สองศิลปิน ผู้ยิ่งใหญ่แห่งสะพาน “Shin-Ohashi” กลางกรุงโตเกียว

สะพาน “ชินโอฮาชิ”(Shin-Ohashi) เป็นหนึ่งในสะพานยุคแรกของเมืองเอโดะ(คือกรุงโตเกียวในปัจจุบัน) เพื่อเชื่อมพื้นที่มีความสำคัญทางฝั่งตะวันตกกับตะวันออกของตัวเมือง สะพานนี้จึงเป็นหนึ่งในสะพานสำคัญที่ผู้คนใช้สัญจรเพื่อข้ามแม่น้ำ“สุมิดะ”(Sumida) จนเกิดเป็นวิถีชีวิตที่ถูกบันทึกเป็นภาพงานศิลปะ โดยศิลปินชาวญี่ปุ่นคือ “ฮิโรชิเงะ”(Utagawa Hiroshige) ในบรรยากาศขณะที่มีสายฝนโปรยปราย

ภาพศิลปกรรมชุดนี้ นับว่ามีความสำคัญทางประวัติศาสตร์และศิลปะเป็นอย่างมาก เนื่องจากสะท้อนสภาพสังคม ภูมิศาสตร์ ฯลฯ ของเมือง“เอโดะ”(ในช่วงเวลานั้น)ได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ชุดภาพดังกล่าวยังถูกสร้างสรรค์ในรูปแบบที่มีความนิยมในสมัยนั้นซึ่งสามารถผลิตได้จำนวนมากด้วยเทคนิค “ภาพพิมพ์แกะไม้”(woodblock print) และด้วยที่เอโดะมีการติดต่อ ค้าขาย ฯลฯ กับรัฐอื่นๆทั้งใกล้และไกลออกไป ทำให้ชุดภาพดังกล่าวเป็นหนึ่งในสินค้าส่งออกไปดินแดนต่างๆรวมทั้งรัฐที่เป็นประเทศในแถบยุโรป ฯลฯ

หนึ่งในชุดภาพที่ออกสู่สายตาชาวโลก ทำให้ผู้คนต่างภูมิภาคได้รู้จัก“เอโดะ”คือภาพที่มีชื่อว่า “Sudden Shower over Shin-Ohashi bridge and Atake” (พ.ศ.๒๔๐๐) ภาพนี้ได้ส่งแรงบันดาลใจให้กับศิลปินต่างภูมิภาคที่อยู่แดนไกลอีกหลายท่าน หนึ่งในศิลปินดังกล่าวคือ “วินเซนต์ แวนโกะ”(Vincent van Gogh) ที่เห็นผลงานชิ้นนี้และได้ทำการคัดลอกภาพด้วยเทคนิคสีน้ำมันในปี พ.ศ. ๒๔๓๐ โดยมีชื่อภาพว่า “Bridge in the Rain” ซึ่งเป็นเทคนิคที่จิตรกรในแถบยุโรปยังมีความนิยมใช้สร้างสรรค์ผลงานศิลปะในช่วงเวลานั้น

ผลจากการคัดลอกชุดภาพต่างๆของ“ฮิโรชิเงะ” โดยเฉพาะภาพ “Sudden Shower over Shin-Ohashi bridge and Atake” ทำให้“แวนโกะ” ได้ซึมซับถึงกระบวนการสร้างสรรค์งานต่างๆที่เป็น “วิถีตะวันออก”(ผ่านชิ้นงานศิลปะ) โดยสามารถจำแนกออกเป็นประเด็นต่างๆ ดังนี้

๑. แนวคิดในการสร้างสรรค์งาน เป็นการบันทึกปรากฏการณ์ทางธรรมชาติผ่านวิถีของผู้คนในเมือง ซึ่ง“ฮิโรชิเงะ” เลือกแสดงบรรยากาศในห้วงขณะที่ฝนกำลังตกอย่างฉับพลัน โดยที่ “แวนโกะ” มุ่งคัดลอกเพื่อเรียนรู้ ทำความเข้าใจ วิธี แนวคิดในการสร้างงานของ “ฮิโรชิเงะ” ที่มีความแปลกใหม่ในมุมมองของศิลปินชาวตะวันตก

๒. เทคนิค ในการแยกแม่พิมพ์ของแต่ละสี โดยมีการผสมสีที่มีความแบน เรียบ ทว่า มีการไล่น้ำหนักของสีให้เกิดความแตกต่าง โดยให้แต่ละสีทำหน้าที่บอกมิติ ระยะห่าง เพื่อให้เกิดบรรยากาศโดยรวม อาทิ เหลี่ยมเสา พื้นสะพาน รวมถึงกลุ่มเมฆฝนและเม็ดฝนที่แทนค่าด้วยสีดำได้อย่างกลมกล่อม โดยการแกะแม่พิมพ์ให้เป็นเส้นเล็กๆ ทีละเส้น เพื่อแทนค่าเป็นสายฝนแต่ละเม็ด แต่ละหยดที่มีช่องไฟ(spacing)ไม่เท่ากัน รวมถึงปริมาณของเส้น ทิศทาง ที่มีลักษณะเช่นเดียวกับสายฝนตามธรรมชาติ ในขณะที่ “แวนโกะ” คัดลอกด้วยเทคนิคสีน้ำมัน โดยนำสีขาวมาผสมเพื่อให้ภาพเกิดมิติของแสง อาทิ ท้องฟ้า ความระยิบระยับของน้ำ เหลี่ยมเสา ฯลฯ ทำให้เกิดภาพบรรยากาศที่มีความสว่าง สะดุดตา เหมือนฝนตกท่ามกลางหมอกและแสงแดด ฯลฯ

๓. องค์ประกอบของสะพาน แสดงเป็นแนวเส้นโค้ง(ตามสภาพความเป็นจริงของตัวสะพาน) ที่มุ่งแสดงรายละเอียดทั้งโครงสร้าง วัสดุ ฯลฯ โดยมีอากัปกิริยาและการแต่งกายของผู้คนพยายามปกป้องตนเองจากสายฝน เป็นจุดเด่นช่วยให้ภาพมีชีวิต นอกจากนี้ยังมีคนแจวเรือ(แพ!)กลางลำน้ำ ช่วยเป็นจุดเสริมทางฝั่งซ้ายของภาพเพื่อให้องค์ประกอบเกิดความสมดุลแบบอสมมาตร(Asymmetrical Balance)

๔. สี ถูกกำหนดให้เป็นสีโทนเย็น เพื่อให้มีความสอดคล้องกับบรรยากาศในยามฝนโปรยปราย รวมถึงการให้สีที่ตัวบุคคลต่างๆ ล้วนมีความระมัดระวังในการใช้สีโทนร้อน(สีแดง)แต่เพียงเล็กน้อย เพื่อให้สัมพันธ์กับสีของป้ายตัวอักษรที่อยู่ริมขอบของภาพ อีกทั้งยังใช้เป็นจุดอ้างอิงของแม่พิมพ์ไม่ให้คลาดเคลื่อน

๕. สภาพแวดล้อมทางภูมิศาสตร์ สะท้อนกายภาพของเมือง สังคมและผู้คน ซึ่งนับเป็นหลักฐานสำคัญทางประวัติศาสตร์ของเมือง “เอโดะ” ได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะรูปแบบของสะพานที่ล้วนเป็นระบบโครงสร้างไม้ที่ประสานกันด้วยองค์ประกอบของคานและเสา รวมถึงกลุ่มเรือนขนาดใหญ่ที่แสดงถึงพื้นที่ย่านอุตสาหกรรม พาณิชยกรรม ฯลฯ ซึ่งมักตั้งอยู่ริมน้ำ

จากการคัดลอกภาพต้นแบบของ “ฮิโรชิเงะ” จะพบว่า “แวนโกะ” มีการ “ปรุงแต่งในรายละเอียดต่างๆของภาพ” ให้มีสีสัน พื้นผิว ฯลฯ เพื่อให้เกิดมิติและบรรยากาศแบบ“สดๆ” ตามแนวทางที่นิยมเก็บรายละเอียด บรรยากาศ สภาพแวดล้อม เพื่อบันทึกปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ ซึ่งมีความ “สอดรับกับช่วงเวลาที่มีการก่อรูปทางแนวคิด”ของศิลปะแนว “อิมเพรสชั่นนิสต์” (Impressionist) ที่เริ่มได้รับความนิยมในช่วงเวลานั้น และยังเป็นเรื่องใหม่ของวงการศิลปะชั้นสูงทั้งในยุโรปและอเมริกา

การใส่จินตนาการเข้าไปในงานตามที่ “แวนโกะ” รู้สึกและมีความเข้าใจในบรรยากาศฝนตกที่ยุโรปด้วยเทคนิคสีน้ำมัน รวมถึงความใส่ใจในการคัดลอกภาพตามมุมมอง ทักษะที่ตัวเองมีความถนัด ดังตัวอย่างของรูปแบบตัวอักษรญี่ปุ่น (แบบคันจิ) ที่ปรากฏบริเวณกรอบภาพ ซึ่ง “แวนโกะ” ตั้งใจคัดลอกทุกตัวอักษรจนสามารถอ่านได้รู้ความ อย่างไรก็ดีจากลักษณะของอักษรดังกล่าว ทำให้ทราบว่า “แวนโกะ” ไม่มีความรู้ทางเทคนิค และวิธีการเขียนอักษรด้วยพู่กันที่ถูกต้องตามรูปแบบอักษรของวัฒนธรรมตะวันออกไกล

นอกจากนี้การบรรจงขีดเส้นสีต่างๆเพื่อสื่อถึงสายฝนจำนวนมากด้วยสีขาว สีฟ้า และจบงานด้วยเส้นที่มีน้ำหนักของสายฝนด้วยสีน้ำเงินเข้มฉวัดเฉวียนไปมา ฯลฯ เหล่านี้ล้วนให้ความรู้สึกของภาพที่แตกต่างจากเทคนิคภาพพิมพ์ แต่กลับชวนให้นึกถึงบรรยากาศบ้านเมืองชนบททางแถบตะวันตกที่“แวนโกะ”มีความคุ้นชินได้มากกว่า

การสร้างงานศิลปะ ผ่านบริบทของสะพาน “ชินโอฮาชิ” โดย “สองศิลปิน” ที่อยู่ต่างภูมิภาคของโลก ซึ่งมีพื้นฐานทางวัฒนธรรม รวมถึงเทคนิคในการสร้างชิ้นงานที่ต่างกันบนเนื้อหาที่เป็นโจทย์เดียวกัน สามารถสะท้อนวิถีผู้คน รวมถึงภูมิทัศน์เมืองในมุมมองที่มีความแตกต่างกันได้เป็นอย่างดี

การสร้างงานศิลปะ เพื่อเล่าเรื่องราวบนสะพานในเมือง “เอโดะ” ของศิลปินชาวญี่ปุ่นผ่านเทคนิคภาพพิมพ์ที่สามารถผลิตได้จำนวนมาก ยังทำให้ผลงานมีโอกาสเดินทางไปสู่สายตาชาวโลกรวมถึงศิลปินที่อยู่คนละฟากทวีป สะพาน “ชินโอฮาชิ” จึงเปรียบดังสะพานที่เชื่อม ๒ วัฒนธรรมผ่านการสร้างผลงาน “ศิลปะ” ของทั้ง ๒ ศิลปินที่ยังคงเอกลักษณ์เฉพาะตนได้เป็นอย่างดี

รายการอ้างอิง

https://en.wikipedia.org/…/Sudden_Shower_over_Shin-%C5…

https://www.youtube.com/watch?v=boxyIJrNxRg

https://www.youtube.com/watch?v=NdPpLC0th64

https://www.britannica.com/biography/Hiroshige

https://www.vangoghmuseum.nl/en/collection/s0114V1962

ภาพ: https://web.facebook.com/…/hirosh…/10155920682536418/…