จาก“เขาดานพระบาท “สู่” พุทธอุทยานพระมงคลมิ่งเมือง”แห่งอำนาจเจริญ

“พุทธอุทยานพระมงคลมิ่งเมือง”ตั้งอยู่บน“เขาดาน”หรือ“เขาดานพระบาท” ซึ่งเป็นบริเวณพื้นที่ตั้งอยู่ใกล้กับกึ่งกลางของจังหวัดอำนาจเจริญ มีสภาพทางภูมิศาสตร์เป็นเนินยกสูงและมีสัณฐานในลักษณะเดียวกับภูเขาลูกเตี้ย โดยมีลักษณะเนินสูงโดยรอบที่มีสภาพเป็น “ลานหินดานธรรมชาติ”(หินชนิดนี้จัดอยู่ในกลุ่มเดียวกับหินทรายแดง) โดยมีลักษณะเป็นลานกว้างเทลาด ทำให้เกิดพื้นที่ลานหินสลับกับป่าและทางน้ำเป็นบริเวณกว้าง ซึ่งเป็นกระบวนการทางธรรมชาตินานหลายพันปีมาแล้ว พื้นที่บริเวณนี้ประกอบด้วยลานตะพักน้ำ(Terrace) ตั้งแต่ระดับสูง ระดับกลางและไล่ลงมาในระดับต่ำ จึงทำให้บริเวณนี้เป็นที่ราบลูกคลื่นลอนลาด ถึง ลูกคลื่นลอนชันที่มีน้ำไหลผ่านแต่น้ำไม่สามารถท่วมถึง เนื่องจากบริเวณนี้มีระดับความสูงกว่าอาณาบริเวณพื้นที่โดยรอบ

ด้วยลักษณะพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ดังกล่าว “เขาดาน”จึงเป็นบริเวณพื้นที่ซึ่งผู้คนสถาปนาให้เป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ในเวลาต่อมา ทั้งนี้พบได้จากปรากฏรอยพระพุทธบาทธรรมชาติที่ประทับรอยอยู่ที่กลางลานหินบริเวณบนเนินสูง(ซึ่งเป็นที่มาของชื่อเขาดานพระบาทในเวลาต่อมา) อีกทั้งการพบแท่งหินธรรมชาติขนาดใหญ่ที่มีรูปทรงในลักษณะเดียวกับหลักเสมา ครก ลูกนิมิต ฯลฯ โดยมีการขุดขึ้นมาจากหนองน้ำธรรมชาติในบริเวณนั้น และได้นำมาประดิษฐานไว้ที่ลานใกล้กับ“พระมงคลมิ่งเมือง” ซึ่งเป็นบริเวณพื้นที่เนินสูงคล้ายสันเขา โดยยกฐานองค์พระให้มีความสูงที่สุด เพื่อให้เป็นพื้นที่ศูนย์กลางของพุทธอุทยานฯและเพื่อให้เป็นศูนย์รวมจิตใจของผู้คนในจังหวัดอำนาจเจริญ

การพบหลักฐานวัตถุต่างๆดังกล่าว จึงเป็นการเชื่อมโยงให้เห็นถึงชุดความคิดของผู้คนที่มีการสืบทอดคติ ความเชื่อ ศรัทธาที่มีแต่เดิมที่เชื่อว่าบริเวณพื้นที่ดังกล่าวมีเทวา อารักษ์ คอยปกปักรักษาพื้นที่บริเวณนี้มาเป็นเวลานานแล้ว จึงได้มีการสถาปนาแท่งหินและกลุ่มของหินศักดิ์สิทธิ์ที่มีขนาดใหญ่เหล่านี้ให้เป็นหลักเสมา(สีมา)ธรรมชาติ โดยมีการประกอบพิธีกรรมและอัญเชิญขึ้นมาประดิษฐาน ณ พุทธอุทยานพระมงคลมิ่งเมืองเพื่อแสดงหลักหมุดหมายของเขตพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ของเมืองจนถึงปัจจุบัน

ปัจจุบัน บริเวณพื้นที่ของพุทธอุทยานฯยังคงอนุรักษ์เป็นป่าธรรมชาติ ซึ่งอยู่ด้านหลังของพระมงคลมิ่งเมือง และเป็นพื้นที่อาศัยของสัตว์ป่าหลายชนิด มีสภาพทางภูมิอากาศเย็นสบายตลอดทั้งปี พื้นที่ดังกล่าวยังพบถ้ำต่างๆ รวมถึงอาคารเรือนไม้ซึ่งเป็นที่ตั้งของสำนักสงฆ์ ฯลฯ นอกจากนี้บริเวณด้านหลังองค์พระมงคลมิ่งเมืองยังเป็นที่ประดิษฐาน“พระละฮาย”(พระพุทธรูปศิลปะท้องถิ่นสร้างจากหินทรายแดงจำนวน ๒ องค์) ถูกพบในหนองน้ำธรรมชาติเมื่อครั้งที่มีการปรับปรุงบริเวณพื้นที่โดยรอบของหนองน้ำเพื่อพัฒนาให้เป็นอ่างเก็บน้ำพุทธอุทยาน(เพื่อใช้ในการเกษตรและสาธารณูปโภคอื่นๆให้กับชาวเมืองในจังหวัดอำนาจเจริญ) ซึ่งตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของพระมงคลมิ่งเมืองและพุทธอุทยาน

องค์ประกอบที่มีความสำคัญและเป็นจุดหมายตาของพุทธอุทยานพระมงคลมิ่งเมือง คือ พระมงคลมิ่งเมือง ซึ่งเป็นพระพุทธรูปกลางแจ้งขนาดใหญ่ที่สุดของภาคอีสาน(ในเวลานั้น) ที่มีการก่อสร้างด้วยคอนกรีตเสริมเหล็กปรากฏขึ้นตามส่วนภูมิภาคในช่วงทศวรรษ ๒๕๐๐ หากแต่ยังคงพุทธลักษณะศิลปะท้องถิ่นอีสานที่มีความงดงาม ออกแบบโดย “อาจารย์ประกิต(จิตร) บัวบุศย์” โดยมี “นายช่างคำเม้า ภักดีปัญญา” ผู้เคยร่วมงานการก่อสร้างกับกรมศิลปากรมาเป็นผู้รับผิดชอบงานในครั้งนั้น การสร้างพระมงคลมิ่งเมืองเกิดขึ้นจากความตั้งใจของพระครูทัศนประกาศ (บุ จนฺทสิริ) เจ้าอาวาสวัดสำราญนิเวศในสมัยนั้น(พ.ศ.๒๔๙๘) นอกจากจะสร้างเพื่อให้เป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวอำนาจเจริญแล้ว ยังให้เป็นสถานที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ โบราณวัตถุที่หักพัง อาทิ เศียรพระพุทธรูป เสมาเก่า รวมถึงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่างๆไว้ที่ใต้ฐานองค์พระ อีกทั้งเพื่อเป็นอนุสรณ์แด่ เจ้าพระคุณสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (ติสฺโส อ้วน) องค์ปฐมสังฆนายก และพระอาจารย์ดี (ฉนฺโน) ซึ่งมีความประสงค์จะให้สร้างปูชนียวัตถุ(องค์พระมงคลมิ่งเมือง) เพื่อบรรจุสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ท่านประสงค์ใส่เข้าไว้ในองค์พระ นอกจากนี้ยังมีการบรรจุอัฐิบางส่วนของท่านไว้ที่ฐานองค์พระ โดยเริ่มมีการสร้างในปี พ.ศ.๒๕๐๓ ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่“อำนาจเจริญ”ยังมีฐานะเป็นอำเภอหนึ่งของจังหวัดอุบลราชธานี ภายหลังจึงได้ยกฐานะเป็นจังหวัดในเวลาต่อมา

รายการอ้างอิง

กรมทรัพยากรธรณี. การจำแนกเขตเพื่อการจัดการด้านธรณีวิทยาและทรัพยากรธรณี จังหวัดอำนาจเจริญ. กรุงเทพฯ: จัณวาณิชย์ฯ. ๒๕๕๓.

กรมศิลปากร. รายงานการสำรวจแหล่งโบราณคดี โบราณสถาน ในเขตจังหวัดอำนาจเจริญ. (ม.ป.ท.) ๒๕๕๙.

คณะกรรมการปรับปรุงบริเวณเขาดานพระบาทและก่อสร้างพระมงคลมิ่งเมือง. หนังสือที่ระลึกพิธีพุทธาภิเษกพระมงคลมิ่งเมืองและเปิดพุทธอุทยาน. กรุงเทพฯ: (โรงพิมพ์ส่วนท้องถิ่น) กรมการปกครอง. ๒๕๐๘.

จังหวัดอำนาจเจริญ. www.amnatcharoen.go.th

ศูนย์วัฒนธรรม จังหวัดอำนาจเจริญ. พระมงคลมิ่งเมือง. (ม.ป.ท.) ๒๕๓๙.

ศูนย์ศิลปะวัฒนธรรมสัญจร. พระมงคลมิ่งเมือง เป็นพระพุทธรูปสำคัญประจำจังหวัดอำนาจจริญ. www.is-trip.com

ขอขอบคุณ

สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดอำนาจเจริญ กระทรวงวัฒนธรรม

พุทธอุทยานอำนาจเจริญ อำเภอเมือง จังหวัดอำนาจเจริญ

ภาพแสดงภูมิศาสตร์บนเขาดานพระบาท มีสภาพเป็นป่าธรรมชาติ โดยมีอ่างเก็บน้ำพุทธอุทยานซึ่งอยู่ด้านล่างใกล้กับเส้นขอบฟ้า

ภาพจากอากาศยานโดรนเพื่อการสำรวจทางศิลปะและวัฒนธรรม

ภาพแสดงที่ตั้งของพระมงคลมิ่งเมือง ไปตามแนวแกนทางทิศตะวันออก บริเวณที่ตั้งขององค์พระเป็นลานกว้างบนยอดของสันเขาดานพระบาท


ภาพจากอากาศยานโดรนเพื่อการสำรวจทางศิลปะและวัฒนธรรม

พื้นที่บริเวณ”หินดาน”ซึ่งเป็นบริเวณลานหินส่วนหนึ่งของเขาดานที่เป็นแนวทางลาดจากบนเขา (ขวามือของภาพ) ลงสู่ที่ลาดเชิงเขา

ภาพจากอากาศยานโดรนเพื่อการสำรวจทางศิลปะและวัฒนธรรม

ภาพขยายบริเวณลานของบริเวณ”หินดาน”ที่มีลักษณะดังหินทรายแดงขนาดใหญ่โดยมีพระมงคลมิ่งเมืองอยู่ด้านบนของสันเขา


ภาพจากอากาศยานโดรนเพื่อการสำรวจทางศิลปะและวัฒนธรรม

ทัศนียภาพแสดงสภาพแวดล้อมของพื้นที่บริเวณ”หินดาน” มีสภาพเป็นป่าโปร่งสลับลานหินเป็นแนวลาด

แผนที่ธรณีวิทยาของจังหวัดอำนาจเจริญ แสดงที่ตั้งของเขาดานพระบาทและพระมงคลมิ่งเมือง ซึ่งมีธรณีวิทยาเป็นหินทรายเม็ดปนกรวด เนื้อหินทรายสีเทาถึงสีน้ำตาลม่วง บางส่วนมีหินทรายปนกรวดซากดึกดำบรรพ์

ภาพแสดงกลุ่มหินขนาดใหญ่ที่มีการนำขึ้นมาจากหนองน้ำธรรมชาติ เมื่อครั้งที่มีการสร้างอ่างเก็บน้ำพุทธอุทยานฯ เพื่อสถาปนาให้เป็นหินศักดิ์สิทธิ์ในเวลาต่อมา

ภาพแสดงหลักหินตั้ง ซึ่งเป็นหนึ่งในชุดคติ ความเชื่อ ศรัทธาของผู้คนในแอ่งอารยธรรมอีสานที่ยังถูกส่งผ่านมาจากอดีตถึงปัจจุบัน

ภาพแสดง”พระละฮาย” พระพุทธรูปหินทรายแดงศิลปะท้องถิ่น อายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๕- ๒๐ ซึ่งถูกพบในหนองน้ำธรรมชาติก่อนที่จะอัญเชิญมาประดิษฐานอยู่ภายในอุทยานฯ