เดินไป วาดไป ณ “ป้อมเพชร”กรุงเก่า

ฅนบางกอก

๗ มกราคม ๒๕๖๕

          ใครที่ไปอยุธยากรุงเก่า คงมีหลายคนเคยเดินทางสัญจรเลียบถนนรอบเกาะเมือง แล้วก็ผ่าน “ป้อมเพชร” ไปแบบเห็นป้าย “ป้อมเพชร” แล้วก็ “อือ!! เลยไปอีกนิด เดี๋ยวก็เจอดงโรตีสายไหมแระ” 😂😆 “ป้อมเพชร” ก็เลยยังเป็น ป้อมเพชร ที่ผู้คนส่วนใหญ่นิยมสัญจร “ผ่านไป”–“ผ่านมา” เหมือนเดิม😆😁

หลายครั้งที่ข้ามเข้ามาที่เกาะเมือง และหากพอมีเวลาจะชอบแวะเข้ามาเดินเล่นในพื้นที่ของป้อมเพชร เพราะความน่าสนใจของ “เค้าโครง” จากองค์ประกอบและ “ชิ้นส่วน” ของป้อมที่กลายเป็นส่วนสำคัญของโบราณสถาน ทำให้สนุกกับการได้คิด วิเคราะห์และจินตนาการภายใต้ข้อมูลบางส่วนที่หลงเหลือจาก “บันทึก” และ”หลักฐานที่ปรากฏในพื้นที่” ทำให้เรามาคิดต่อได้ว่า “ป้อมเพชร” น่าจะมีหน้าตาและมีความ“อลังฯ” ยังไงบ้าง

ทุกวันนี้ หากใครได้ลองมาแวะพื้นที่ในบริเวณป้อมเพชร ก็ยังคงเห็นถึงเค้าโครงของความเป็นป้อมขนาดใหญ่ หากแต่มีความร่มรื่นเพราะกลายสภาพเป็นสวนสาธารณะด้วย ทำให้ป้อมเพชรมีการใช้พื้นที่สอดคล้องกับวิถีของเมืองประวัติศาสตร์ที่มีผู้คนปัจจุบันเข้าไปใช้ประโยชน์ เพื่อพักผ่อนและเรียนรู้เรื่องราวในอดีตได้ด้วย

ที่สำคัญคือ ป้อมเพชร มีที่มาและเรื่องราวที่น่าสนใจใคร่รู้มากมาย ทำให้พื้นที่บริเวณนี้ น่าเดิน น่าค้นหา(ไม่ได้เชียรให้เข้ามาเล่นซ่อนหานะ 😂😆😂) แบบว่ามีความสำคัญต่อราชานีอยุธยาไม่ได้น้อยไปกว่าวัดสำคัญที่ตั้งอยู่ในเมือง ยิ่งหากมองในด้านบทบาทของความมั่นคงของราชธานี ด้านการป้องกันเมือง ที่เกี่ยวกับความปลอดภัย หรือความอยู่รอดของกรุงศรีฯด้วยแล้ว ยิ่งจะมานับนิ้วหรือกดเครื่องคิดเลขคำนวณเป็นปริมาณตัวเลขเพื่อแสดงค่าความสำคัญไม่ได้เลย

บริเวณหน้าป้อมเพชรเป็นจุดที่สบกันของแม่น้ำทั้ง ๓ สายคือ แม่น้ำเจ้าพระยาไหลลงมาทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ โดยมีแม่น้ำลพบุรีกับแม่น้ำป่าสักไหลมาบรรจบกันทางทิศตะวันออกฉียงเหนือ และไหลลงมารวมกับแม่น้ำเจ้าพระยาหน้าป้อมเพชร ณ จุดที่เป็นทิศตะวันออกเฉียงใต้ของเกาะเมือง

ลักษณะเช่นนี้จึงทำให้บริเวณด้านหน้าของป้อมเพชรมีสภาพเป็นน้ำวนตามธรรมชาติทางภูมิศาสตร์ คือน้ำมาคนละที่ ความกว้าง ความลึกของแม่น้ำที่ไม่เท่ากันย่อมทำให้เกิดการปรับตัวทางภูมิศาสตร์ให้สมดุล จึงเป็นผลให้กระแสน้ำเกิดการเคลื่อนหมุน กระเพื่อมแรง ทำให้ยากต่อการเดินทางสัญจรทางน้ำในบริเวณนี้ ในทางกลับกัน ถ้ามองในด้านการป้องกันเมืองในอดีต ก็จะเห็นถึงประโยชน์ที่มีต่อกรุงศรีฯด้วยเช่นกัน เพราะข้าศึกก็จะรุกเข้ามาทางนี้ได้ยุ่งยากมากขึ้น นี่คือของดีที่ธรรมชาติมอบให้กรุงศรีฯในด้านป้องกันเมืองในยามทำศึกสงคราม ยังไม่รวมของแถมที่พลปืนใหญ่ประจำป้อมจะส่งมอบโปรโมชั่นให้กับข้าศึกอีกนะ 😂😁😂

ตามบันทึกและหลักฐานที่ปรากฏเป็นสภาพโบราณสถานตอนนี้ ทำให้รู้ว่า บริเวณนี้คงจะเริ่มสร้างเป็นป้อมขนาดใหญ่ครั้งแรกในช่วงที่กรุงศรีฯมีความสัมพันธ์กับชาวตะวันตกครั้งแรกคือ ชาวโปรตุเกสในสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ ช่วงราวกลางพุทธศตวรรษที่ ๒๑ (พระองค์ทรงสร้างพระศรีสรรเพชญดาญาณ ซึ่งเป็นพระพุทธรูปยืนองค์ที่มีดราม่ามาหลายปีจนถึงตอนนี้น่ะแระ 😂😁 ) รูปแบบของป้อมสามารถสังเกตได้ที่ส่วนฐานป้อมจะเป็นแนวโค้งตามรูปแบบป้อมปราการที่มีความนิยมในสมัยนั้น

สอดคล้องกับความสำคัญของกรุงศรีฯในฐานะที่เป็นราชานี มีการค้ากับชาติตะวันตก เริ่มรับวิทยาการใหม่ๆเข้ามาพร้อมกับความร่ำรวยมากขึ้น มีหมอสอนศาสนา ทหารรับจ้าง และนายช่างชาวโปรตุเกส ฯลฯ เข้ามามากมาย ปืนไฟซึ่งเป็นอาวุธทรงอานุภาพเริ่มถูกใช้แพร่หลาย การสร้างป้อมปราการย่อมจำเป็นต้องมีความมั่นคง แข็งแรงมากขึ้นตามไปด้วย โดยเฉพาะพื้นที่ทางน้ำทางฝั่งใต้ของเกาะเมืองบริเวณนี้ เริ่มเต็มไปด้วยกองเรือจากนานาชาติมากขึ้น การค้า(ผลประโยชน์) กับ ความมั่นคงปลอดภัย(ผลจากผู้คนที่หลากหลายมากขึ้น) จึงเป็นของคู่กันและต้องมีความสมดุล

ต่อมา ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ ราวช่วงต้นถึงกลางพุทธศตวรรษที่ ๒๓ ราชสำนักมีความสนิทสนมกับฝรั่งเศสผ่าน“ฟอลคอน” หรือ “เจ้าพระยาวิชเยนทร์” (ในหนังบุพเพฯก็เป็นตัวเด่นยุ 😊😁😉) ทำให้ช่วงนั้นนักบวช รวมถึงนายช่างจากฝรั่งเศสหลั่งไหลเข้ามาในกรุงศรีฯ (เหตุผลนึงเพื่อสกัดอำนาจจากฮอลลันดาที่ชอบมาข่มเหงราชสำนักกรุงศรีฯก่อนหน้านี้ด้วย) สิ่งนึงที่ได้รับวิทยาการจากฝรั่งเศสคือ การสร้างและปรับปรุงป้อมปราการเดิมมากมาย รวมถึงป้อมเพชรแห่งนี้ สังเกตได้จากลักษณะของป้อมส่วนใหญ่ที่คงให้เห็นอยู่บนดิน ยังคงรูปแบบปรากฏให้เห็นในปัจจุบันที่มีความเป็นเหลี่ยม เป็นมุม และได้รับการออกแบบกำแพงให้หนามากขึ้น มีขนาดใหญ่มากขึ้นเพื่อประจันกับการใช้อาวุธจู่โจมสมัยใหม่จากข้าศึก

หนึ่งในข้อสังเกตที่ทำให้เห็นอานุภาพและความสำคัญของป้อมเพชรคือ ป้อมนี้แทบไม่ได้ใช้ในการศึกตลอดระยะเวลาหลังการสร้างจนถึงเสียกรุงศรีฯ เพราะข้าศึกหรือฝ่ายที่อยู่ด้านนอกเกาะเมืองฉลาดพอที่จะไม่เอารี้พลมาเททิ้งในจุดที่มีป้อมปราการมั่นคงแข็งแรงเยี่ยงนี้ 😁😂🤔 ข้าศึกจึงเลือกโจมตีจุดอื่นที่มีความเปราะบางที่สุดก่อน ช่วงเวลาของการเป็นราชธานีของกรุงศรีอยุธยา จึงแทบไม่พบบันทึกที่ระบุถึงการทำสงครามชิงเมือง(ทั้งศึกภายในและศึกภายนอก)ที่มีการรบกันที่บริเวณป้อมเพชรเลย

และหากลองจินตนาการ มองภาพย้อนไปในช่วงเสียกรุงศรีฯครั้งสุดท้าย ทำให้ถึงบางอ้อว่า ข้าศึกทำการบ้านแก้เกมส์มาอย่างดีจริง เพียงแค่ “ปิดประตูเตรียมตีแมว” โดยตั้งค่ายอยู่อีกฝั่งน้ำแต่ไม่รุกข้ามไปหาวิถีอาวุธปืนน้อยใหญ่ของป้อมเพชร แต่ก็คุมไม่ให้ใครหนีออกมาจากเกาะเมือง ให้เวลาค่อยๆหลอมกองทัพกรุงศรีฯที่อยู่ภายในเกาะเมืองให้อ่อนแรงแล้วค่อยรุก ตรงตามยุทธวิธีการสงครามเลยนะ 😁😢🤔

มีเวลา อยากชวนมิตรสหายมาเยี่ยมเยือน ปลอบขวัญป้อมเพชร (แล้วค่อยไปไหว้พระ ๙ วัดต่อก็ได้ ม้าง 😂😁🤣) เชิญมารับพะลัง ความชุ่มชื่นกับบรรยากาศโปร่งๆ สวยๆ ขลังๆ หน้าป้อมริมน้ำที่มีแม่น้ำ ๓ สายมาสบกัน มาช่วยกันปลอบ มาทักทาย และเสพความงามตกค้างผ่านวัน-เวลาของป้อมเพชรที่พร้อมจะเล่าเรื่องราวความน่าสนใจด้วยเสียงกระซิบของสายลมและคลื่นน้ำ พร้อมกับหม่ำโรตี แฟสดดำ ฯลฯ ให้ฉ่ำใจ

รุงี้ คราวต่อไปแวะละลายทรัพย์เตรียมของกินฝีมือชาวกรุงเก่าเพลานี้แล้วแวะมาเยือน “ป้อมเพชร” มาจิ้ม มาฉีก มาจก แบบกินไปแลเพลินๆไปได้อรรถรส(แล้วอย่าลืมทิ้งของที่เหลือลงถังด้วยล่ะ 😆👍😁) หรือจะมาบันทึกความทรงจำแบบ “สดจากไร่(แฟ)” แบบที่เอามาแบ่งปันกันเป็นภาพลายเส้นภาพนี้ ก็ทำให้อินนกับความขลังพร้อมความฟินนของรสชาติโรตี แฟสดดำ 😁✌🤞👌) ได้มากขึ้นเชียวนะ

ภาพ “ป้อมเพชร” กรุงเก่า

ขนาดภาพ A4

ปากกา เมจิกดำ

ระยะเวลาวาด ๘ นาที