เดินไป วาดไป: วัดเมืองปอน ในวันมหาปวารณาออกพรรษา

ฅน บางกอก

๑๐ / ๑๐ / ๒๕๖๕

 

………..หลายปีก่อนได้ไปเยี่ยมเยือน “บ้านเมืองปอน” จังหวัดแม่ฮ่องสอน เพราะเป็นหนึ่งในทีมอาจารย์ผู้สอนวิชาท่องเที่ยวฯ (ชื่อเต็มของวิชาจำไม่ได้แระ เพราะชื่อค่อนข้างยาว 😆😁 ) ในครั้งนั้นเป็นธีม (Theme) ที่เกี่ยวกับศิลปวัฒนธรรมพื้นถิ่น  โดยมีกำหนดการพานักศึกษาเดินทางไปภาคสนามที่ “บ้านเมืองปอน” ในช่วงที่มีเทศกาลออกพรรษาเพื่อจะได้เรียนรู้ ประเพณี วิถีของชาว “ไทใหญ่” ที่ยังคงรักษาแบบแผนดั้งเดิมไว้ได้เป็นอย่างดีเลยทีเดียว

………..ที่ว๊าวอีกอย่างนึงคือ  วิชานี้เป็นวิชาเลือกที่กลุ่มนักศึกษาจากคณะวิศวะมาเลือกลงเรียน  ช่วงเวลาที่สอนเลยทำให้รู้สึกฟินน์ไปอีกแบบ  เพราะนักศึกษาก็จะมีมุมมองที่น่าสนใจต่อการพูดคุย ถาม-ตอบมากมาย โดยเฉพาะช่วงที่ไปออกภาคสนามกัน การใช้กรอบคิด มุมมองทางเทคนิคแบบวิทยาศสตร์ที่นอกเหนือจากคติ ความเชื่อจึงถูกนำมาพูดคุย แลกปลี่ยนกันได้อย่างได้อรรถรส สนุกสนาน บรรยากาศก็ให้ 👍✨👌

………..ช่วงเวลาที่อยู่บ้านเมืองปอน มีวัดที่สำคัญหลักๆอยู่ ๓ จุดเรียงรายทางไปตามหมู่บ้านที่เกาะไปกับลำน้ำปอน  ผังบ้าน (หมู่บ้าน) จึงค่อนข้างเป็นเนวเหนือ-ใต้ โดยเกาะไปกับลำน้ำที่ถือเป็นเส้นเลือดสายหลักของบ้าน  นอกจากนี้การจัดผังบ้านยังมีการกำหนดที่ตั้งสำคัญให้อยู่บริเวณกลางบ้านคือ “ใจบ้าน” (บางท้องถิ่นเรียกหลักบ้าน เรื่องนี้ถ้าจะเล่ายาววววมาก เก็บไว้ก่อน 😆😂😎)

………..และมีวัดที่ถือเป็นศูนย์รวมจิตใจอยู่ไม่ไกลกัน คือ “วัดเมืองปอน” ซึ่งถือเป็นวัดกลางบ้านที่สำคัญสุด  นอกจากนี้ก็มีวัดที่อยู่หัวบ้าน (หัวปอน) ทางทิศเหนือ  และวัดที่อยู่ท้ายบ้าน (หางปอน) ทางทิศใต้  ประเพณีที่เกี่ยวกับการออกพรรษาที่เรามักเรียกกันอย่างเป็นทางการว่า วันมหาปวารณาออกพรรษา จะมีขึ้นตั้งแต่วันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑  จนถึงรุ่งเช้าคือวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑

………..โดยในช่วงหัวค่ำของวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ ที่บ้านเมืองปอนจะมีประเพณีสำคัญที่เรียกในลักษณะเดียวกันในวัฒนธรรมไทใหญ่ว่า “จองพารา” คือการเตรียมเครื่องบูชาเพื่อมารอรับการเสด็จกลับลงมาของพระพุทธเจ้าในค่ำคืนถึงรุ่งสางวันใหม่ งานนี้จึงเป็นงานสำคัญเมื่อได้ร่วมงานแล้วรู้สึกอิ่มเอม สุขใจไปกับชาวเมืองปอนไปด้วยทีเดียว

………..ภาพที่วาดนี้ บันทึกหลังจากที่บรรยายให้นักศึกษาฟังถึงคติ ความเชื่อที่ก่อให้เกิดรูปแบบศิลปะ-สถาปัตยกรรมแบบไทใหญ่ที่มีลักษณะเฉพาะตัว รวมถึงเทคนิค วิธีการสร้าง  ระบบโครงสร้าง วัสดุ (วันที่ไปคือหลังคาได้เปลี่ยนเป็นหลังคาเมทัลชีทแบบ อะลูซิ้งค์ (สีโลหะมันวาว) เป็นที่เรียบร้อยแล้ว  😆😃😎

……….. เหตุผลที่น่าสนใจในมุมมองของช่างพื้นที่คือ เพื่อให้วัสดุใหม่อยู่ได้ทนทานแบบยาวๆกว่าวัสดุเดิม  ราคาก็น้อยกว่า  ประเด็นนี้ก็มีคุยกับนักศึกษาแบบยาวๆเหมือนกันถึงความเหมาะ หรือไม่เหมาะอย่างไร  ความพอดีที่สัมพันธ์กับรูปแบบศิลปะควรอยู่ตรงไหน ฯลฯ

………..ช่วงเช้าของวันออกพรรษายืนบรรยายอยู่มุมนี้ เป็นมุมมองได้ฟิว (Feel) ของบรรยากาศจริงๆ  บรรยายเสร็จบอกนักศึกษาให้เดินเข้าไปในวิหารก่อน เพราะมีของดีที่มีคุณค่าน่าสนใจอยู่ภายใน (อินทีเรีย) อีกมากมาย  เดี๋ยวตามไป…..  ว่าแล้วจะรอไร หยิบสมุดกับปากกาบันทึกสิ่งที่ใช่ทันที 😆😂😁  เพื่อให้สมกับความฟินน์ที่ยืนพูดอยู่ตรงนี้ตั้งนาน ✨😍👌

………..เช้าออกพรรษาวันนี้ตามจันทรคติ เมื่อ ๖ ปีก่อน มีอย่างนึงที่จำได้เหมือนกับวันนี้คือ มีแดดสลับฟ้าครึ้มแทบทั้งวัน  แต่ที่บ้านเมืองปอนในตอนหัวค่ำเริ่มมีการจุดไต้ ทำโคมห้อย ฯลฯ รวมทั้งอัญเชิญพระพุทธรูปที่อยู่ในบ้านออกมาตั้งที่บริเวณลานหน้าบ้านของแต่ละบ้าน  ทำให้เกิดบรรยากาศโดยรวมของหมู่บ้านเต็มไปด้วยสีสันตามรายทางที่สวยงาม  ประเพณีที่เล่ามาเป็นคติ ความเชื่อของชาวไทใหญ่ที่ว่าในค่ำคืนนี้ พระพุทธองค์จะเสด็จลงมายังโลกของเรา

………..ชาวบ้านจึงจัดเครื่องไหว้ต่างๆเพื่อรอรับเสด็จ  บางบ้านก็สร้าง“จอง” ที่เป็นเรือนทรงปราสาททำจากไม้สด(ภาคกลางเรียกบุษบก) เพื่อรอรับเสด็จของพระพุทธองค์  นอกจากตามบ้านแล้วที่วัดเมืองปอนก็มีจัดงานเช่นกัน พื้นที่สำคัญสุดก็อยู่ภายในวิหารหลังที่วาดมานี่แหละเพราะเป็นเรือนประธานของวัด  โดยรุ่งสางราวตีสี่หรืออาจก่อนเวลานี้ ชาวบ้านก็จะเริ่มทยอยกันมากราบไหว้พระพุทธองค์ในวิหาร

………..นอกจากนี้ ยังไปกราบไหว้ผีอารักษ์ที่อยู่ในบริเวณวัดด้วย เพื่อความเป็นศิริมงคลของชาวบ้านเมืองปอนที่สัมพันธ์กับรุ่งเช้าของวันใหม่ คือแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ ซึ่งเป็นวันที่เราคุ้นกับการจัดงานตักบาตรเทโวของวัดต่างๆโดยทั่วไปนั่นเอง  ทั้งอาจารย์กับนักศึกษาก็ต้องตื่นตีสี่เพื่อมาร่วมงานและเก็บข้อมูล เพราะนักศึกษาก็ต้องเอาข้อมูลทั้งหมดกลับไปทำรายงาน เพื่อมานำเสนอในประเด็นต่างๆที่ได้รับมอบหมาย (จริงๆก็ไม่ได้มอบ เพราะนักศึกษาเลือกกันเองน่ะแระ 😂😆😁)

………..ช่วงประเพณีวันออกพรรษาวันนี้ จึงเป็นวันที่มีความศักดิ์สิทธิ์ มีความสำคัญตามคติ ความเชื่อของหลายๆคนจนถึงเช้าวันใหม่  จึงขออำนวยพรให้มิตรสหายมีแต่ความสุขทั้งกายและใจ ได้รับแต่สิ่งที่ดีเป็นมงคล และก้าวข้าม ผ่านพ้นเรื่องราวที่ไม่สบายใจที่ผ่านมาได้อย่างมีสติ  นะๆ

 

ภาพ:  วัดเมืองปอน ในวันมหาปวารณาออกพรรษา

ปากกาเมจิกบนกระดาษ

ขนาด A5

ระยะเวลาวาด ๘ นาที