เดินไป วาดไป ณ เมิงน่าน: วัดช้างค้ำ

ฅน บางกอก

๑๓ ธันวาคม ๒๕๖๔

          เดินมานั่งวาดตรงบริเวณสนามหญ้า ภายในพื้นที่ของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ น่าน(พ.ช.น่าน) ตอนพักเที่ยง(เที่ยงถึงบ่ายโมง พ.ช.น่าน จะปิดตึก และให้เข้าตึกได้อีกครั้งตอนบ่ายโมง) จุดที่วาดก็ใกล้กับ“วัดน้อย”อันลือชื่อนี่แหละ ร่มดี 🤩

ต้องเท้าความก่อนว่าบริเวณที่นั่งวาดตรงนี้ ตะก่อนเป็น“ลานแจ้งกลางเมือง”(ข่วงเมือง) ด้านหลังมีกำแพงกั้นพื้นที่ของลานนี้ กับ บริเวณที่ตั้งของอาคารพิพิธภัณฑ์ฯซึ่งแรกเริ่มเดิมทีเป็นที่ตั้งของ “หอคำ” หรือเรือนที่เป็นวังของเจ้าผู้ครองเมืองน่าน สมัยก่อนเป็นกลุ่มเรือนไม้ มีชานแล่นเชื่อมถึงกัน ต่อมาพระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดชฯได้สร้างใหม่เป็นอาคารก่ออิฐถือปูน(ตามที่เห็นเวลานี้)ในปี พ.ศ.๒๔๔๖ ดูจากรูปแบบอาคารกับช่วงเวลาที่สร้างแล้ว ท่านเป็นคนมีรสนิยมและทันสมัยมาก 👏🤟

จากนั้น เมื่อเจ้ามหาพรหมสุรธาดา(เจ้าเมืองน่านองค์สุดท้าย)ถึงแก่พิราลัย วงศ์ทายาทได้ยกวังและที่ดินให้แก่รัฐบาลสยาม เพื่อสร้างศาลากลางจังหวัดในช่วงปี พ.ศ. ๒๔๗๕ (หลังจากเปลี่ยนแปลงการปกครอง นั่นแหละ 😁😆) สันนิษฐานต่อว่าช่วงเวลาหลังจากนั้นจึงมีการรื้อรั้วกำแพงของหอคำ เลยทำให้บริเวณพื้นที่ของ “หอคำ”กับ“ลานข่วงกลางเมือง”กลายเป็นพื้นที่เดียวกันตามที่เห็นในปัจจุบัน และ“คาดว่า”บริเวณเขตรั้วของ พ.ช.น่าน ตอนนี้ น่าจะเป็นเขตรั้วเดิมกับครั้งที่ยังเป็นศาลากลางจังหวัดน่านก่อนที่จะย้ายออกไป

จุดที่นั่งวาด จึงเป็นพื้นที่ของลานข่วง(เดิม) มองออกไปเห็นทิวไม้ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ของ พ.ช.น่าน แลผ่านรั้วปูนเตี้ยๆและถนนออกไป เห็นรั้วกำแพงขาวๆของ “วัดพระธาตุช้างค้ำ” หรือที่ชาวบ้านเรียกกันสั้นๆว่า “วัดช้างค้ำ” ซึ่งเป็น “วัดหลวงกลางเวียง” สร้างในสมัยพญาภูเข็ง(เจ้าปู่เข็ง) พศ. ๑๙๕๕ ตรงกับ จ.ศ.(จุลศักราช) ๗๗๔ (พญาภูเข็ง ครองเมืองน่าน พ.ศ. ๑๙๕๐-๑๙๕๘)

ขนานกับถนน ก็จะเห็นพระเอกของภาพ คือ(จากซ้าย)เป็นพระบรมธาตุเจดีย์ช้างค้ำ ถัดมาเป็น “วิหารหลวง” ที่มีหลังคาสูงต่างระดับกัน และที่เห็นสันหลังคาซ้อนอยู่ด้านหลัง(ด้านขวาของภาพ) คือ“หอไตรฯ”ที่ตั้งถัดออกไป ปัจจุบันถูกปรับพื้นที่ใช้งานเป็น“วิหาร” หากยังคงสภาพเป็นหอไตรฯเรือนหลังนี้ก็คงเป็นหอไตรฯที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในสยามประเทศจนถึงตอนนี้เลยทีเดียว

นอกจากนี้รูปแบบของ “พระบรมธาตุเจดีย์ช้างค้ำ” ยังเป็นหลักฐานสำคัญที่แสดงถึงความสัมพันธ์อันดีระหว่าง “รัฐสุโขทัย”กับ“เมืองน่าน” ได้เป็นอย่าชัดเจน สอดคล้องกับหลักฐานที่เคยพบในวัดนี้ คือ ศิลาจารึกหลักทื่ ๖๔ (ช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ ๒๐, ราว พ.ศ. ๑๙๓๕) ระบุถึง พระยาผากอง กษัตริย์เมืองน่าน กับ พระยาลือไท (พระมหาธรรมราชาที่ ๒) กษัตริย์แห่งรัฐสุโขทัย ได้ทำสัตย์ สาบาน ที่จะช่วยเหลือซึ่งกันและกันเมื่อเกิดศึกสงคราม (เรื่องราวจะมีความสัมพันธ์ต่อเนื่องกับเหตุการณ์ที่เล่ามาแล้ว ตอนที่ “เดินไป วาดไป ณ วัดสวนตาล” น่ะแระ 😂😆😅)

เจดีย์องค์นี้มี “ช้างค้ำโดยรอบชุดฐาน” ลักษณะเดียวกับ “เจดีย์ช้างล้อมในศิลปะ-สถาปัตยกรรมสุโขทัย”(ผู้คนมีความสัมพันธ์กัน คติแนวคิดและรูปแบบศิลปะก็ย่อมมีความสัมพันธ์กันตามเหตุการณ์ที่เล่ามาแล้ว) ในภาพ(ลองสังเกตดีๆ)จะเห็นช้างค้ำราว ๒ เชือก แพลมๆซุ่มอยู่ในทิวไม้ด้วย 🤣😅 ชุดฐานพวกนี้ซ้อนลดหลั่นกันขึ้นไป ๓ ฐาน มีช้างค้ำลอยออกมาครึ่งตัวที่ฐานชั้นที่หนึ่ง โดยมีฐานบัวขนาดใหญ่(ที่สุด) เป็นชุดฐานที่ติดพื้นดิน รองรับชุดฐานที่เล่ามาอีกทีนึง (ไม่ต้องพิสูจน์โดยการหาบันไดทางขึ้นนะเพราะไม่มี ปีนก็คงไม่ไหว สูงว๊าก 😆🤣😂)

เหนือชุดฐานขึ้นไป จะเป็นชุดขององค์เจดีย์ที่มี “ฐานบัวในผังสี่เหลี่ยม”(ในภาพ ชุดฐานที่ว่าเห็นเฉพาะส่วนของบัวหงายนิโหน่ย เพราะมีทิวไม้บังอยู่ 😁😆😄) ต่อด้วยฐานเขียงในผังกลม ชุด“หลังคาลาด”(บัวถลา) ๓ ชั้น จากนั้นจะเป็นชุดของ“ระฆัง” เริ่มจาก “บัวปากระฆัง” ขึ้นมาที่องค์ระฆัง ที่มีการประดับด้วยลาย “ประจำยามอก”(ลายดอกสี่กลีบประดับที่กลางองค์ระฆัง) และไปจบที่ส่วนบนของชุดระฆังที่ “บัวคอเสื้อ”

เหนือชุดของระฆังคือ“บัลลังก์”ในผังสี่เหลี่ยม(นักวิชาการบางท่านจัดให้บัลลังก์เป็นชุดของระฆัง) ต่อด้วย“ก้านฉัตร”(คอระฆัง) และชุดกรวย(ฉัตร)โดยเริ่มจาก “บัวฝาละมี” ต่อด้วย “ลูกแก้ว”ซ้อนลดหลั่นกันขึ้นไปเป็นปล้องคั่นด้วยชุด“กลีบบัว” โดยมี“ปลียอด”เป็นองค์ประกอบบนสุดของเจดีย์(ไม่รวมยอดฉัตร)

องค์ประกอบที่เล่ามา ส่วนใหญ่มักพบในงานศิลปะจากรัฐสุโขทัยเข้าไปกว่าร้อยละ ๗๐ ที่เหลือก็มีส่วนผสมศิลปะจากรัฐล้านนาและอื่นๆ ที่แปรรูปมาจากสุโขทัย เชียงแสน หริภุญไชย ฯลฯ อีกที เช่น ทำให้เจดีย์มีขนาดที่ย่อมลง ทว่า มีสัดส่วนที่เพรียวมากขึ้น รวมถึงการใส่ประจำยามอก ฯลฯ

วาดไป นึกจินตนาการไปเพลินๆ หากย้อนเวลากลับไปมองภาพรวมของ “ที่ตั้งวัดช้างค้ำ” กับ “หอคำ” ทำให้เห็นถึง “มิติ” ความสำคัญของพื้นที่เมืองที่สัมพันธ์กันมาตั้งแต่มีการย้ายเมืองน่านมาตั้งอยู่ ณ ที่ราบกลางหุบเขาตรงบริเวณนี้ (เป็นมิติที่ไม่ต้องมีพลังงานบางสิ่งมากระซิบ 😆🙃😅) องค์ประกอบของ “เมิงน่าน” เมิงนี้” ช่างมีเสน่ห์ มีความงามนัก แม้ว่าขนาดเมืองจะไม่ใหญ่ ไม่โต แต่มีดีเกินตัว (เล็กพริกขี้หนู อีกแล้ว 😁😆😁)

นี่ยังไม่รวมมิติของ “แหล่งเกลือ” ที่มีความสำคัญมากๆในอดีต(ปัจจุบันก็ยังสำคัญและกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยว-เรียนรู้ของจังหวัดน่านไปแล้ว ⭐️🚵‍♀️🤟) เพราะในอดีตเกลือเป็นทรัพยากรสำคัญที่รัฐต่างๆ และเมืองต่างๆใกล้เคียงก็อยากได้มาครอบครอง นึกแค่เรื่อง“การถนอมอาหาร”เรื่องเดียว ความสำคัญก็มีตั้งแต่ในระดับชาวบ้าน ไปถึงยามศึกสงครามแล้ว 😁😁 ว่าง เดี๋ยวจะมาเล่าแถว “บ่อเกลือน่าน” ต่อ

มิตรสหายที่สนใจข้อมูลจากบันทึก เพื่อเพิ่มความฟินน์ (หรืออาจจะมึนตึบก็ได้😂🤣 😂) ลองเข้าไปอ่านดูเพลินๆได้เลยนะ

จารึกในประเทศไทย. https://www.finearts.go.th/chiangmailibrary/view/7186-%E0%B8%9E%E0%B8%87%E0%B8%A8%E0%B8%B2%E0%B8%A7%E0%B8%94%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B9%80%E0%B8%A1%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%99%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%99

พงศาวดารเมืองน่าน. https://db.sac.or.th/inscriptions/inscribe/detail/1693

ภาพโดย ฅน บางกอก : วัดช้างค้ำ ณ เมิงน่าน

ปากกาเมจิก(แท่งเดิมๆ 😆😂 ) บนกระดาษไร้เส้น ขนาด A5

ระยะเวลาวาด ๑๓ นาที