วาด “ดอกบัว” แทนความหมาย “พระพุทธเจ้า”

ฅน บางกอก

๑๕ พฤษภาคม ๒๕๖๕

……….ดอกบัว ไม้น้ำที่นอกจากจะมีความสวยงามจากรูปทรง สีสัน ที่ทำให้มีความนรู้สึกถึงความ “สบายตาและอิ่มใจ” แล้ว ยังมีคุณค่าความหมายที่ผู้คนในสังคมใช้สื่อถึงสิ่งที่มีคุณค่าและความสำคัญมากอีกด้วย ผู้คนจึงให้ความเคารพ และถือเป็นดอกไม้มงคลที่มีความศักดิ์สิทธิ์มานานแล้ว

……….ทั้งนี้สามารถพบได้จากการแสดงออกของ “รูปเคารพ” ที่มักมีการถือดอกบัว หรือทรงประทับอยู่บนดอกบัว ฯลฯ ตามหลักประติมานวิทยา (Iconography) เช่น รูปบุคคลในศาสนา พราหมณ์ – ฮินดู ซึ่งมีความสัมพันธ์กับ พุทธศาสนา ด้วยเหตุผลสำคัญหนึ่งคือ มีแหล่งกำเนิดที่อยู่ภายในภูมิภาคเดียวกัน และมีชุดความคิดเกี่ยวกับ ดอกบัว ไปในลักษณะเดียวกันด้วยว่า “ดอกบัว คือต้นกำเนิดของจักรวาล” หรือสื่อถึง “การเกิดใหม่” อีกด้วย

……….ในคติ พุทธศาสนา พบหลักฐานจาก “ไตรภูมิฯ” ซึ่งถือเป็นหนึ่งในคัมภีรที่มีความสำคัญในการอธิบายชุดความคิดของคนสมัยก่อนว่า ดอกบัว คือต้นกำเนิดของจักรวาล และยังมีความสัมพันธ์กับการสื่อความหมาย ดอกบัวคือ “พระพุทธเจ้า” เช่นมีการอธิบายว่า จำนวนของดอกบัวที่กำเนิดขึ้นมาในกัลปนี้ แทนความหมายของจำนวนของพระพุทธเจ้าที่จะมาอุบัติ เป็นต้น

……….นอกจากนี้ก็ยังมีการนำภาพดอกบัวในการสื่อความหมายถึงพระพุทธเจ้าในช่วงเหตุการณ์ต่างๆดังที่ปรากฏใน สมุดภาพไตรภูมิช่วงสมัยอยุธยาตอนปลาย-ธนบุรี ไม่ว่าจะเป็นตอนพระอินทร์ดีดพิณถวาย ตอนนางสุชาดาถวายข้าวมธุปายาส ตอนพระพุทธเจ้าเสด็จอยู่ป่าเลไลย์ ฯลฯ

……….รวบรัดตัดความเลยละกัน 😆🤣😁 ภาพที่วาดอันนี้ คัดลอกร่างสดมาจาก “สมุดภาพไตรภูมิ ฉบับกรุงศรีอยุธยา – ฉบับกรุงธนบุรี เล่ม ๒” ซึ่งเป็นเหตุการณ์ “มารผจญ” โดยช่างได้วาดภาพดอกบัวเป็นตัวแทนของพระพุทธเจ้า ซึ่งดอกบัวได้ประดิษฐานอยู่ในเรือนที่มีหลังคาทรงสูง (บุษบก, ซุ้มเรือนแก้ว ฯลฯ)

……….ส่วนใหญ่ที่เราพบเห็นบ่อยๆมักจะเป็นภาพที่เป็นพระพุทธเจ้าประทับนั่งอยู่ภายในเรือน ซึ่งมักจะพบพระองค์ประทับนั่งอยู่ในปางสมาธิ หรือไม่ก็ปางมารวิชัย (ปางสะดุ้งมาร) และมักพบได้เยอะในจิตรกรรมฝาผนังด้านสกัดของโบสถ์ตั้งแต่สมัยอยุธยา ลงมาถึงต้นรัตนโกสินทร์

……….การใช้ภาพดอกบัวเสมือนตัวแทนของพระพุทธเจ้า ที่ปรากฏในเนื้อหา ไตรภูมิฯ ยังมีความสัมพันธ์กับ “การเกิด” ของดอกบัว ซึ่งเป็นไม้มงคลและเป็น “สิ่งแรกที่เกิดขึ้นในจักรวาล” ที่เกี่ยวโยงกับเรื่องดอกบัวทำนายถึง จำนวนของพระพุทธเจ้า ๕ องค์ ที่จะอุบัติขึ้นมาในกัลปนี้คือ “ภัทรกัลป”

……….นอกจากนี้เหตุการณ์ต่างๆที่แสดงรูป “ดอกบัวแทนรูปของพระพุทธเจ้า” ทำให้นึกถึงภาพจำช่วงเวลาที่พระสมนโคดมโพธิสัตว์ได้ลงมาจุติและ “ประสูติ” ในพระครรภ์ของพระนางสิริมหามายา แล้วมี “ดอกบัว” มารองรับพระโพธิสัตว์ขณะเสด็จออกจากพระครรภ์ก็แสดงความหมายถึง “การเกิด” เช่นกัน รวมถึงภาพวาดที่คัดลอกมาจากสมุดภาพไตรภูมิฯ ที่แสดงถึงเหตุการณ์ “มารผจญ” ภาพนี้ ซึ่งสอดคล้องกับช่วงเหตุการณ์ที่พระโพธิสัตว์ได้ทรงเข้าใกล้สู่การบรรลุพระอนุตรสัมโพธญาณ คือ “การตรัสรู้” ในที่สุด

……….“ดอกบัว” ที่ช่างโบราณได้เขียนเพื่อใช้แทนความหมายถึง “พระพุทธเจ้า” จึงมีความสำคัญที่ช่วยให้เราได้เข้าใจวิธีคิด มุมมองของผู้คนในสังคมสมัยอยุธยา – ต้นรัตนโกสินทร์ ได้เป็นอย่างดี ดอกบัวที่เราเห็นคุ้นตาตามตลาดสด และมักไปซื้อมาบูชาพระพุทธในบ้าน หรือใส่บาตรพระสงฆ์ รวมถึงไปหยอดตังลงตู้แล้วหยิบดอกบัวมาบูชาพระพร้อมธูปทียนตามวัดวาอาราม ในความเป็นจริงแล้วมีความสัมพันธ์กับเรื่องเล่า ประวัติ ที่มา จากความเชื่อ ศรัทธาที่ลึกซึ้งทีเดียว

……….หากใครมีโอกาสเข้าวัดเวียนเทียนด้วยใจศรัธา เมื่อหยิบดอกบัวประนมมือไหว้พร้อมธูปเทียน ก็สามารถสื่อได้ถึงความระลึกถึงองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าประหนึ่งพระองค์ยังคงอยู่ใกล้ชิดในใจของเราเสมอ นั่นเอง

ภาพร่าง ดอกบัวแทนองค์ของพระพุทธเจ้า

คัดลอกจาก “สมุดภาพไตรภูมิ ฉบับกรุงศรีอยุธยา – ฉบับกรุงธนบุรี เล่ม ๒” ภาพที่ ๗๖

วัสดุ-อุปกรณ์: ปากกา + ดินสอ อิเล็กทรอนิกส์

ขนาดภาพ: ๑๖ x ๒๕ เซนติเมตร