บันทึก “เหมยขาว” ขอให้โชคดี บริสุทธิ์ เข้มแข็งหลังเทศกาลเจ

ฅน บางกอก

๐๕ / ๑๐ / ๒๕๖๕

 

………..วันขึ้น ๙ ค่ำ เดือน ๙ ในปฏิทินจีนคือวันสุดท้ายของเทศกาล “เจ”  จะมีพิธีกรรมส่งสิ่งศักดิ์สิทธิ์กลับขึ้นสู่สรวงสรรค์ตามความเชื่อในวัฒนธรรมจีน โดยมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งเก้า ประกอบด้วย อดีตพระพุทธเจ้า ๗ องค์ (ในคติจีน) )ที่ถูกนำมาสถาปนาเป็นดวงดาวทั้ง ๗ ตามชื่อวันต่างๆทั้ง ๗ วัน เช่น พระอาทิตย์  พระจันทร์  พระอังคาร … จนถึงพระเสาร์  นอกจากนี้ยังรวมถึงพระโพธิสัตว์อีก ๒ องค์ โดยมีชื่อเรียกแทนชื่อดวงดาวว่า พระราหู  พระเกตุ รวมสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหมดเป็น ๙ องค์

………..การถือศีลกินเจ (คือการกินพืชที่ไม่มีกลิ่นฉุน ไม่กินเนื้อสัตว์ ฯลฯ) ทำให้นึกถึงดอกไม้ประเภทหนึ่ง (คนอื่นอาจนึกถึงดอกไม้ต่างกันก็ได้นะ) ในประเทศจีนคือ “ดอกเหมยขาว” ซึ่งแม้ดอกเหมยจะยังไม่ได้ผลิดอก ออกผลในช่วงเทศกาลเจ แต่ก็ชอบในรูปทรงของดอกที่แลดูเรียบง่าย มีขนาดเล็กแต่มีจำนวนมาก โดยเฉพาะมีสีที่  “ขาวบริสุทธิ์” สอดคล้องกับเทศกาลเจ (ซึ่งไม่ตรงกับช่วงเวลาของการออกดอก 😆😁😎)

………..สีสันของ “เหมยขาว” ซึ่งเป็นกลุ่ม “สีที่ไม่มีสี” คือ ขาวกับดำ เป็นกิ่งที่มีน้ำหนักเข้มออกไปทางดำๆ กับ ดอกที่มีน้ำหนักค่อนข้างบาง เบา ออกขาวๆ พร้อมกับจำนวนมากมายของดอกที่มีขนาดน้อย-ใหญ่ประดับประดาบนกิ่งก้านต่างๆ  จึงทำให้นึกถึงบรรดาผู้ศรัทธาใหญ่-น้อย มารวมตัวถือศีลในช่วงเทศกาลเจร่วมกันในช่วงเวลาที่โควิดค่อนข้างซาลงมากแล้ว

………..วันสุดท้ายของเทศกาลเจหลังช่วงเวลาเพล จึงเป็นเวลาที่หลายๆคนได้กลับมาสู่ “โลกหลังเจ” กันอีกครั้ง  (อันนี้ไม่เกี่ยวกับ เจ ที่เป็นนักร้องศิลปินเกาหลีนะ 😂😁😉) ภาพวาดนี้จึงเปรียบเหมือนการบันทึกเหตุการณ์ผู้คนกลุ่มหนึ่งที่มุ่งมั่น ตั้งใจทำสิ่งดีในช่วงเทศกาลนี้  และน่าจะมีอีกหลายคนยังคงผลิดอก คงความสมถะและอ่อนโยนในจิตใจกันต่อไป  อย่างน้อยก็อาจได้ไปถึงช่วงเวลาที่จะได้รู้สึกถึงความอบอวลด้วยการผลิดอก ออกผลของ “เหมยขาว” ซึ่งกำลังใกล้เข้ามาในช่วงปลายปีถึงต้นปีใหม่นี้

 

ภาพ: บันทึก “เหมยขาว” ในเทศกาลเจ

พู่กันจีน บนกระดาษ

ขนาด  A4

ระยะเวลา  8 นาที