The Impressionist (4 Dimensions)

๑๗ เมษายน ๒๕๖๔

          ศิลปะประเภทจิตรกรรมสามารถสร้างความรู้สึกต่างๆ เช่น ทำให้เกิดความรู้สึกอบอุ่น ชุ่มชื่น ล่องลอย สนุกสนาน ฯลฯ ความรู้สึกเหล่านี้เกิดจากความตั้งใจถ่ายทอดผ่านเทคนิคและการใช้อุปกรณ์ต่างๆของจิตรกรได้หลายวิธี อาทิ การใช้เทคนิคฝีแปรงและสีสันต่างๆ ซึ่งรวมถึงการใช้สีสันจากการแต้มด้วยจุดจำนวนมากเพื่อให้เกิดเป็นภาพเรื่องราวผ่านมิติและมุมมองต่างๆที่หลากหลาย การทดลอง เรียนรู้เทคนิค วิธีดังกล่าวเกิดขึ้นจนกลายเป็นกระแสความนิยมตั้งแต่ช่วงต้นมาถึงช่วงกลางของพุทธศตวรรษที่ ๒๕ (พ.ศ.๒๔๐๑-๒๔๕๐ โดยประมาณ)

          เทคนิค วิธี รวมถึงกระบวนการที่มาจากการสร้างแรงบันดาลใจ(Inspiration Process)ของงานจิตรกรรมดังกล่าวเกิดขึ้นพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงทางสังคม วัฒนธรรม ฯลฯ ในยุโรป และกระจายไปสู่สังคมในภูมิภาคอื่น เช่น เอเชีย อเมริกา ฯลฯ แนวคิดศิลปะที่มีการเปลี่ยนแปลงไปตามสภาพสังคม วัฒนธรรม มาสู่การสร้างสรรค์รูปแบบจิตรกรรมกลุ่มนี้ถูกเรียกว่า Impressionist ตามชื่อผลงานที่ชื่อ “Impression, Sunrise” ของ โคลด โมเนต์ พ.ศ.๒๔๑๕ (Claude Monet: 1872)

          ศิลปะแนว Impressionist เริ่มต้นมาจากงานจิตรกรรม โดยมีการรวมตัวกันของกลุ่มศิลปินที่กรุงปารีสเพื่อใช้เป็นพื้นที่ปะทะสังสรรค์ แลกเปลี่ยนทรรศนะทั้งทางด้านศิลปะ สังคม การเมือง ฯลฯ ซึ่งศิลปินกลุ่มนี้ส่วนใหญ่มีทีศนะที่แตกต่างไปจากแนวคิดศิลปะกระแสหลักที่ยังคงความนิยมรูปแบบศิลปะสายจารีตที่มีแบบแผนเฉพาะในสมัยนั้น งานศิลปะแนว Impressionist จึงเป็นทางเลือกของการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะแนวใหม่(ในสมัยนั้น) ที่นอกจากจะท้าทายแนวคิดศิลปะอันทรงพลังในสมัยนั้นแล้ว ยังเป็นการท้าทายพลังในจิตใจของผู้สร้างงานเป็นอย่างมาก เนื่องจากศิลปะประเภทนี้ก่อรูปจากแนวคิดที่มาจากความสนใจในเรื่องราวต่างๆทางสังคม(ไม่ได้จำกัดการเขียนภาพเฉพาะเรื่องราวในสังคมชั้นสูงซึ่งเป็น“ขนบนิยม”มาก่อนหน้านี้) ซึ่งมีความนิยมบันทึกเหตุการณ์ สภาพแวดล้อม ซึ่งรวมถึงความนิยมในการวาดภาพบันทึกบรรยากาศและสีสันต่างๆของสถานที่ที่จิตรกรได้เดินทางไปและบันทึกภาพลงบนผืนผ้าใบท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของห้วงเวลา ณ ขณะที่กำลังสร้างงาน(วาดภาพ) การสร้างสรรค์งานจึงจำเป็นต้องอาศัยการสังเกตและความเชี่ยวชาญในการใช้ฝีแปรง ฯลฯ ซึ่งต้องแข่งกับห้วงเวลาของแสงและบรรยากาศที่มีการเปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา

          ผลงานจิตรกรรม Impressionist อันน่าประทับใจถูกนำมาสร้างสรรค์ ต่อยอดอีกครั้งจากงานนิทรรศการ “Impressionist” ซึ่งนักออกแบบในปัจจุบันได้นำภาพผลงานต้นแบบจาก ๑๐ ศิลปินในยุคนั้น (ทุกท่านเป็นชาวฝรั่งเศส ยกเว้น“แวนโก๊ะ”ท่านเดียวที่เป็นชาวดัช) โดยสร้างสรรค์ให้ภาพเขียนเหล่านี้ออกมาโลดแล่น เคลื่อนไหวพ้นกรอบเฟรมของสีน้ำมัน โดยการปรุงแต่งภาพให้มีการเคลื่อนไหวพร้อมด้วยการแสดงบรรยากาศจากแสงและสีที่มีความโดดเด่นในภาพจิตรกรรมให้มีขนาดใหญ่บนผนังและพื้นในห้องนิทรรศการ จึงทำให้รู้สึกถึงบรรยากาศของแสงสีในงานจิตรกรรมกำลังห่อหุ้มพูดคุยกับผู้คนที่มาชมนิทรรศการ ตลอดจนการสัมผัสเสียงของดนตรีบรรเลงที่ผู้คนนิยมในสมัยนั้น

          ชุดภาพจิตรกรรมของศิลปินระดับโลกในยุค Impressionist นี้ถูกนำมาพัฒนาเป็นระบบดิจิตอล ทำให้กลุ่มภาพดังกล่าวมีขนาดใหญ่เท่าผนัง และในรายละเอียดบางส่วนของภาพ อาทิ ดอกไม้ ท้องฟ้า ฯลฯ การที่องค์ประกอบของภาพสามารถเคลื่อนไหวจึงทำให้รู้สึกถึงสายลมที่พัดผ่านซึ่งสัมผัสได้จากบรรยากาศของภาพเขียน โดยมีการจัดวางองค์ประกอบของสิ่งแสดง อาทิ การจำลองสะพานญี่ปุ่นเหนือบ่อลิลลี่(The Water Lily Pond)ที่ปรากฏในภาพจิตรกรรม เรือที่ลอยอยู่บนสายน้ำ(ที่สร้างสรรค์มาจากแสงสีในระบบดิจิตอล) การจัดวางองค์ประกอบสิ่งแสดงโดยผู้ชมสามารถเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของนิทรรศการเหล่านี้จึงสามารถช่วยให้ผู้ชมจินตนาการเข้าถึงสุนทรียภาพอันเกิดจากความงามที่อยู่ในภาพจิตรกรรม และยังสามารถทำให้เข้าใจถึงความประทับใจของศิลปินที่สร้างสรรค์ผลงานมานานกว่า ๑๐๐ ปีด้วยเทคโนโลยีระบบดิจิตอล ๔ มิติในปัจจุบัน

รายการอ้างอิง

Daniel Wheeler. Art since Mid-Century: 1945 to the present. London, Thames and Hudson. 1991.

Paul Hayes Tucker. Monet in the ‘90s. Boston, Museum of Fine Arts. 1990.

ขอขอบคุณ

Chaophaya Development Corp., Ltd. (River City Bangkok)

ภาพประกอบจากนิทรรศการ