บันทึก “วันเพ็ญ เดือน ๑๒” ของผู้คนในสยามประเทศ

ฅน บางกอก

๐๘/๑๐/๒๕๖๕

……….เชื่อว่าทุกคนรู้จักวันเพ็ญ เดือน ๑๒ กันดีว่าคือ “วันลอยกระทง” พอถึงยามโพล้เพล้จะเริ่มเห็นผู้คนถือกระทงเพื่อเอาไปลอยตามแม่น้ำ ลำคลอง ตามความเชื่อที่เล่าต่อกันมาเช่น มาแสดงความเคารพ ระลึกถึงพระคุณของ “แม่คงคา”  แล้วก็ยังมีแบบว่าเพื่อลอยทุกข์โศกให้ออกไปพร้อมกับสายน้ำ ฯลฯ  พูดง่ายๆคือเอาสิ่งที่ไม่ดีฝากให้แม่คงคาช่วยชำระล้างเพื่อให้จิตใจผ่องใส  แต่ที่แน่ๆ เช้าวันรุ่งขึ้น คนรับหวยตัวจริงคือ ฝ่ายรักษาความสะอาดของชุมชนหรือเมือง แบบว่ารับไปอย่างอ้วนๆเบย  😆😂🤣

……….กลับมาคุยกันเรื่องความเชื่อต่อ 😁😉  แค่ตัวอย่างของความเชื่อที่ยกมานี้  ไม่ค่อยจะแน่ใจว่าเราจะรักและนับถือ “แม่คงคา” จริงๆรึเปล่า!?  เพราะหากแม่ท่านรับรู้ได้จริง อาจจะบอกว่า แค่พนมมือตั้งจิตอธิษฐานระลึกถึงแม่ (คงคา) ตรงริมฝั่งน้ำก็ได้นะลูก  ไม่ต้องเตรียมหรือหิ้วอะไรมาฝากแม่ดอก  เฉพาะแต่ละวันแม่ก็วุ่นกับการเสกขยะ ย่อยขยะที่ลอยเอ่อแทบจะไม่ทันอยู่แล้วนะลูก  😁😆😊

……….วันเพ็ญ เดือน ๑๒ ถูกเอาไปโยงกับเรื่องนางนพมาศ จนเกิดความรู้จักร่วมกันผ่านแบบเรียนตั้งแต่สมัยประถม แล้วก็เชื่อกันว่ามีมาตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัย ทางการสมัยใหม่ของรัฐบาลทุกยุค ทุกสมัย ก็นำมาเล่นใหญ่ และเล่นต่อ ทำให้เกิดเป็นแรงขับที่ “ทรงพลัง” ในด้านการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย

……….หรือถ้าจะพูดให้อินเทรนด์ก็คือ มีการใช้วัฒนธรรมให้เกิดเป็นพลังในรูปแบบ “Soft Power” โดยมี “พระแม่คงคา” ที่สัมพันธ์กับประเพณีลอยกระทง แล้วก็มาเชื่อมโยงกับ “นางนพมาศ” ที่มีหลักฐานชัดๆว่าเก่าถึงช่วงต้นรัตนโกสินทร์ แน่ๆ  ส่วนจะเก่าถึงสุโขทัย ได้ไม๊!!  กลุ่มนักวิชาการค่ายต่างๆ ก็ยังคง ดีเบต ต่อรองกันอยู่ ยังไม่สะเด็ดน้ำ 😆😂😎

……….ในส่วนตัว กลับมา “ปิ๊ง” กับวันเพ็ญ เดือน ๑๒ ที่มีความสำคัญกับเหตุการณ์นึงในทางประวัติศาสตร์ที่มีบันทึกและหลักฐานประวัติศาสตร์อีกชุดนึงที่น่าสนใจ ก็คือ “พระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขา” มีการนำเอกสารต่างๆในสมัยอยุธยาและธนบุรีที่ยังคงกระจัดกระจายอยู่ในสมัยต้นรัตนโกสินทร์มารวบรวมและเรียบเรียงข้อมูลขึ้นมาให้เป็นระบบมากขึ้น (Edited)  ซึ่งแน่นอนว่ารุ่นพ่อ รุ่นแม่ของผู้คนในช่วงเวลานั้นยังทันเหตุการณ์ในช่วงเสียกรุงศรีฯ ครั้งที่ ๒

……….เหตุการณ์ที่จะเล่าก็คือ “วันเพ็ญ เดือน ๑๒” ที่ “เจ้าตาก” ยกทัพกลับมา “เอาคืน” โดยสามารถเข้าตีค่ายใหญ่ที่เปรียบเหมือนศูนย์บัญชาการรบของข้าศึกบนแผ่นดินอยุธยาได้อย่างราบคาบที่ “ค่ายโพธิ์สามต้น” เหตุการณ์ในครั้งนั้น หากว่ากันตามหลักการศึกแล้ว ต้องยอมรับว่าค่ายนี้ถือเป็นจุดแตกหักของการประกาศอิสรภาพจากข้าศึกได้อย่างสมบูรณ์

……….หรืออาจพูดได้ว่ากองทัพอยุธยาที่แตกพ่ายได้กลับมากู้อิสรภาพได้อย่างเป็นรูปธรรม  หาใช่เหตุการณ์ที่เจ้าตากฝ่าวงล้อม เรื่อยมาจนถึงเข้ายึดเมืองจันทบูร และยึดได้เมืองบางกอกจากข้าศึกเป็นผลสำเร็จ  หรือแม้กระทั่งยึดได้เกาะเมืองอยุธยาที่เคยเป็นศูนย์กลางราชธานี ซึ่งช่วงเวลานั้นก็ร้างผู้คนไปแล้ว

……….เสียดายที่เหตุการณ์นี้กลับ “ไม่ทรงพลัง” เพียงพอเท่านางนพมาศ  😁😊  คงเป็นเพราะ เห็นท่าจะเอามาขายเป็นการท่องเที่ยวได้ยากกว่า  นางนพมาศที่การท่องเที่ยวเอามาเล่นจนตอนนี้ประสบความสำเร็จแบบ ยาวๆ เพราะนางนพมาศได้กลายเป็นเรื่องจริง และจับต้องได้ขึ้นมาแล้วในยุคปัจจุบัน  ไม่เชื่อลองถามอากู๋ (google) ดู  จะมีทั้งนางนพมาศจากสุโขทัยเมืองเก่า และเมืองต่างๆ รวมทั้งเวอร์ชั่น การ์ตูน 😁😆😎  ก็ไม่แน่ใจว่าปรากฏการณ์นี้ จะมีส่วนทำให้ “พระแม่คงคา” ในฐานะ “ต้นเรื่อง” จะแอบน้อยใจอยู่บ้างรึเปล่า ก็ไม่รู้ 😁😆😊

……….ภาพที่เอามาแบ่งปันกันนี้ วาดสดมะตอนรุ่งเช้าวันนี้จากจินตนาการในเหตุการณ์คืนวันเพ็ญ เดือน ๑๒  วันที่เจ้าตาก “หักค่ายโพธิ์ฯ เอาคืน” จากข้าศึกได้เป็นผลสำเร็จ ในช่วงเวลาบ่ายของวันนี้ (คือวันลอยกระทงที่คนในยุคเราเรียกกันน่ะแระ ✌✨) มะคืนนอนจินตนาการว่า หลังจากเจ้าตาก “หักค่ายโพธิ์ฯ” เป็นที่เรียบร้อยแล้ว  ข่าวคราวดีๆสำหรับชาวกรุงศรีฯครั้งนี้ คงจะกระจายออกไปอย่างรวดเร็วตามลำน้ำเจ้าพระยาและลำน้ำใกล้เคียงตั้งแต่ช่วงบ่ายถึงเย็น

……….คืนวันนี้ (ในช่วงเวลานั้น) กองทัพของเจ้าตากและชาวสยามที่อยู่ในบริเวณค่าย และบริเวณลำน้ำโพธิ์สามต้น ฯลฯ เรื่อยมาถึงลำน้ำลพบุรีที่มาเชื่อมกับลำน้ำเจ้าพระยา คงจะได้มีการฉลองชัยกันอย่างครึกครื้นตามสมควร  แต่ไม่น่าจะมีประทัด ตะไล เพราะผู้คนคงจะเบื่อและรังเกลียดแสงและเสียงพวกนี้ที่คล้ายระเบิด สร้างความเสียหายให้กับทุกคนจนรู้สึกเอียนแล้ว  เดือนเพ็ญคืนนั้นจึงน่าจะเป็นบรรยากาศที่เย็นใจ ฟ้าสว่างด้วยแสงจันทร์ที่เย็นตา ท่ามกลางร่มไม้และสิ่งปลูกสร้างที่เป็นป้อม ค่าย คู หอรบ ฯลฯ

……….เหตุการณ์ “เอาคืน”ครั้งนี้ “วันนี้” จึงน่าจะเป็นความทรงจำดีๆที่ทุกคนจะได้รับรู้ อย่างน้อยขอให้มีคนได้รู้น้อยกว่ารู้จักนางนพมาศนิดนึง ก็ได้  😎✨😊