เดินไป วาดไป: บันทึก “พระกษิติครรภ์” โพธิสัตว์ผู้เปี่ยมเมตตา-กรุณาต่อ “ทุกสรรพสัตว์”

ฅน บางกอก

๒๙/๐๙/๒๕๖๕

……….ในบรรดา “พระโพธิสัตว์” ที่มีความสำคัญจำนวน ๔ พระองค์ของพุทธศาสนามหายาน  และเป็นที่รู้จัก มักคุ้นในวัฒนธรรมของเอเชียตะวันออก จะมี พระมัญชูศรี  พระสมันตภัทร  พระอวโลกิเตศวร และพระกษิติครรภ์  ส่วนพระโพธิสัตว์ที่รู้จักมักคุ้นที่สุดในสังคมเอเชียตะวันออกรวมทั้งในประเทศไทยเห็นจะเป็น พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร “กวนอิม” หลายคนก็เรียก “เจ้าแม่กวนอิม” (ก็ไม่รู้เหมือนกันว่าท่านไปเป็น “เจ้าแม่” ตั้งแต่มะไหร่ 😆😁😃)

……….แน่นอนว่า ภาพจำของสังคมที่มีต่อ “พระโพธิสัตว์” ย่อมหมายถึง“บุคลาธิษฐาน” (พูดง่ายๆคือ “รูปบุคคล” ที่เราเคารพนับถือนั่นเอง) ที่เปี่ยมด้วยความเมตตา-กรุณา  หากลองมามองในด้านบุคลิกหรือ “รูปลักษณ์” (Personality) เช่น การแต่งกาย (เครื่องทรง) รวมถึงลักษณะท่าทางและสิ่งของคู่กาย ฯลฯ ซึ่งเป็นหนึ่งในวิธีการศึกษาที่เรียกว่า “ประติมานวิทยา” (กลุ่มนักประวัติศาสตร์ศิลปะ นักโบราณคดี ฯลฯ นิยมใช้ศึกษาเพื่อทำความเข้าใจศิลปะที่เป็นรูปบุคคลนั้น)  เพื่อทำความเข้าใจถึงความมุ่งหมายหรือหน้าที่ (Function) ของพระโพธิสัตว์แต่ละองค์

……….ก็จะพบว่า “พระโพธิสัตว์กษิติครรภ์” มีความน่าสนใจตรงที่มี “รูปลักษณ์” แบบมนุษย์ทั่วไปที่ “สมถะ” มากที่สุด เช่น มีบุคลิกเป็นนักบวช มีเครื่องทรงที่แสดงฐานันดรชั้นสูงน้อยที่สุด หรือถ้าเป็นสำนวนไทยอาจเปรียบได้กับคำว่า “ติดดิน” มากที่สุด  โดยพระหัตถ์นึงทรงถือ “คทา” สำหรับ “เปิดประตูนรก” เพื่อลงไปช่วยเหลือสรรพสัตว์ที่ตกทุกข์ทรมาน  อีกพระหัตถ์นึงประคอง “ลูกแก้วใส” เพื่อประทานแสงแห่งความสว่างท่ามกลางความมืดมิด  (ภาพที่วาดบันทึก ไม่เห็นลูกแก้ว เพราะหลบมาวาดที่ด้านข้างมาทางด้านหลัง เพราะสู้แสงเจิดจ้าตรงด้านหน้าที่มีพระสูรยะประทานพรลงมาอย่างแรงกล้าไม่ไหว  🤣😆😂)

……….แม้ว่า รูปลักษณ์ของ “พระแม่กวนอิม” กับ “พระกษิติครรภ์” จะมีภาพจำของผู้คนในด้านความมีเมตตา-กรุณา คล้ายๆกัน  แต่หากจะแยกความต่างของพระโพธิสัตว์สององค์นี้แบบง่ายๆ  วิธีบ้านๆ ก็คือ พระแม่กวนอิมเป็น “สตรีเพศ” ที่แลดูมีความอ่อนหวาน ใจดี  ในขณะที่ พระกษิติครรภ์ เป็น “บุรุษเพศ” ครองสมณเพศ ซึ่งมีความน่าสนใจตรงที่ไม่เพียงแต่จะมีความเมตตา-กรุณา มุ่งที่จะช่วยเหลือต่อมนุษย์อย่างพวกเรา  หากแต่พระองค์ยังมีความปรารถนาอันแรงกล้าที่จะลงไปช่วยเหลือผู้ทึ่ได้รับความทุกข์ ทรมานในนรกขุมต่างๆเพื่อให้หลุดพ้นจากกรรมทั้งปวงอีกด้วย

……….ความเชื่อที่เล่ามานี้ สอดคล้องกับคติ ความเชื่อที่มีเนื้อหาใจความสำคัญที่ว่า พระกษิติครรภ์ทรงได้รับการมอบหมายจาก “พระสมนโคดมพุทธเจ้า” (คือเจ้าชายสิทธัตถะ หรือพระพุทธเจ้าในยุคของเรา) ให้ “ลงไปโปรดสรรพสัตว์ในชั้นกามภูมิทั้ง ๖” ในช่วงที่พระองค์ปรินิพพานไปแล้ว และพระศรีอริยเมตไตรย (พระศรีอาริย์) ยังไม่ได้ลงมาตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า

……….ตามความเชื่อชุดนี้ ทำให้รู้ว่าเป็นช่วงเวลาที่พระโพธิสัตว์กษิติครรภ์ ได้ทำหน้าที่โปรดเหล่าบุคคลต่างๆในชั้นกามภูมิ เพื่อให้เพียรประพฤติดี ประพฤติชอบให้มากที่สุดก่อนที่จะเกิดพระพุทธเจ้าองค์ถัดไปต่อจากพระพุทธเจ้าสมนโคดมในยุคของเรา  หรือพูดง่ายๆก็คือ ช่วงเวลาที่เรากำลังคุยกันอยู่ตอนนี้ “พระโพธิสัตว์กษิติครรภ์” กำลังทำหน้าที่ช่วยเหลือทุกสรรพสิ่งอยู่ทั้งในโลกและภพแดนอื่นนอกเหนือจากโลกของเรา  ดังนั้นจากความเชื่อชุดนี้ก็ยังคงเหลือช่วงเวลาในการปฏิบัติหน้าที่ของพระองค์อยู่ราวอีก ๒๔๐๐ ++ ปี ตามเวลาโลกของเรา 😁😊😃

……….ด้วยคติ แนวคิดที่เล่ามา พระกษิติครรภ์ จึงเปนที่รู้จักในแผ่นดินจีน และมีความแพร่หลายเป็นที่เคารพ ศรัทธาไปสู่ดินแดนต่างๆมากมาย โดยเฉพาะทางเอเชียตะวันออกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงในประเทศไทย เรื่องราวที่นำมาสู่ความศรัทธาที่มีต่อพระโพธิสัตว์องค์นี้ ปรากฏขึ้นครั้งแรกในพระสูตรฝ่ายมหายานที่ชื่อว่า “กษิติครรภ์โพธิสัตวมูลปณิธานสูตร” ซึ่งเป็นหนึ่งในพระสูตรที่มีความสำคัญ โดยมีประเด็นที่น่าสนใจเกี่ยวกับเหตุการณ์เมื่อครั้งเสวยพระชาติเป็นมนุษย์ของพระกษิติครรภ์โพธิสัตว์  พระองค์ได้ตั้ง “มหาปณิธาน” ที่จะช่วยเหลือสรรพสัตว์ทั้งปวง โดยปวารณาพระองค์ว่า

 

……….“….ตราบใดที่เหล่าสรรพสัตว์ยังไม่ว่างเว้นจากนรกภูมิ ก็จะไม่ขอตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า….”

 

……….ด้วยแรงศรัทธาที่พระกษิติครรภ์มุ่งมั่นช่วยทุกสรรพสัตว์ที่ไม่เพียงแต่บนโลกมนุษย์ของเรา แต่ยังมุ่งหมายลงไปช่วยเหลือเหล่าสรรพสัตว์ผู้ตกทุกข์ทรมานในนรกขุมต่างๆ คล้ายๆกับคำว่า  “จะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” (คุ้นๆยังไงไม่รุ 555)  จึงทำให้พระองค์ได้รับความเคารพ ศรัทธาจากผู้คนในสังคมเอเชียตะวันออก (เกาหลี ญี่ปุ่น ฯลฯ) ที่นับถือ “พุทธศาสนา มหายาน” นับตั้งแต่สมัยราชวงศ์ถังเป็นต้นมา และมาสู่ภูมิภาคเอเชียตะวันออกฉียงใต้ (อุษาคเนย์)  ความหมายของพระโพธิสัตว์องค์นี้ จึงมีความน่าสนใจทางด้านปรัชญา ความเชื่ออยู่ไม่น้อยเลยทีเดียว  โดยเฉพาะคำว่า “ครรภ์” ที่มีความหมายถึงท้อง และยังแสดงความหมายถึงสรรพสิ่งที่อยู่ภายในผืนแผ่นดินซึ่งมีความหมายถึงการก่อเกิดสรรพสิ่งได้อีกด้วย

……….หากมาลองสังเกตชื่อของพระกษิติครรภ์ที่เป็นอักษรกำกับภาษาต่างๆ เช่น จีนกลาง 地藏菩薩  (ตี้จ้างผูซ่า: จีนกลาง), (ตี่จั่งผ่อสัก: จีนแต้จิ๋ว)   เกาหลี 지장  (จีจาง)   ญี่ปุ่น 地蔵 (จิโซ)  ทุกภาษาจะมีคำที่มีความหมายว่า “แผ่นดิน” ซึ่งมีความสอดคล้องกับการที่พระองค์เสด็จลงมาช่วยเหลือผู้คนบนดิน คือโลกมนุษย์ และผู้ทุกข์ทรมานที่อยู่ภพภูมิต่ำกว่าโลกของเราลงไป (คืออบายภูมิ หรือที่เรามักเรียกว่า นรกภูมินั่นเอง)  แม้มารที่มีฤทธิ์เดชเพียงใดก็ยังให้ความเคารพ ยำเกรง และศรัทธาต่อพระองค์ ด้วยที่พระองค์มีความเมตตา กรุณาอย่างเปี่ยมล้น ทรงลงมาช่วยเหลือทุกสรรพสัตว์ จนได้รับอีกสมญานามหนึ่งว่า พระโพธิสัตว์ผู้เป็นเจ้าแห่งนรกภูมิ

……….ตัวอย่างนึงที่แสดงถึงความศรัทธาต่อ “พระกษิติครรภ์” ในประเทศญี่ปุ่น เท่าที่เคยไปเดินสำรวจตามเมืองต่างๆ นอกจากจะพบเห็นได้ทั่วไปตามวัดแล้ว ยังพบอยู่ตามทางแยกต่างๆ  บางที่ก็สร้างเป็นศาลขนาดย่อมให้ท่านประทับเพื่อคุ้มแดด ฝน โดยเฉพาะเมืองใหญ่มักเห็นเป็นแท่งหินแกะสลักเป็นรูปนักบวชและมักถือคทากับลูกแก้ว (บางทีก็ลูกปะคำ)  รูปแบบท่าทางที่แสดงออมาสู่งานศิลปกรรมในลักษณะนี้ (ประติมานวิทยา) ทำให้เราพอจะรู้ได้ว่าคือ พระกษิติครรภ์โพธิสัตว์ นั่นเอง

……….นอกจากนี้ ความเชื่อที่เกี่ยวกับ พระกษิติครรภ์ของชาวญี่ปุ่น ยังมีพัฒนาการทางด้านคติ แนวคิด โดยมีการนำพระกษิติครรภ์มาเป็นสัญลักษณ์แสดงถึงพระผู้คอยคุ้มครองบรรดาเด็กเล็ก เด็กน้อยเพื่อให้ปลอดภัยจากภัยอันตรายต่างๆ  รวมถึงทารกที่ยังไม่ได้เกิดโดยมีการแท้งเสียก่อน ฯลฯ  คติเหล่านี้ สามารถมองเห็นถึง “ภาพสะท้อนทางสังคมที่ผู้ใหญ่มีต่อเด็ก” ที่น่าสนใจทีเดียว  ตัวอย่างเช่น หากมีเด็กหายตัวไป อาจไปวิ่งเล่นแล้วหลงทาง หรือเป็นป่วย เป็นไข้ หรืออาจได้รับภัยอันตราย ฯลฯ ก็จะมีการไปกราบไหว้เพื่อให้ท่านช่วยเหลือ คุ้มครอง ฯลฯ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความผูกพันของสังคมญี่ปุ่นที่มีต่อพระกษิติครรภ์ได้เป็นอย่างดี

……….เทศกาลกินเจเป็นช่วงเวลาที่หลายคนมักถือศีลและงดการกินเนื้อสัตว์  ทำให้นึกถึงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทางพุทธศาสนาหลายท่าน หลายองค์ หนึ่งในนั้นย่อมทำให้นึกถึง พระกษิติครรภ์โพธิสัตว์ ผู้ไม่ทอดทิ้งทุกสรรพสัตว์ โดยนำทางและช่วยเหลือเพื่อให้ทุกสรรพสัตว์ได้ก้าวพ้นจากความทุกข์ทั้งปวง  เทศกาลกินเจที่มีการละเว้นการกินเนื้อสัตว์หรือพยายามเลี่ยงการกินเนื้อสัตว์ให้มากที่สุด จึงเป็นหนึ่งในช่วงเวลาแห่งความ “เมตตา-กรุณา” ต่อสัตว์อีกวิธีหนึ่งด้วยเช่นเดียวกัน

……….มิตรสหายที่สนใจเรื่อง พระกษิติครรภ์ พิมพ์คำว่า “กษิติครรภ์”  รายละเอียดของข้อมูลอาจมีมากน้อย แตกต่างกันบ้าง แต่เชื่อได้ว่าจะได้เห็นภาพรวมของ พระโพธิสัตว์องค์นี้อย่างแน่นอน  ตัวอย่างของแหล่งข้อมูลสามารถหาเพิ่มเติมได้จาก

 

http://www.cttbusa.org/ess/earthstore_contents.htm

https://th.wikipedia.org/wiki/พระกษิติครรภโพธิสัตว์

ขอบพระคุณ “พระอาจารย์คม พุทธจักษุวิชชาลัย” ที่กรุณาสนทนาธรรมโลก

 

ภาพ:  บันทึก “พระกษิติครรภ์โพธิสัตว์”

สถานที่:  มูลนิธิพุทธจักษุวิชชาลัย

ปากกา  Lamy Safari  บนกระดาษ  A5

ระยะเวลา  ๑๗ นาที