บันทึก ถอดบทเรียน “พระธาตุเจดีย์ศรีสุพรรณ”

ฅน บางกอก

๐๒/๑๐/๒๕๖๕

 

……….เหตุการณ์พระธาตุศรีสุพรรณ (เมืองเชียงใหม่) พังลงมา  น่าจะให้แง่คิดในด้านดีสำหรับใครหลายๆคนได้บ้างไม่มากก็น้อย  อย่างน้อยเหตุการณ์นี้น่าจะทำให้ทุกคนต้องกลับมาคิด ทบกวนถึงสิ่งที่เกิดขึ้น  ไม่ว่าจะเป็นสาเหตุ ปัจจัยแวดล้อมต่างๆ  จากการที่เคยไปเยี่ยมเยือนวัดแห่งนี้แม้ว่าจะราว ๑๐ ปีแล้วก็ตาม ทำให้รับรู้ถึงพลังศรัทธาที่เชื่อได้ว่าเป็นพลังบริสุทธิ์ของทั้งทางวัด และญาติโยมที่อยากให้พระธาตุนี้ตั้งอยู่ไปได้ “สวยๆ ยาวๆ” แบบที่ตัวเองเข้าใจโดยมีสีสันที่อร่าม สะดุดตา

……….แต่…ในความเป็นจริง ยังมีปัจจัยอื่นอีกมากที่มีผลต่อการซ่อมสร้างองค์พระธาตุเจดีย์ รวมถึงการซ่อมแซมปลีกย่อยเป็นครั้งคราว เช่นการก่อครอบเพื่อให้เห็นรูปร่างหน้าตาภายนอกที่โดดเด่น สะดุดตา แต่ไม่มีการใช้ระบบโครงสร้างใหม่ไปช่วยรับน้ำหนักเพื่อให้เกิดความแข็งแรง ฯลฯ  เมื่อได้เห็นคลิปช่วงเวลาที่พระธาตุล้มครืนลงมา  ทำให้มานึกถึงสาเหตุ (แบบวิทยาศาสตร์) ว่า “มีปัจจัยอะไรบ้างที่น่าจะส่งผลต่อการพังลงของพระธาตุองค์นี้  จึงขอประมวลมาเคร่าๆ ดังนี้

……….๑. เกิดฝนตกต่อเนื่องในเมืองเชียงใหม่ อันนี้มีตัวอย่างที่ชัดๆในเวลาไล่เรี่ยกันก็คือ กำแพงเมืองฝั่งประตูช้างเผือกทางทิศเหนือของเวียงพังลงมา  ฯลฯ

……….๒.  น้ำฝนทำให้เกิดความชื้นสะสมในชั้นใต้ดิน ทำให้ดินอุ้มน้ำ อาจทำให้ตัวฐานเจดีย์มีการทรุดตัวไม่เท่ากัน

……….๓. ความชื้นของดินและอิฐที่มีการขยายตัว พยายามดันโครงสร้างภายในของพระธาตุเจดีย์ซึ่งล้วนเป็นอิฐก่อ จนทำให้อิฐซึ่งเป็นระบบโครงสร้างหลักในสมัยก่อนเกิดการเปื่อยยุ่ย  ย่อมทำให้โครงสร้างโดยรวมเสียกำลังไปทีละน้อยอย่างต่อเนื่อง

……….๔. การ “ซ่อมใหญ่” ที่พอให้เห็นเป็นหลักฐาน (มีอย่างน้อย ๒ ครั้ง) คือ ช่วงพุทธทศวรรษ ๒๔๗๐ (ตามข้อสันนิษฐานของ ศาสตราจารย์ ดร.ศักดิ์ชัย สายสิงห์) และปี พ.ศ. ๒๕๑๘ (ตามการให้ข้อมูลของ พระครูพิทักษ์สุทธิคุณ เจ้าอาวาสวัดศรีสุพรรณ) หลังจากนั้นก็มีการซ่อมย่อยเป็นช่วงๆ จากภาพถ่ายในสื่อออนไลน์ทำให้เห็นลักษณะของวัสดุที่เป็นอิฐรุ่นใหม่ก่อครอบเข้าไปกับอิฐเดิมที่มีสภาพเปื่อยยุ่ย

……….๕. จากรูปแบบและลักษณะของอิฐที่แตกพังลงมาทำให้รู้ว่ามีการก่อทับเข้าไป สอดคล้องกับรูปแบบที่เห็นในปัจจุบันว่าน่าจะมีการซ่อมสร้างไม่เกิน พ.ศ. ๒๔๗๐ (ก็คือราวเกือบร้อยปี) แต่ถ้าจะวิเคราะห์ให้ละเอียดมากขึ้น ก็น่าจะราวเกือบ ๕๐ ปีมาแล้ว

……….๖. ช่วงราว ๕๐ ปีมานี้มีการซ่อมปลีกย่อย  และในระยะเวลาต่อมาเกิดนวัตกรรมที่มีคุณสมบัติป้องกันความชื้น แสงแดดได้ดี (ซึ่งเหมาะกับวัสดุและโครงสร้างสมัยใหม่ด้วยกัน) โดยนิยมนำมาใช้เพื่อให้องค์เจดีย์อร่าม สดใส คือการใช้สีที่มีคุณภาพดี (คือทนทาน หลุดลอกหรือเสื่อมยาก) ทาลงไปที่องค์พระธาตุ เพื่อหวังให้พระธาตุมีความโดดเด่น สง่างามได้ยาวๆ (ซึ่งเชื่อได้ว่าเป็นจิตที่คิดดีของวัดและญาติโยม)

……….แต่.. เนื้อสีกลับไปทำให้ไม่มีพื้นที่ในการระบายอากาศระหว่างภายในกับภายนอกขององค์พระธาตุ ที่มีอุณหภูมิ ความชื้น ฯลฯ แตกต่างกันโดยสิ้นเชิงนานนับหลายปี  จึงทำให้อิฐซึ่งเป็นโครงสร้างหลัก และยังคงเป็นระบบโครงสร้างโบราณไม่สามารถทนต่อเงื่อนไขต่างๆเหล่านี้

……….๗. อิฐเก่าที่มีความชื้น เปื่อยยุ่ยไร้ซึ่งกำลัง กับ อิฐใหม่ที่คงความแข็งแรงที่มีการก่อครอบและตกแต่งในรูปแบบศิลปะจารีตตามสมัยนิยมใหม่ จึงเกิดการแยกตัวออกจากกันโดยไม่สามารถเกาะกันให้เป็น “หนึ่งเดียว” เหมือนกับเมื่อแรกซ่อมสร้างแล้วเสร็จใหม่ๆ  ผลก็คือเกิดการปริแตก เป็นรอยร้าวลงมาตามแนวดิ่งขององค์พระธาตุเจดีย์ ซึ่งน่าจะเป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่มาจากการทรุดของดินที่ไม่เสมอกันด้วย

……….๘. เมื่อมีการปริ แตกร้าวที่องค์พระธาตุกอปรเกิดฝนตกชุก  น้ำฝนไหลเข้าไปภายในองค์พระธาตุจึงเป็นการเพิ่มการทำลายระบบโครงสร้างภายในอย่างตรงๆ  โดยที่เนื้อในของพระธาตุซึ่งเป็นอิฐต่างช่วงเวลากันไม่สามารถปรับอุณหภูมิ ความชื้น ฯลฯ (การปรับตัว) เพื่อให้มีความใกล้เคียงกับอุณหภูมิ ความชื้น ฯลฯ ภายนอก  เพราะเนื้อสีมีคุณสมบัติเป็น “ฟิลม์บางๆ” เคลือบอยู่  จึงเปรียบเหมือนกับผิวหนัง (Skin) ที่ไม่สามารถหายใจได้ด้วยตัวเอง

 

..เหตุการณ์ครั้งนี้ สามารถถอดบทเรียนได้ ดังนี้

  • หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมศิลป์ฯ วัฒนธรรม  จังหวัด อบต. ฯลฯ  ควรมีการประชาสัมพันธ์ และจัดประชุม เสวนา หรือจัด Work Shop ที่เกี่ยวกับ “การอนุรักษ์และพัฒนาทางวัฒนธรรมอย่างยั่งยืน” ที่ถูกต้องอย่างเป็นรูปธรรม  เพื่อให้ความรู้และสร้างความเข้าใจกับบุคคลทั่วไปที่มีความสนใจเพิ่มมากขึ้น เช่นกลุ่ม พระสงฆ์  ผู้ศรัทธา (เหล่าสายบุญ)  ช่าง ผู้รับเหมา ฯลฯ ได้มีโอกาสเข้าถึงชุดข้อมูลเหล่านี้
  • ภาครัฐ เอกชน สามารถสร้างเครือข่ายเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลสิ่งที่มีความสำคัญในแต่ละพื้นที่ เพื่อสร้างความตระหนักรู้ถึงสิ่งที่มีคุณค่าในพื้นที่ มาสู่การมีส่วนร่วม ช่วยกันดูแล รักษาอย่างถูกวิธี เพื่อให้สิ่งที่มีคุณค่าเหล่านี้ (ไม่ว่าจะเป็น โบสถ์ วิหาร พระธาตุเจดีย์ ศาลา ใบลาน ฯลฯ) ได้รับการอนุรักษ์เพื่อให้ผู้คนที่สนใจทุกกลุ่มสามารถใช้ศึกษา เรียนรู้ได้โดยกว้างขวาง
  • (เชิญมิตรสหายเพิ่มเติม เพื่อสร้างสรรค์ได้)

 

ภาพลายเส้นนี้ เป็นมุมมองจากบนตึกใกล้เคียง โดยคัดลอกจากภาพถ่ายในสื่อออนไลน์ที่แชร์ต่อกันมา จึงขอขอบคุณผู้ถ่ายภาพที่เสี่ยงเป็นขึ้นไปบันทึกภาพก่อนที่พระเจดีย์จะทลายลงมาคงเหลือไว้แต่ส่วนฐานเพียงเล็กน้อย

 

รายการอ้างอิง

https://m.facebook.com/story.php?story_fbid=pfbid0NEazNcLkQgsqK6jDWdBWhqDYcF918jj3ogNy59onXyRzu7vmTmxL8zU2i7PNFe9ql&id=1446556965622503&eav=AfZUeLXRxAzqkTpagYfBRzjrKjJcZVyfE6T0VHjAxJOM0Z781R3K9XLzJK44ktLrwtQ&m_entstream_source=permalink&refid=52&__tn__=-R&paipv=0

https://youtu.be/PGLch7RpB4o

 

ภาพ: บันทึก พระธาตุเจดีย์ศรีสุพรรณ ขณะพังทลายลงฯ

วาดลง Tab S7

ขนาดภาพ  A5 (๑๕ x ๒๐.๕ ซม.)

ระยะเวลาวาด ๒๕ นาที