การจัด “สภาพแวดล้อม” ที่เอื้อกับการใช้พื้นที่เพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิตต่อผู้คนในสังคม

         สวรรค์ ตั้งตรงสิทธิกุล

30 เมษายน 2565

……….“สภาพแวดล้อม” มีความสำคัญต่อการใช้ชีวิตของมนุษย์และมีความสัมพันธ์ต่อการใช้พื้นที่ต่างๆ ซึ่งอาจมีความเหมือนหรือแตกต่างกันโดยมีสภาพทางภูมิศาสตร์เป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญ  มนุษย์จึงพยายามจัดการและปรับปรุงสภาพแวดล้อมให้มีความสอดคล้องกับกิจกรรมผ่านพื้นที่การใช้งานในหลายมิติ  นอกจากปัจจัยทางด้านภูมิศาสตร์แล้ว ยังมีปัจจัยสำคัญอื่นที่ส่งผลถึงการใช้พื้นที่มีชีวิตภายใต้สภาพแวดล้อมนั้นให้มีความเป็นอยู่ได้อย่างปกติสุข คือ พื้นที่ที่เอื้อต่อภาวะที่เรียกว่า “สบายกาย สบายใจ” ซึ่งสามารถรับรู้ได้ถึง ความอบอุ่น รื่นรมย์ และมีความปลอดภัย

……….สภาพแวดล้อมที่ผ่านการปรุงแต่ง โดยสรรค์สร้างพื้นที่ให้ผู้คนมีความเป็นอยู่ที่ปกติสุขและมีความปลอดภัย จึงเป็นความรู้สึกที่อยู่ในสภาวะที่เรียกว่า “อยู่สบายแบบธรรมชาติ” ทั้งทางด้าน “ร่างกาย” และ “จิตใจ” ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญของมนุษย์ที่ช่วยส่งเสริมให้เกิดคุณภาพชีวิตที่ดีต่อผู้คนในสังคม  การจัด “สภาพแวดล้อม” ที่สอดคล้องกับพื้นที่ใช้งาน (Function) จึงเป็นการเอื้อให้เกิดกิจกรรมในการใช้ชีวิตประจำวันให้เกิดความปลอดภัย และมีความสุขกับการได้อยู่ ณ บริเวณพื้นที่ (Space) แห่งนั้น

……….ในสังคมปัจจุบัน มีผู้คนที่มีความหลากหลายทั้งทางด้านเพศและวัย ในความหลากหลายดังกล่าว ยังมี “กลุ่มคนพึงได้รับความเท่าเทียมในการดำเนินชีวิต” ซึ่งเป็นกลุ่มประชากรที่จำเป็นต้องเข้าถึงการใช้พื้นที่ที่มีสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการใช้ชีวิตให้เท่าเทียมกับกลุ่มคนโดยทั่วไป ประชากรกลุ่มดังกล่าวได้แก่ เด็ก เยาวชน สตรีมีครรภ์ ผู้พิการ ผู้สูงวัย ฯลฯ  แม้ว่าผู้คนกลุ่มต่างๆเหล่านี้จะมีข้อจำกัดในการดำเนินชีวิตที่ไม่เหมือนกันทั้งหมด แต่ก็มีหลายเงื่อนไขสำคัญที่มีความสอดคล้องร่วมกันที่สังคมสามารถร่วมกันสร้างสรรค์สภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อการใช้ชีวิตของกลุ่มคนดังกล่าวให้กลับมามีความใกล้เคียงกับผู้คนปกติ เพื่อให้ทุกกลุ่มของประชากรมีคุณภาพชีวิตใกล้เคียงกันโดยสามารถใช้ชีวิตได้อย่างปกติสุข

……….สภาพแวดล้อมอันเป็นพื้นที่เอื้อต่อการใช้ชีวิตของผู้คนในสังคมโดยทั่วไป สามารถแบ่งออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ คือ

……….1.สภาพแวดล้อมบนพื้นที่ปัจเจก (Private Area) ซึ่งเป็น พื้นที่ค่อนข้างส่วนตัว (Semi Private Area) ไปถึง พื้นที่ส่วนตัว (Private Area) เช่น บ้าน ที่พักอาศัย รวมถึง ห้องสุขาที่อยู่ในพื้นที่สาธารณะ ฯลฯ

……….2. สภาพแวดล้อมบนพื้นที่สาธารณะ (Public Area) ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ผู้คนกลุ่มต่างๆสามารถเข้ามาใช้พื้นที่และอยู่ในสภาพแวดล้อมเดียวกัน ซึ่งมักมีขนาดของพื้นที่ใหญ่กว่าขนาดของพื้นที่ปัจเจก

……….สภาพแวดล้อมของกลุ่มพื้นที่ดังกล่าว อาจเป็นพื้นที่ทับซ้อนกัน ทั้งนี้ “ความปลอดภัยทางด้านร่างกาย” จึงเป็นปัจจัยสำคัญแรกที่พึงนำมาพิจารณาให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์การใช้งาน  สภาพแวดล้อมของพื้นที่ต่างๆที่ก่อให้เกิดคุณภาพชีวิตที่ดี สามารถแบ่งได้เป็น

……….ก. พื้นที่พักอาศัย คือพื้นที่ผู้คนใช้เพื่อพักอาศัย โดยมีจุดประสงค์เพื่อพักผ่อนหลับนอน เช่น บ้านเรือน โรงแรม รีสอร์ท ฯลฯ พื้นที่ดังกล่าวมีทั้งพื้นที่ปัจเจก และพื้นที่สาธารณะ ส่วนใหญ่จะให้ความสำคัญกับสภาพแวดล้อมในร่ม

……….ข. พื้นที่สถานพยาบาลและฟื้นฟู คือพื้นที่ใช้พักอาศัยในช่วงเวลาที่ผู้อาศัยอยู่ในสถานการณ์ที่ต้องการความช่วยเหลือจากผู้อื่น เช่น โรงพยาบาล ศูนย์อนามัย สถานดูแลผู้ป่วย หรือผู้พิการรวมถึงผู้สูงวัย ฯลฯ พื้นที่ดังกล่าวมีความจำเป็นในการเข้าถึงสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการส่งเสริมคุณภาพชีวิต เพื่อฟื้นฟูสรรถภาพทางร่างกาย รวมถึงความรู้สึกถึงอบอุ่นและปลอดภัยในจิตใจ  ส่วนใหญ่จะให้ความสำคัญกับสภาพแวดล้อมในร่ม

……….ค. พื้นที่สัญจรเพื่อการเดินทาง คือพื้นที่ผู้คนใช้เดินทางสัญจรจากที่หมายหนึ่งไปสู่อีกที่หมายหนึ่ง โดยมีองค์ประกอบต่างๆที่เอื้อต่อการสัญจร อาทิ สัญลักษณ์ต่างๆ เช่น ป้ายบอกทาง พื้นผิวถนน รวมถึงทางลาดที่เอื้อต่อ “กลุ่มคนพึงได้รับความเท่าเทียมในการดำเนินชีวิต” ฯลฯ ซึ่งมีสภาพแวดล้อมทั้งกลางแจ้งและในร่ม

……….ง. พื้นที่ศาสนสถาน คือพื้นที่ใช้ประกอบพิธีกรรมทางศาสนา เพื่อเยียวยา หรือเกื้อหนุนทางด้านจิตใจ เพื่อให้ผู้คนมีกำลังใจในการดำรงอยู่ในสังคมด้วยความสุขและมีความมั่นคงทางจิตใจที่มาจากความศรัทธาในสิ่งที่ผู้คนให้ความเคารพ นับถือ ฯลฯ ส่วนใหญ่จะให้ความสำคัญกับสภาพแวดล้อมในร่ม

……….จ. พื้นที่แหล่งเรียนรู้ คือพื้นที่ผู้คนสามารถเข้าถึงสิ่งที่ผู้คนมีความสนใจใคร่รู้ อาทิ พิพิธภัณฑ์ ศูนย์เรียนรู้ พื้นที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ สถาบันการศึกษา หอสมุด ฯลฯ  ซึ่งปัจจุบันมีสภาพแวดล้อมทั้งในร่มและกลางแจ้ง

……….ฉ. พื้นที่สันทนาการ  คือพื้นที่ผู้คนมารวมกันเพื่อการพักผ่อน หย่อนใจ รวมถึงการออกกำลังกาย เช่น สนามกีฬา สวนสาธารณะ ฯลฯ  ซึ่งปัจจุบันมีสภาพแวดล้อมทั้งในร่มและกลางแจ้ง

……….ช. พื้นที่การค้า คือพื้นที่ผู้คนมารวมกันเพื่อกิจการ แลก-เปลี่ยน ซื้อ-ขาย สินค้า เช่นตลาด ห้างสรรพสินค้า ศูนย์แสดงสินค้า ฯลฯ  ซึ่งมีสภาพแวดล้อมทั้งกลางแจ้งและในร่ม

……….ซ. พื้นที่กิจกรรมทั่วไป คือพื้นที่ผู้คนมารวมกันเพื่อทำกิจกรรมที่มีความหลากหลายในพื้นที่เดียวกัน (Multi Purpose) อาทิ หอประชุม ศาลาประชาคม ลานอเนกประสงค์ ฯลฯ ซึ่งมีสภาพแวดล้อมทั้งกลางแจ้งและในร่ม

……….เมื่อผ่านกาลเวลา พื้นที่ต่างๆเหล่านี้จะทำให้ผู้คนมีความรู้สึกถึงความผูกพันต่อสถานที่ มาสู่ภาพจำอันเป็นสำนึกร่วมของสถานที่ (Sense of Place) โดยมีสภาพแวดล้อม บรรยากาศให้ผู้คนระลึกถึงผ่านประสบการณ์ที่ผ่านมา ประสบการณ์เหล่านี้จึงควรเป็นประสบการณ์ที่ดีในการจดจำ (Memory) ของผู้คนในสังคม ตัวอย่างสำคัญของพื้นที่ดังกล่าวคือ “พื้นที่ประวัติศาสตร์” ของชุมชน ไปถึงระดับของเมือง ฯลฯ

……….ปัจจัยสำคัญที่ก่อให้เกิดคุณภาพชีวิตที่ดี และเอื้อต่อการใช้ชีวิตประจำวันทั้ง 2 ประเภทสามารถแบ่งได้ดังนี้

1. พื้นที่มีสิ่งอำนวยความสะดวกเอื้อต่อการใช้พื้นที่

……….1.1 ทางลาดที่มีความลาดชันไม่เกิน 5 องศา หรือในอัตราส่วนความชันที่ 1 : 12 โดยมีจุดพัก(ชานพัก) ไม่เกิน 6 เมตร ซึ่งสามารถรองรับการสัญจรด้วย “วีลแชร” ได้เป็นอย่างดี

……….1.2 ทางสัญจรทั่วไป มีปุ่มหรือผิวสัมผัสสำหรับผู้พิการทางสายตา มีความกว้างสามารถรองรับการสัญจรด้วย “วีลแชร”

……….1.3 พื้นผิวที่ช่วยลดความเสี่ยงเพื่อไม่ให้เกิดอุบัติเหตุ เช่นผิวหยาบถึงขรุขระเล็กน้อย ในขณะเดียวกันก็ไม่ก่อให้เกิดอันตรายเมื่อสัมผัส

……….1.4 การมีพื้นที่สำหรับใช้หยุดพักระหว่างทางสัญจร ควรมีสภาพแวดล้อมร่มรื่น มีอากาศไหลเวียน มีที่นั่งพัก เป็นลานโล่งที่มีร่มเงา เพื่อใช้พักผ่อนหย่อนใจระหว่างทาง

……….1.5 การใช้เทคโนโลยีช่วยอำนวยความสะดวก เพื่อให้เกิดความปลอดภัย เช่นการใช้ลิฟท์ บันไดเลื่อน การติดตั้งกล้องวงจรปิด ฯลฯ

……….1.6 การใช้แสงสว่าง เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัย สบายตา ในขณะเดียวกันสามารถป้องกันความร้อนได้เป็นอย่างดี

……….1.7 การใช้สิ่งที่เป็นธรรมชาติมาช่วยจัดสภาพแสดล้อม ต้นไม้ พรรณไม้ต่างๆ น้ำพุ น้ำตก ฯลฯ ธรรมชาติเหล่านี้ยังสามารถพัฒนามาเป็นนวัตกรรมผ่านรูปแบบของเครื่องเรือน เครื่องใช้ ฯลฯ ได้เช่นกัน

……….1.8 การไหลเวียนของอากาศที่เหมาะสม สอดคล้องกับธรรมชาติแวดล้อมในบริเวณนั้น เช่น การออกแบบให้ช่องเปิด (ช่องลม ฯลฯ) ให้มีความสอดคล้องกับทิศทางของลมตามธรรมชาติ  การเปิดช่องโล่งเพื่อให้มีแสงแดดเข้าถึงพื้นที่ในบางส่วน บางเวลา  การสร้างละอองของความเย็นเพื่อลดความร้อน ฯลฯ

2. พื้นที่มีความเสี่ยงอันนำไปสู่ความไม่ปลอดภัย

……….2.1 พื้นที่มีความเป็นซอก เป็นหลืบ  ลับตาผู้คน ซึ่งมักเป็นสภาพแวดล้อมที่มีผู้คนผ่านน้อย

……….2.2 พื้นที่มีความมืด สลัว แสงไฟส่องไม่ถึง โดยเฉพาะช่วงเวลาพลบค่ำ

……….2.3 พื้นที่มีความอับชื้น อากาศไม่ไหลเวียน ซึ่งนำไปสู่ความเสี่ยงของเชื้อโรคต่างๆ

……….2.4 พื้นที่ทีสภาพชำรุด ขรุขระ  มีความลาดชันไม่ได้ตามมาตรฐาน ฯลฯ

……….2.5 พื้นที่มีสภาพแวดล้อมรกร้าง มีสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยว มีสิ่งปฏิกูล ฯลฯ ซึ่งมักเป็นพื้นที่ผู้คนสัญจรน้อย

……….จะพบว่าพื้นที่ที่มีความเสี่ยงและนำไปสู่ความไม่ปลอดภัย มักมีองค์ประกอบของสภาพแวดล้อมไปในทิศทางเดียวกันคือ อับ เปลี่ยว สลัว เป็นซอกหลืบ รกร้าง ฯลฯ สภาพแวดล้อมดังกล่าวมาจากการไม่ค่อยได้ใช้งาน หรือไม่ได้มีการใช้งานในพื้นที่เหล่านั้นเป็นเวลานาน

……….ในบางครั้งมาจากการสร้างสรรค์สภาพแวดล้อมทางสถาปัตยกรรมที่อาจมุ่งเน้นการใช้สอยของพื้นที่จนอาจละเลยการให้ความสำคัญในประเด็นของที่ว่างทางสถาปัตยกรรม(Space in Architecture) ที่ก่อให้เกิดสภาพแวดล้อมที่มีลักษณะเป็นซอกหลืบ รวมถึงการวางผังของอาคารที่มีด้านหน้าอาคารที่ไม่มีความสัมพันธ์กัน ทำให้ขาดความสัมพันธ์ในด้านมุมมอง(Visibility) ของผู้คนในแต่ละอาคารที่ไม่สามารถช่วยกันสังเกต เฝ้าระวังอันตรายจากมิจฉาชีพ ฯลฯ  รวมถึงบริเวณพื้นที่ทางลาด ลิฟท์ ฯลฯ ซึ่งมี “กลุ่มคนพึงได้รับความเท่าเทียมในการดำเนินชีวิต” ที่มีความจำเป็นต้องพึ่งพาสิ่งอำนวยความสะดวกเหล่านี้ อาจได้รับการช่วยเหลือล่าช้าหากอยู่ลับตาผู้คน

……….นอกจากพื้นที่ดังกล่าว ยังมีพื้นที่อื่น เช่น บริเวณลานหน้าอาคาร พื้นที่โถงตามจุดต่างๆภายในอาคาร ฯลฯ พื้นที่เหล่านี้สามารถแก้ปัญหาด้วยการติดตั้งกล้องวงจรปิด ซึ่งเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ช่วยให้ผู้คนเข้าถึงสภาพแวดล้อมที่มีความสำคัญเหล่านี้ เพื่อให้เกิดสภาพแวดล้อมที่มีความปลอดภัย นำมาซึ่งความอุ่นใจสำหรับผู้คนได้เช่นกัน

……….การใช้ “แสงสว่าง” เพื่อสร้างบรรยากาศที่อบอุ่น ปลอดภัย  การนำธรรมชาติแวดล้อม เช่น ต้นไม้ที่มีสีสัน  รวมถึงการใช้วัสดุที่แปรรูปมาจากธรรมชาติ เช่น ผิวสัมผัสของไม้ หิน เม็ดทราย ฯลฯ ก็มีส่วนทำให้ผู้คนได้ใกล้ชิดกับธรรมชาติ เอื้อต่อความรู้สึกถึงความผ่อนคลายและรื่นรมย์   ตลอดจนการสร้างสรรค์ให้มีระบบอากาศที่ไหลเวียน  การใช้วัสดุที่ใช้จับ ยึดเหนี่ยวที่กระชับมือ นุ่มและยืดหยุ่น ทำความสะอาดได้ง่าย ฯลฯ เหล่านี้ล้วนมีส่วนสำคัญที่ก่อให้เกิดคุณภาพชีวิตที่เพิ่มมากขึ้นอันส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของผู้คนในสังคม

……….บทสรุป ด้วยสภาพสังคมที่มีความซับซ้อนในการดำรงอยู่ในปัจจุบัน  โดยเฉพาะสังคมเมืองที่มีผู้คนหลากหลายทั้งทางด้าน เพศ และวัย ฯลฯ  ซึ่งบุคคลทุกเพศ ทุกวัย ควรมีโอกาสเข้าถึงพื้นที่ที่มีความปลอดภัย และมีสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อภาวะที่เรียกว่า “อยู่สบายแบบธรรมชาติ” ทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ  พื้นที่ที่มีสภาพแวดล้อมที่ดี ใกล้ชิดกับธรรมชาติ จึงมีความสำคัญและเอื้อต่อการสร้างชุมชนและสังคมเมืองที่ดี เพื่อให้ผู้คนทุกกลุ่มสามารถเข้าถึงพื้นฐานการดำรงชีวิตที่มีความปลอดภัย  อุ่นกาย สบายใจ และเพื่อให้สังคมมีความเท่าเทียมกัน โดยก้าวข้ามข้อจำกัดทางด้านร่างกายของผู้คนแต่ละกลุ่ม ด้วยการมีสภาพแวดล้อมของพื้นที่น่าอยู่อันมาจากการออกแบบสร้างสรรค์สำหรับทุกคน (Universal Design)

ภาพประกอบ

การใช้ทางลาด (Ramp) ที่มีความลาดชันที่ 1:12  หรือประมาณ 5 องศา ทำให้ผู้คนทุกกลุ่มสามารเข้าถึงการสัญจรในพื้นที่ต่างๆได้จริง

ภาพ: สวรรค์ ตั้งตรงสิทธิกุล “การเสนอแนะเพื่อออกแบบศูนย์ประวัติศาสตร์รัตนโกสินทร์” หน้า 213.

การใช้”ทางลาด”ทับซ้อนร่วมกับบันไดในพื้นที่สาธารณะ เพื่อให้ผู้คนทุกกลุ่มสามารถเข้าถึงการใช้อาคารได้เท่าเทียมกัน

สถานที่: อาคารตลาดเกษตรปลอดสารพิษ ภายในศูนย์บริการการพัฒนาปลวกแดงตามพระราชดำริ จังหวัดระยอง (อ่างเก็บน้ำดอกกราย)

การใช้ทางลาด และเปิดพื้นที่โล่งหน้าอาคาร เพื่อให้เป็นจุดพักและรองรับผู้คนทุกกลุ่มที่มีการใช้พื้นที่ขณะ “เข้า-ออก” อาคาร การใช้กระจกเหนือซุ้มประตูทางเข้ายังช่วยให้ภายในอาคารได้รับแสงสว่าง ทำให้เกิดสุขอนามัย ทำให้เกิดสภาพแวดล้อมที่อบอุ่น และมีความปลอดภัย

ภาพ: Oscar Newman. “Defensible Space” p. 92

ตัวอย่าง การวางผังอาคารให้มีความสัมพันธ์กัน (ตัวอย่างอาคาร Zone B) มีส่วนเอื้อให้เกิดความสัมพันธ์ทางด้านมุมมอง (Visibility) ที่สามารถช่วยให้เกิดความปลอดภัยของกลุ่มผู้คนในอาคาร

ภาพจาก: Oscar Newman. “Defensible Space” p. 122

พื้นที่บริเวณทางเชื่อมของอาคาร มีการเปิดมุมมองผ่านการเชื่อมด้วยลานโล่งไปสู่อีกอาคาร ทำให้ผู้คนสามารถมองเห็นกิจกรรมต่างๆร่วมกัน เพื่อช่วยให้เกิดพื้นที่ปลอดภัยได้

ภาพ: Norman McGrath. “Defensible Space” p. 123

การปิดล้อมพื้นที่ในลักษณะต่างๆ ทำให้บริเวณพื้นที่นั้นเกิดความสำคัญ ผู้คนทุกกลุ่มสามารถเข้าถึงและดูแลร่วมกันได้

ภาพ: สวรรค์ ตั้งตรงสิทธิกุล “การเสนอแนะเพื่อออกแบบศูนย์ประวัติศาสตร์รัตนโกสินทร์” หน้า 166.

การออกแบบสภาพแวดล้อม โดยปรับปรุงพื้นที่บริเวณลานโล่งให้เป็นพื้นที่กิจกรรมในลักษณะอเนกประสงค์ (Multi Purpose) ทำให้ผู้คนทุกกลุ่มสามารถเข้ามาใช้พื้นที่ได้หลากหลาย รวมถึงเพื่อสันทนาการ ส่งผลให้ได้รับประสบการณ์ที่ดีกับสถานที่นั้น มาสู่การรักและจดจำต่อสถานที่ (Sense of Place) ได้เป็นอย่างดี

ภาพ: สวรรค์ ตั้งตรงสิทธิกุล “การเสนอแนะเพื่อออกแบบศูนย์ประวัติศาสตร์รัตนโกสินทร์” หน้า 239.

การใช้แสงธรรมชาติจากภายนอกและหลักการไหลเวียนของอากาศ ตลอดจนการใช้ต้นไม้เพื่อเพิ่ม”อ๊อกซิเจน” และช่วยเพิ่มความสบายตาด้วยสีเขียวของใบ ฯลฯ เหล่านี้ช่วยให้สภาพแวดล้อมภายในมีสภาวะที่ “อยู่สบายแบบธรรมชาติ”

ภาพจาก Eco-Tecture: Bioclimatic Trends and Landscape Architecture in The Year 2001. p.134

การใช้โครงสร้างโลหะและกระจก(Dome) เพื่อให้สอดคล้องกับรูปทรงเดิมของอาคารทางประวัติศาสตร์ด้วยเทคโนโลยีปัจจุบัน โดยมีการแก้ปัญหาความร้อนจากแสงภายนอกด้วยการใช้แผงกันแดด (Grill) ที่สามารถหมุนไปรับแสงตะวันที่เคลื่อนตลอดเวลา เพื่อลด “ความจ้า” และ “ความร้อน” ช่วยให้ภายในอาคารมีอุณหภูมิที่อยู่ในสภาวะที่ “อยู่สบายแบบธรรมชาติ”

ภาพจาก Eco-Tecture: Bioclimatic Trends and Landscap e Architecture in The Year 2001. p.99

รายการอ้างอิง

กนกวรณ คชสีห์ และเอกรินทร์ อนุกุลยุทธธน. มิติการใช้พื้นที่สาธารณะและบทบาทความเป็นชุมชนดั้งเดิมในเมืองเชียงใหม่. บทความส่วนหนึ่งของวิทยานิพนธ์ปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาสิ่งแวดล้อมสร้างสรรค์ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.

กริสรินทร์ จูงศิริวัฒน์ (บรรณาธิการ). 2558.  เติม..เต็ม เรื่องราวบันดาลใจในการสร้างสรรค์พื้นที่เพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างหลากหลาย. ฉะเชิงเทรา: ศิริวัฒนาอินเตอร์พริ้นท์.

ชมพูนุท คงพุนพิน และภาวิณี เอี่ยมตระกูล. 2563. การจัดกลุ่มประเภทพื้นที่สาธารณะเมืองของไทย กรณีศึกษากรุงเทพมหานคร. คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมือง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

ไตรรัตน์ จารุทัศน์. คู่มือการจัดสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมและปลอดภัยสำหรับผู้สูงอายุ. หน่วยปฏิบัติการวิจัยสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมกับผู้สูงอายุและคนพิการ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

วิมลสิทธิ์ หรยางกูร. 2530. พฤติกรรมมนุษย์กับสภาพแวดล้อม. (พิมพ์ครั้งที่ 2). กรุงเทพฯ: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

ศุภชัย ชัยจันทร์ และณรงพน ไล่ประกอบทรัพย์. แนวคิดสาธารณะของพื้นที่สาธารณะในเมือง. บทความส่วนหนึ่งของวิทยานิพนธ์ปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาสิ่งแวดล้อมสร้างสรรค์ คณะสถาปัตยกรมศาสตร์และบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.

ศุภยาดา ประดิษฐ์ไวทยากร. 2555. พื้นที่สาธารณะ. วิทยานิพนธ์สถาปัตยกรรมศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาสถาปัตยกรรม บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร.

ศูนย์ศิลปะวัฒนธรรมสัญจร. (2564, 1 มิถุนายน ) สนามกีฬาแห่งชาติ Tokyo Olympic 2020+1: จาก “แนวคิด” สู่ “รูปแบบ” สนามกีฬาที่มีลมหายใจ. https://www.is-trip.com/art-concept-creative/สนามกีฬาแห่งชาติ-tokyo-olympic-20201-จาก/

ศูนย์ศิลปะวัฒนธรรมสัญจร. (2564, 14 สิงหาคม ) World Trade Center กับพัฒนาการแนวคิดและรูปแบบผ่านความหมายทางสถาปัตยกรรม.  https://www.is-trip.com/ art-concept-creative/world-trade-center-กับพัฒนาการแนวคิดและ/

สมาคมสถาปนิกสยามฯ, 2552. สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ. คู่มือบ้านใจดี.

สมาคมสถาปนิกสยามฯ. คู่มือปฏิบัติวิชาชีพสถาปัตยกรรม การออกแบบสภาพแวดล้อมและสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับทุกคน.

สมาคมสถาปนิกสยามฯ, สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ. 2557. ข้อแนะนำการออกแบบสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับทุกคน. มปท: พลัสเพรส.

สวรรค์ ตั้งตรงสิทธิกุล. 2540. การเสนอแนะเพื่อออกแบบศูนย์ประวัติศาสตร์รัตนโกสินทร์. วิทยานิพนธ์สถาปัตยกรรมศาสตรมหาบัณฑิต สาขาสถาปัตยกรรมภายใน บัณฑิตวิทยาลัย สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง.

          Cuito, A. (Editor) 2000. Eco-Techture: Bioclimatic Trends and Landscape Architecture in The Year 2001. Barcelona: Loft Publication.

Francis, M. 1989. “Control as a Dimension of Public Space Quality”. In Altman, I and Zube, (Editor). Public Place and Spaces. pp. 147-172. New York: Plenm Press.

Low, S. 2000. On the Plaza: The Politics of Public Space and Culture. Austin: University of Texas Press.

Madanipour, A. 1996. “Understanding Urban Space”. In Design of Urban Space: An Inquiry into a Socio-Spatial Process. Pp. 3-30. New York: Wiley.

Marcus, C. and Francis, C. (Editors) 1990. People Places: Design Guidelines for Urban Open Space. Departments of Architecture and Landscape Architecture University of California, Berkley. New York: Van Nostrand Reinhold.

Newman, O. 1972. Defensible Space. London: Architectural Press.

Serageldin, I. Shluger, E. Martin-Brown, J. (Editors) 2000. Historic Cities and Sacred sites: Cultural Roots for Urban Futures. Washington, D.C.: The World Bank.