“สืบ”รักษ์ธรรมชาติแวดล้อม

คน ผู้คน กับสิงสาราสัตว์ ต่างก็มีถิ่นกำเนิดร่วมในอาณาบริเวณพื้นที่เป็นธรรมชาติแวดล้อมเดียวกันมาก่อน และยากที่จะแยกออกจากกันเป็นส่วนๆ สิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติ(อาทิ ทะเล ป่าเขา ท้องฟ้า ผืนน้ำ ฯลฯ) จึงเป็น“ผู้ให้”และก่อให้เกิดเหล่าสรรพสัตว์ทั้งหลายรวมทั้งผู้คนมานานตั้งแต่ครั้งโบราณกาล

ธรรมชาติแวดล้อมในแต่ละภูมิภาคจึงเป็นตัวกำหนดให้สรรพสัตว์(รวมทั้งผู้คน)ได้วิวัฒน์ตัวเอง ด้วยการเรียนรู้เพื่อปรับตัวให้เข้ากับพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ และได้เอื้อให้ผู้คนสามารถออกแบบโครงสร้างทางสังคมไปสู่การสร้างวัฒนธรรมอันเกิดมาจากภูมิปัญญา ผ่าน คติ ความเชื่อ ความศรัทธา มาสู่การสร้างนวัตกรรมต่างๆในเวลาต่อมาด้วยการเรียนรู้กับธรรมชาติแวดล้อมในพื้นที่นั้น ซึ่งต่างจากสรรพสัตว์อื่น(โดยทั่วไป เช่นสัตว์ป่า) ที่ยังคงปรับตัว คงอยู่กับวิถีทางธรรมชาติอย่างปกติสุข เช่นกัน

การที่คน ผู้คนได้อยู่รวมกันในพื้นที่ที่เรียกว่า“บ้าน”(หมู่บ้าน) ก่อเกิดเป็น “ชุมชน” และ “เมือง” ในขณะที่สรรพสัตว์(ยกเว้นมนุษย์) ได้อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่เป็น“บ้าน”(ป่าเขา ทะเล ฯลฯ) เหล่านี้จึงเป็นการอยู่ร่วมกันบนโลกอย่างปกติสุข โดยมีความเคารพซึ่งกันและกัน ดังเช่นคติแนวคิด “เต๋า” (“道教”, “Taoism”) ฯลฯ ซึ่งให้ความสำคัญในการดำรงไว้ซึ่งความ“สมดุล” เพื่อรักษาเผ่าพันธุ์ของตนให้คงอยู่สืบไปอย่างปกติสุข

ทรัพยากรทางธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อาทิ ป่าเขา ทะเล อากาศ ฯลฯ เริ่มเกิดความไม่สมดุลมากขึ้นเป็นลำดับ เมื่อโลกเข้ามาสู่ต้นพุทธศตวรรษที่ ๒๔ ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่โลกเริ่มเข้าสู่การปฏิวัติอุตสาหกรรม ทำให้มีการใช้ทรัพยากรทางธรรมชาติอย่างมหาศาล อาทิ ผืนดิน ภูเขา ป่าไม้ ฯลฯ ซึ่งเป็นการรุกล้ำพื้นที่ป่าธรรมชาติ และส่งผลกระทบถึงเหล่าสรรพสัตว์ฯ รวมถึงระบบนิเวศต่างๆที่เปลี่ยนแปลงไปทั้งปริมาณและคุณภาพที่ลดลงไปกว่าที่ผ่านมามากจนเกินความสมดุล หนึ่งในผลพวงเหล่านี้มีส่วนทำให้ผู้คน เริ่มสนใจใคร่รู้“ทรัพยากรธรรมชาติแวดล้อม”ที่เคยเป็นบ้านหลังแรกของผู้คนมาตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์

การเรียนรู้จักธรรมชาติแวดล้อม ด้วยการเข้าไปสัมผัส เพื่อซึมซับรับรู้สิ่งที่มีอยู่ตามธรรมชาติ เช่น ผืนน้ำ ทะเล ป่าเขา ฯลฯ อย่าง “เคารพสถานที่” และนำ“ประสบการณ์(ความประทับใจ)”จากห้องเรียนขนาดใหญ่ทางธรรมชาติเพื่อมาบอกเล่า “ส่งต่อ” สิ่งที่มีความเรียบง่าย งดงาม ฯลฯ ผ่านการบันทึกด้วย“ศิลปะวิถี”หนึ่งใด จึงเป็นอีกหนึ่งสิ่งสำคัญในการช่วยสื่อสารให้ผู้คน“เข้าใจ”ถึงเรื่องราว ความงามของธรรมชาติแวดล้อมด้วย“ภาพวาด”ที่ได้บันทึกเป็นความทรงจำ

การ“รักษ์”ธรรมชาติแวดล้อม ด้วยการบันทึกประสบการณ์การเดินทางจากการ “วาดภาพ” จึงเสมือนการเล่าเรื่อง เหตุการณ์ ความประทับใจของผู้บันทึกที่มีโอกาสเข้าไปสัมผัสกับขุนเขาธรรมชาติที่มีทั้งความงดงาม ยิ่งใหญ่และอุดมสมบูรณ์ ด้วยที่หวังว่าธรรมชาติแวดล้อมที่ประกอบด้วยทะเล ป่าเขา ท้องฟ้า สายน้ำ รวมถึงสรรพสัตว์ และ“ผู้คน” จะยังคงส่งมอบความรักและความปรารถนาดีต่อกัน เพื่อให้ทุกสรรพสิ่งได้คงอยู่ร่วมกันอย่าง“สมดุล สืบไป”

ภาพโดย ฅน บางกอก

กระดาษ 100 ปอนด์(ไทย) ขนาด A3

สีน้ำ Winsor และสีโปสเตอร์ขาว

เทคนิค “เปียกบนเปียก” “เปียกบนแห้ง” และเก็บงานด้วยเทคนิค“แห้งบนแห้ง”

อธิบายภาพ:

ภาพบันทึกความทรงจำเมื่อครั้งผู้วาดเป็นนักเรียนสถาปัตย์(สมัยปวช.) มีโอกาสได้เดินทางไปศึกษาเรียนรู้ธรรมชาติแวดล้อมภายในเขต “ป่าปิด” ณ อุทยานแห่งชาติภูกระดึง

การเดินทางเต็มไปด้วยความตื่นตาตื่นใจ ท่ามกลางตัว“ทาก”ที่ไม่สามารถนับจำนวนรุมกันเกาะเต็มแข้งขาถึงลำตัว(จนท.บอกให้ภูมิใจเล็กๆว่า ทากยิ่งเยอะแสดงว่าป่ายิ่งสมบูรณ์ 🤩😎🤩)

บรรยากาศเต็มไปด้วยความเย็น ชุ่มฉ่ำ มีฝนตกปอยๆ แลเห็นท้องฟ้าขาวโพลนท่ามกลางความร่มคลึ้มสลับกับแสงแดดทอลงมาในบางช่วงเวลา

ประสบการณ์จากการเดินทางที่ได้เรียนรู้ สัมผัสธรรมชาติแวดล้อมในสถานที่จริง ทำให้ได้รับความประทับใจ มาสู่ภาพความทรงจำในมุมมอง(Shot)ต่างๆ ทำให้เกิดแรงบันดาลใจในการบันทึกภาพความทรงจำผ่านภาพวาดหลังจากที่ได้เดินทางกลับออกมา

(ภาพวาดนี้ ได้รับเค้าโครงมาจากภาพประกอบในนิตยสารฉบับหนึ่งที่มีมุมมอง บรรยากาศโดยรวมคล้ายคลึงกับประสบการณ์ที่เดินป่าครั้งนั้น และเป็นอีกหนึ่งแรงบันดาลใจที่ชวนให้ระลึกถึงประสบการณ์เมื่อครั้งเดินป่า)