บันทึก เจดีย์วัดวิหารขาว (ร้าง) ๒ ริมทางรถไฟ “อยุธยา-บ้านม้า”

: ฅน บางกอก

23/04/25566

……….เจดีย์องค์นี้ ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ของรัฐอโยธยา (ก่อนจะเกิดกรุงศรีอยุธยา พ.ศ. ๑๘๙๓) อาจารย์ยูร (น. ณ ปากน้ำ) ท่านเรียกพื้นที่ศูนย์กลางรัฐแห่งนี้ว่าเป็นศิลปกรรมแบบ “อโยธยา-สุพรรณภูมิ” เนื่องด้วยเป็นศิลปกรรมที่พบว่ามี “รูปแบบ ขนาด วัสดุ ฯลฯ” แตกต่างไปจากรัฐกรุงศรีอยุธยา (กรุงเทพทวารวดีศรีอยุธยา)ที่มีศูนย์กลางอยู่ในเกาะเมือง หลักฐานจากศิลปกรรม รวมถึงร่องรอยจากโบราณสถานต่างๆจึงทำให้เชื่อได้ว่าพื้นที่ทางฝั่งตะวันออกของลำน้ำ ลพบุรี-ป่าสัก แห่งนี้เป็นรัฐที่มีความสำคัญมาก่อน

……….นอกจากนี้ ยังพบหลักฐานจากบันทึกต่างๆที่มีความสอดคล้องกับการเรียกพื้นที่บริเวณนี้ว่า “อโยธยาศรีรามเทพนคร” ตามที่นักวิชาการหลายท่านได้สื่อสารในช่วงเวลานี้แล้ว “รัฐอโยธยา กับ รัฐอยุธยา” จึงมีความสัมพันธ์กันในเชิงพื้นที่และกลุ่มผู้คนต่างๆทั้งสองฝั่งลำน้ำ ด้วยเหตุและผลดังกล่าวจึงพบว่าศาสนสถานที่คงอยู่มีการสร้าง-ซ่อมมาตลอดเพื่อให้คงอายุการใช้งานต่อเนื่อง จึงทำให้เห็นร่องรอยที่ตกค้างผ่านงานศิลปะ-สถาปัตยกรรมมากมาย อาทิ ระบบผัง รูปแบบของเจดีย์ ฯลฯ ที่ปรากฏหลงเหลืออยู่

……….ตัวอย่างที่หลงเหลือและสุ่มเสี่ยงต่อการพังทลาย(มานานแล้ว) คือ เจดีย์วัดวิหารขาว (ร้าง) ที่อยู่ห่างจากเส้นทางรถไฟ (ขณะนี้) ราว ๕๐ เมตร และตั้งอยู่ในเขตเมืองอโยธยาไม่ไกลจากวัดอโยธยา (วัดเดิม) หากพิจารณาจากผังของวัดที่เป็นซากโบราณสถานประกอบกับองค์เจดีย์ ทำให้รู้ว่าเจดีย์มีการสร้าง มาสู่การซ่อมรวมแล้วอย่างน้อย ๓ ครั้ง (๓ ช่วงเวลา) เราจึงพบว่ารูปแบบศิลปะ-สถาปัตยกรรมที่ตกค้างอยู่ถึงปัจจุบันเป็นการซ่อมครั้งหลัง และเป็นศิลปะในสมัยที่กรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีแล้ว ทั้งสิ้น

เจดีย์ วัดวิหารขาว (ร้าง) ขณะเข้าเฝือกเพื่อต้านกับแรงสั่นสะเทือนของรถไฟ

ร่องรอยจากการซ่อม พบความต่างของชั้นปูน ลวดบัว ฯลฯ ที่ผ่านการซ่อมต่างช่วงเวลา