“ธรรมจักร” กับการแสดงนัยความหมายผ่านงานศิลปกรรม

สวรรค์ ตั้งตรงสิทธิกุล

“จักร” ศาสตราวุธสำคัญที่ใช้สื่อความหมายในการทำลาย หรือสังหาร “อธรรม” เราจึงพบสัญลักษณ์ของ “จักร” คืออาวุธสำคัญของเทพศักดิ์สิทธิ์หลายองค์ ดังตัวอย่างเทพ “วิษณุ”(พระนารายณ์) ในศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ฯลฯ “จักร” จึงมีพัฒนาการทั้งทางด้านคติ ความเชื่อ พบในบันทึกจากคัมภีร์ต่างๆ ควบคู่มากับการสร้างสรรค์งานช่าง สู่ “ผลิตผลทางศิลปกรรม”มาช้านานแล้ว

“จักร” มีรูปแบบในการแสดงออกในหลายความหมาย เช่น การเปรียบกับการหมุนของจักรที่มีพลังอำนาจสามารถตัด หรือทำลายล้าง“อธรรม”(สิ่งชั่วร้าย) ซึ่งมักถูกแทนค่าความหมาย(ในสมัยที่มีการสร้างสรรค์งานศิลปกรรม)ว่าคือ “ความมืด” ฯลฯ นอกจากนี้การพบ(การสร้าง) “จักร” ณ สถานที่หนึ่งใดย่อมแสดงให้เห็นถึงการหมุนและการเคลื่อนของจักรไปสู่ ณ สถานที่มีความสำคัญ และมีความเป็นมงคลควบคู่ความศักดิ์สิทธิ์ตามเจตนาการสร้าง“จักร”ในลิทธิ-ศาสนานั้น

ภาพจำของผู้คนในสังคมส่วนใหญ่จะรู้จัก“ธรรมจักร” ควบคู่กับยุครุ่งเรื่องในทางพุทธศาสนา ตรงกับสมัยทวารวดี (+_พุทธศตวรรษที่ ๑๒) ซึ่งศาสตราจารย์ ดร. ผาสุข อินทราวุธ ได้จำแนก“สัญญะ”ของ“ทวารวดีธรรมจักร” ที่มีความมุ่งหมาย เพื่อการแสดงปฐมเทศนาของพระพุทธเจ้า(หลักธรรมคำสอนครั้งแรก) เพื่อแสดงสังสารจักร(การแปรเปลี่ยนตลอดเวลา) เพื่อเปรียบพระอาทิตย์ที่เหนือพระอาทิตย์ด้วยการตื่นที่ยิ่งใหญ่(การรู้แจ้งแห่งปัญญา) เพื่อแสดงสัญลักษณ์มงคล(รูปเทพผู้ศักดิ์สิทธิ์ในคติ ความเชื่อ) และเพื่อแสดงคติจักรพรรดิผู้ปกครองจักรวาลด้วยธรรมะ(ธรรมวิชัย)

รูปแบบของ “จักร” ยังสามารถให้ความหมายในลักษณะเดียวกันคือ อำนาจแห่งความดีงาม ความเป็นมงคล สามารถพบได้จากรูปลักษณ์ “ดอกบัวบาน” คือการตื่นรู้ นอกจากนี้ยังพบรูปแบบที่มีความหมายมาจาก “เปลวไฟ” แห่งความสว่าง สะอาด โดยถูกนำมาใช้เป็นหนึ่งในองค์ประกอบสำคัญทางศิลปะ เพื่อใช้ในการสื่อความหมาย “ธรรมจักร” ด้วยเช่นกัน

หนึ่งในองค์ประกอบทางศิลปะดังกล่าวคือ ลวดลายของ “ศิลปะบนธรรมจักร” สามารถพบรูปแบบที่เรียกว่าลาย “กระหนกผักกูด”(นักวิชาการบางท่านเรียก “กระหนกเลข ๑” ฯลฯ ) ซึ่งมีรายละเอียดของลวดลายเรียกว่า “ลายผักกูด”, “ลายขมวด” ฯลฯ ลวดลายเหล่านี้พบมากใน “ศิลปะทวารวดี” และพบมากที่จังหวัดนครปฐม และเมืองเก่าในจังหวัดใกล้เคียง ฯลฯ ซึ่งมีความสัมพันธ์กับรูปแบบ “ศิลปะคุปตะ-วกาฏกะ” ในชมพูทวีป(ประเทศอินเดียในปัจจุบัน)

เส้นสายและลวดลายศิลปะของ “กระหนกผักกูด” บน“ทวารวดีธรรมจักร” แสดงออกด้วยการใช้เส้นโค้ง ขมวดเป็นเส้นวงโค้ง ม้วน บางส่วนของลายมีการต่อปลายยาวออกไปเป็น“เส้นโค้งธรรมชาติ” ที่มี“ความพลิ้วเบา” ลวดลายดังกล่าวพบการ“ขึ้นลาย”จากกึ่งกลางวงขอบส่วนที่ติดกับฐานรองของธรรมจักร และแตกลายออกไป(ซ้าย-ขวา)ในลักษณะสมมาตรตามวงโค้งของจักรขึ้นไปบรรจบกันที่ขอบบน

เส้นสายและลวดลายที่มีลักษณะตวัดโค้งไปมาดังกล่าว ยังมีน้ำหนักของลายเส้นที่ให้ความรู้สึกหนัก-เบาสลับกันเป็นจังหวะ ดังเปลวไฟที่แสดงการลุกโชติต่อเนื่องอยู่ที่ขอบวงของธรรมจักร ทำให้นึกถึง “เปลวไฟ” ที่เปรียบเหมือน“แสง”และ“ความสว่าง”แห่งธรรม สอดคล้องกับความหมายของจักรเพื่อทำลายล้าง “อธรรม” คือความมืดมิด และ “อวิชชา” คือความเขลา อันหมายถึงกิเลสต่างๆ มาสู่การรู้แจ้งคือ “ปัญญาอันประเสริฐ” ซึ่งถูกแทนความหมายด้วยรูปแบบศิลปะที่มีเส้นสายลวดลายดัง “เปลวไฟแห่งการตื่นรู้” นั่นเอง

รายการอ้างอิง

เชษฐ์ ติงสัญชลี, ลวดลายในศิลปะทวารวดี: การศึกษา “ที่มา”และการตรวจสอบกับศิลปะอินเดียสมัยคุปตะ-วกาฏกะ. นครปฐม: โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยศิลปากร, ๒๕๕๓.

น. ณ ปากน้ำ, วิวัฒนาการลายไทย. กรุงเทพฯ: เมืองโบราณ. ๒๕๖๐.

ผาสุข อินทราวุธ, ทวารวดีธรรมจักร. ภาควิชาโบราณคดี คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร. ๒๕๕๑.

Yupho, D. Dharmmacakra or The Wheel of the Law. The Fine Arts Department (4th edition), 1974.

wales, H.G. Quaritch. Dvaravati: The Earlitiest Kingdom of Siam. London: Bernard, 1970.

หนึ่งในรูปแบบของ “ทวารวดีธรรมจักร” (จัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑ์วัดพระปฐมเจดีย์) แสดงลวดลายดัง”เปลวไฟ”ที่ขอบวงของธรรมจักร

การ”ขึ้นลาย”แบบขมวด โดยปล่อยเส้นปลายให้มีความพลิ้วออกไป(ซ้าย-ขวา)แบบสมมาตร จากตำแหน่งกลางของฐานรอง(รูปดอกบัว) เพื่อให้ลายเคลื่อนไหลตามขอบวงขึ้นไปบรรจบส่วนบนของธรรมจักร

แสดงรายละเอียดของลายขมวด มีการต่อลายล้อมรอบขอบวงของธรรมจักร โดยส่วนปลายของลายมีลักษณะเบาลอย และมีทิศทางสู่ด้านบนในลักษณะเดียวกับ”เปลวไฟ”