้งอยู่ด้านหลังตึกอำนวยการหลังเก่า (ตึกอำนวยการที่ว่า ตอนนี้มีสภาพกลายเป็นลานโล่งไปแล้ว) เพราะทางโรงพยาบาลปรับปรุงสภาพแวดล้อมใหม่ โดยให้มีพื้นที่ใช้งานเพิ่มขึ้นทางแนวดิ่ง (คือทำเป็นตึกสูงน่ะ) พร้อมกับเคลียรพื้นที่ของกลุ่มอาคารเดิมๆสองถึงสามชั้นทางฝั่งถนนสุโขทัยออก แล้วสร้างขึ้นเป็นตึกสูง ชื่อ “อาคารทีปังกรรัศมีโชติ” (ชาวบ้านมักเรียกกันสั้นๆว่า “ตึกทีปังกร”)

….มาถึงปัจจุบันนี้ หากจะถามว่า อะไรคือสิ่งที่บ่งบอกความเป็นรากของ “วชิรพยาบาล” อย่างเป็นรูปธรรมที่แสดงให้เห็นได้จาก “ภาพจำ” หรือความทรงจำที่สามารถบ่งบอกถึง จิตวิญญาณของสถานที่แห่งนี้ได้ชัดเจนที่สุด คงหนีไม่พ้นหลักฐานที่แสดง “ความเก๋า” ได้ชัดเจนที่สุดก็คือ “ตึกเหลือง” ซึ่งมีที่มาจาก “บ้านหิมพานต์” หรือ “ป๊ากสามเสน” อันเคยเป็นคฤหาสน์ของ พระสรรพการหิรัญกิจ”(เชย อิสรภักดี) ซึ่งในสมัยนั้นท่านเป็นนายธนาคาร (ชาวบ้านเรียกนายแบงก์) ของแบงก์สยามกัมมาจล (ปัจจุบันก็คือ ธนาคารไทยพาณิชย์นั่น)

….เท่าที่พอจะตามมาได้ ทำให้รู้ว่าสมัยแรกเริ่มของการเป็น “ป๊ากสามเสน” พระเอกของ “ป๊าก (Park)” ก็คืออาคารที่เป็นเรือน ๒ – ๓ ชั้นทรงคุณค่าที่ตั้งอยู่เคียงกัน คือมีเรือนทรงตึกสีชมพู เรือนทรงตึกสีเหลือง ฯลฯ โดยมีการจัดสวนแบบฝรั่ง ซึ่งถือเป็นปรากฏการณ์สวนแบบฝาหรั่งในยุคแรกๆของ “บางกอก” (ใครนึกหน้าตาสวนไม่ออก ให้นึกถึงฉากที่เป็นสวนแบบในหนัง บ้านทรายทอง น่าจะถึงบางอ้อได้😁😁 ) หรือพูดง่ายๆคือเป็นสวนประดิษฐ์ โดยมีจุดเด่นคือมีการออกแบบทำให้ผังของสวนที่อยู่โดยรอบอาคารมีเส้นสายแบบเรขาคณิต เพื่อมาตกแต่งเสริมให้ตัวเรือนที่เป็นตึกมีความโดดเด่นมากขึ้น ฯลฯ

….เมื่อผ่านพ้นความรุ่งโรจน์ของ “ป๊ากสามเสน” เจ้าของคฤหาสน์ก็ถูกฟ้องล้มละลาย เป็นผลให้ต้องมีการขายทรัพย์สินทั้งหมดรวมถึงพื้นที่ในบริเวณนี้ให้กับ “พระคลังข้างที่” และด้วยความเปลี่ยนแปลงทางสังคมอย่างรวดเร็ว ซึ่งได้รับอิทธิพลแนวคิดมาจากประเทศตะวันตก เช่นระบบการศึกษา การสาธารณสุข ฯลฯ รัชกาลที่ ๖ จึงทรงปรับเปลี่ยนสถานที่แห่งนี้ให้เป็นสถานพยาบาล เพื่อเพิ่มจำนวนของระบบสาธารณสุขในเขตกรุงเทพฯให้มีมากขึ้นตามการเติบโตของเมืองแทนการสร้างวัดประจำรัชกาลดังที่เคยมีมาก่อนนี้

….ย้อนกลับมาพูดถึง บริเวณที่ตั้งของตึกอำนวยการหลังเดิม ก็คือพื้นที่ลานเปิดโล่งด้านหน้าที่เป็นสวนประดิษฐ์ในวันนี้ ได้ช่วยเสริมควมงามให้กับ “ตึกเหลือง” แต่หากนึกถึงสภาพแวดล้อมที่ยังมีตึกอำนวยการเมื่อหลายสิบปีก่อน เมื่อมองเข้ามาจากด้านหน้าของโรงพยาบาลตรงถนนสามเสน ตึกอำนวยการจะมีความโดดเด่น โดยมีพระบรมรูป(รูปปั้น)ของ รัชกาลที่ ๖ ประทับยืนอยู่ด้านหน้าตึกอำนวยการ สรุปง่ายๆคือตึกอำนวยการที่ว่าก็ได้บดบังมุมมองของ “ตึกเหลือง” ที่ตั้งอยู่ด้านหลังซะมิดนั่นแระ😁😉😁 มาวันนี้ทางโรงพยาบาลก็มีการคืนพื้นที่ให้เกิดบรรยากาศดั้งเดิมกลับมาอีกครั้งในมุมมองใหม่ โดยตั้งใจเน้นให้ “ตึกเหลือง” กลับมามีความโดดเด่นอีกครั้ง

….ภาพนี้ วาดไว้เมื่อตอนมาใช้บริการที่ วชิรพยาบาล ช่วงปลายปี พ.ศ. ๒๕๖๐ ระหว่างที่รอการตรวจก็จะพอมีเวลาชิลๆ โดยการบันทึกภาพผ่านภาพวาดบนมือถือ เพราะไม่ได้ตั้งใจเตรียมอุปกรณ์ไรมาเลย แต่ก็ถือเป็นเวลาคุณภาพแห่งการรอการเรียกตรวจได้ดีทีเดียว นั่งวาดไปบนชั้นสองตรงระเบียงทางเดินของตึกศัลยกรรม มั้ง? 😁😆 ตึกนี้อยู่ตรงข้ามกับตึกเหลืองเลย ใครไปตอนนี้ตรงชั้นล่างก็มีทางเดินลงไปลานของตึกเหลืองได้ ซึ่งที่เห็นสวยๆนั่นน่ะคือด้านหลังของตึก 😉 ด้านหลังยังงามยังงี้ ด้านหน้าก็จินตนาการกันเอาละกัน 😆✨🤞😉 (ความจริงคือตอนที่วาด ด้านหน้าเขากั้นคอกไว้เพราะยังอยู่ในเขตพื้นที่ก่อสร้างเลยเข้าไม่ได้ ชะงื้อก็ไม่เห็น 😁😁)

….ภาพที่วาดนี้ แม้จะเป็นด้านหลังของตึกเหลือง แต่ก็ยังคงเห็นถึงความสวยงามได้ จากลักษณะของผัง ยังทำให้รับรู้ได้ถึงความสำคัญของพื้นที่บริเวณนี้ที่แสดงถึงความเป็นส่วนตัวของเจ้าของตึก(ในสมัยนั้น)ต้องการเปิดพื้นที่โล่งด้วยการทำดาดฟ้าชั้นบน ในลักษณะ “มุข” พร้อมระเบียงลูกกรงตกแต่งโดยหันทิศไปทางแม่น้ำเจ้าพระยา (ตอนนี้ หันมาก็เจอตึกศัลยกรรม 😁😎) จากภาพที่บันทึก จะเห็นว่า “ตึกเหลือง” มีรูปร่างหน้าตาแบบตึกฝรั่ง หลังคาทรงปั้นหยา มุงด้วยกระเบื้องว่าว ส่วนยอดของหลังคาที่มีส่วนของสันหลังคามาบรรจบกันประดับด้วย “เสายอดธง” ในลักษณะเดียวกับเรือนแบบ “สรไน” ที่มีความนิยมในช่วงเวลานั้น

….ส่วนบนสุดของแผงผนังที่ติดกับแนวฝ้าเพดานภายนอก เป็นแผง “คอสอง”มีการเดินลวดลายปูนปั้นตกแต่งแบบตะวันตกพร้อมลวดบัวขนาบทั้งบน-ล่าง ชุดของหน้าต่างก็มีการตกแต่งด้วยช่องแสงที่เป็นวงโค้งพร้อมด้วยลายปูนปั้น รูปแบบของชุดช่องเปิดที่เป็นประตู-หน้าต่างของตึกหลังนี้มีการเน้นขอบบนเป็นวงโค้ง รวมถึงชุดของทิวเสาที่เป็นซุ้มโค้งต่อกันซึ่งเป็นส่วนของมุขชั้นล่างกับดาดฟ้าที่อยูชั้นบน

….มองถัดออกไปไกลสุดของภาพที่เห็นเป็นตึกน้ำหนักสีอ่อนๆ คือกลุ่มอาคารที่เป็นลักษณะเรือน ๒-๓ ชั้น จำได้ว่าราว ๓๐ ปีก่อนมีร้านอาหารของโรงพยาบาล มีตึกพักผู้ป่วย ฯลฯ อยู่ในโซนนี้ ซึ่งก็รวมถึงพื้นที่ของตึกแถวบางส่วนที่ติดถนนด้วย ปัจจุบันพื้นที่บริเวณนี้ถูกปรับเปลี่ยนการใช้งานเพื่อสร้างเป็นตึกทีปังกรแล้ว สังคมเมืองเปลี่ยนไป การแพทย์และระบบสาธารณสุขก็พัฒนาเพื่อให้รองรับสังคมเมืองที่เปลี่ยนตามไป

….ส่วนที่เห็นขอบของมุมตึก(ซ้ายบนของภาพ) ก็คือตึกศัลยกรรมที่ตอนนี้ยังคงสภาพเดิม เพราะยังเป็นตึกที่มีสภาพใหม่ทันสมัยตามที่สายตาเห็นนะ และก็เป็นตึกสูงอีกด้วย ตอนนี้เลยกลายเป็นฉากหลังที่ค่อนข้างติดชิดกัน จึงทำให้ไม่ค่อยมีระยะมองที่จะช่วยให้ตึกเหลืองมีความสง่างามแบบโปร่งๆ เบาๆ เท่าไรนัก อย่างไรก็ตาม พอมีการเปิดลานโล่งตรงบริเวณพื้นที่ด้านหน้าของตึกแทน(ภาพที่วาดเป็นด้านหลัง) เลยทำให้ตึกเหลืองกลับมาโดดเด่นอีกครั้งในลักษณะเดียวกับเมื่อครั้งที่บริเวณนี้เคยเป็นลานโล่งหน้าตึกในสมัยที่เป็น “ป๊ากสามเสน” ใน “อากัปกิริยาใหม่” ในวันนี้ที่ต่างกันด้วย “วันเวลา”

ชื่อภาพ “ตึกเหลือง ลำดับที่ ๑”

วาดบน “Samsung Note 2”

ขนาดภาพ “7 x 12.4 เซนติเมตร”

ระยะเวลาวาด “๘ นาที”